รังไข่ เป็นอวัยวะสำคัญของระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง มีหน้าที่ผลิตไข่ และฮอร์โมนของเพศหญิง
มะเร็งรังไข่ เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี สามารถพบได้ทั้งในผู้หญิงที่อยู่ในวัยเด็ก วัยเจริญพันธุ์ และในวัยชรา และส่วนใหญ่พบในวัย 40-60 ปี
อ.พญ.ปัทมา เชาว์โพธิ์ทอง ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า “ปัจจุบันนี้ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ที่แน่ชัด อาจมีความผิดปกติของยีนบางชนิดในร่างกาย และถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ซึ่งคนที่มียีนผิดปกตินี้มีโอกาสสูงกว่าคนทั่วไปในการเกิดโรค”
ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งรังไข่
- ผู้ที่สมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทางเดินอาหาร
- อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
- มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี
- ยังไม่เคยตั้งครรภ์ หรือคลอดบุตร หรืออยู่ในภาวะมีบุตรยาก
- คลอดบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี
- หมดประจำเดือนช้ากว่า 55 ปี
- มีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่
อาการของโรคมะเร็งรังไข่
อ.พญ.ปัทมา เชาว์โพธิ์ทอง ระบุว่า “ผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งรังไข่ จะมีอาการคล้ายคลึงกับอาการที่เกิดจากความผิดปกติในระบบอื่นๆ เช่น ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ จึงทำให้วินิจฉัยโรคได้ล่าช้า และมักตรวจพบเมื่ออาการโรคลุกลามออกไปมาก ทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นหากท่านมีอาการเหล่านี้ติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ เช่น ท้องอืดแน่น รู้สึกอิ่มเร็วหลังรับประทานอาหาร ปวดท้องในอุ้งเชิงกราน มีปัสสาวะบ่อย หรือกลั้นลำบาก การขับถ่ายผิดปกติไปจากเดิม มีเลือดหรือตกขาวผิดปกติจากช่องคลอด ควรรีบไปพบแพทย์”
การตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่
คลินิกเวอริต้า ไลฟ์ ระบุว่า “สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริการายงานว่า ในแต่ละปีมีผู้หญิงกว่า 22,000 คนในสหรัฐอเมริกาได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งรังไข่ แต่มีผู้หญิงเพียงร้อยละ 46 เท่านั้นที่มีชีวิตรอดหลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยมาแล้ว 5 ปี อย่างไรก็ตาม แพทย์รายงานว่าหากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก อัตราการรอดชีวิตในช่วงเวลา 5 ปีนี้จะสูงถึงร้อยละ 94”
หลายคนอาจคิดว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ อาจจะต้องเริ่มจากการตรวจภายในด้วยการขึ้นขาหยั่ง แต่จริงๆ แล้วเราสามารถตรวจคัดกรองเบื้องต้นได้ด้วยการตรวจเลือด (สำหรับมะเร็งรังไข่บางชนิดที่สร้างโปรตีนขึ้นมา หรือที่เรียกว่า สารบ่งชี้มะเร็ง) จากนั้นจะเป็นการตรวจเพิ่มเติมด้วยการอัลตราซาวนด์ หรือเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ หรืออาจจะตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า บริเวณอุ้งเชิงกราน และช่องท้อง ซึ่งวิธีการตรวจแต่ละวิธีนั้นจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป
ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวตคัดกรองมะเร็งรังไข่ คือ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่ระบุไว้ด้านบน หรือผู้หญิงทั่วไปที่มี่ความกังวลในเรื่องของโรคมะเร็ง
เจอ “ก้อน” ที่รังไข่ แปลว่าเป็นมะเร็งรังไข่?
จริงอยู่ที่มะเร็งมักมาในรูปแบบของก้อนเนื้องอก แต่ก้อนที่พบบริเวณรังไข่ไม่ได้แปลว่าเป็นก้อนมะเร็งเสมอไป เนื่องจากส่วนใหญ่ก้อนเนื้อที่พบที่รังไข่อาจเป็นเพียงเนื้องอกปกติ ไม่ใช่เนื้อร้าย และเนื้องอกบางชนิดสามารถยุบได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษา แต่ทั้งนี้ก็ต้องปรึกษาวิธีการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง
การป้องกันโรคมะเร็งรังไข่
เนื่องจากสาเหตุหลายอย่างของมะเร็งรังไข่ เป็นสาเหตุที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือการหมั่นสังเกตอาการของตัวเอง หากพบอาการผิดปกติคล้ายอาการของโรคมะเร็งรังไข่ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที นอกจากนี้การเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเสมอ ก็ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงอยู่ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน
ที่อยากแนะนำเพิ่มเติมคือ ตรวจสุขภาพประจำปีโดยเฉพาะทางด้านนรีเวช ก็ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งรังไข่ในระยะรุนแรงได้ จำไว้ว่ามะเร็ง ยิ่งเจอเร็ว ยิ่งมีโอกาสหายได้มาก
หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถเข้ารับการปรึกษาได้ที่ ศูนย์นรีเวช โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เลขที่ 2 ถนนวังหลัง แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ โทรศัพท์: 1474 (อัตโนมัติ) หรือที่อีเมล : info@siphhospital.com