มะเร็งตับ ( Hepatocellular carcinoma ) เป็นเนื้องอกชนิดหนึ่งที่พบมากในประเทศไทย ส่วนใหญ่พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ในระยะเริ่มแรกจะไม่พบอาการและอาการแสดงของโรคให้เห็นแต่เมื่อผู้ป่วยมีอาการของโรค เช่น ปวดท้อง น้ำหนักลด คลำก้อนได้ที่ท้อง ท้องมาน หรือดีซ่าน ( Jaundice ) ก้อนเนื้องอกก็มักจะโตมากแล้ว สาเหตุหลักคือการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำในระยะเวลานาน เป็นโรคตับแข็ง ( Cirrhosis ) หรือพบในผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบชนิดที่เกิดจากเชื้อไวรัส ( Hepatitis B )
ทั้งนี้แนวทางการรักษามีได้หลายวิธี แต่อาจสรุปได้ว่า วิธีการรักษามะเร็งตับมีได้ 3 วิธี ได้แก่
- การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกซึ่งจะทำในรายที่พบระยะเริ่มแรก
- การให้เคมีบำบัดทางหลอดเลือดแดงในตับ
- การทำลายก้อนเนื้องอกโดยตรงโดยการฉีดสารบางชนิดผ่านเข็มเล็กๆ ที่สอดผ่านผิวหนังเข้าสู่เนื้องอก หรือใช้คลื่นวิทยุความถี่สูงปล่อยพลังงานความร้อนผ่านปลายเข็มเข้าไปทำลายเนื้องอกโดยตรง
ซึ่งการให้เคมีบำบัดทางหลอดเลือดแดง หรือ TACE ( Transarterial ChemoEmbolization ) ในตับเป็นการรักษาโรคมะเร็งตับวิธีหนึ่งที่นิยมใช้ในปัจจุบัน โดยการฉีดเคมีผ่านทางหลอดเลือดแดงสู่ก้อนมะเร็งที่ตับโดยตรง ส่วนใหญ่จะใช้วิธีนี้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งตับที่ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ อาทิ ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้องอกโตและอยู่ใกล้กับหลอดเลือดขนาดใหญ่ของตับ ซึ่งการผ่าตัดมีอัตราเสี่ยงสูง
อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยวิธีนี้ จะช่วยลดขนาดและความรุนแรงของโรค ลดความเจ็บปวด ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดร่วมด้วย เช่น การตกเลือด จะช่วยทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวได้ ในบางรายเมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้จนขนาดของก้อนเนื้องอกเล็กลง จะสามารถนำไปผ่าตัดเอาเนื้องอกออกได้โดยปลอดภัย การรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และมาตรวจตามแพทย์นัดสม่ำเสมอ
สำหรับข้อบ่งชี้ในการให้เคมีบำบัดทางหลอดเลือดแดง มีเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อรับทำ ดังต่อไปนี้
- มีก้อนขนาดใหญ่ ลุกลาม หรือมีหลายก้อน
- ไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจาก เหลือพื้นที่ตับน้อยหรือมีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดสูง
- ต้องการลดขนาดก้อนเพื่อไปทำการผ่าตัดตับ หรือการเปลี่ยนตับ
- เพื่อการรักษาแบบประคับประคอง และการรักษาตามอาการ โดยจะพิจารณาใน 2 ประเด็น ได้แก่
– ช่วยลดอาการปวดเนื่องจากก้อนขนาดใหญ่
– อุดหลอดเลือดแดงในกรณีมีการแตกของเส้นเลือดในตับ