มะเร็งตับ (liver cancer) เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง และเป็นมะเร็งที่มีการดำเนินโรคเร็วมาก มักจะเสียชีวิตใน 3 -6 เดือน คนที่มีไวรัสตับอักเสบมาก่อน เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี ไวรัสตับอักเสบชนิดซี เป็นมาระยะหนึ่งจะเป็นตับแข็ง และพัฒนาเป็นมะเร็งได้ คนที่ดื่มสุรา การกินอาหารที่มีอัลฟาท๊อกซินบ่อยๆ วิธีการที่จะติด อาจจะเกิดจากการคลอด การได้รับเลือด การร่วมเพศ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
ตับ เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ในการจัดการกับสารอาหารที่ดูดซึมเข้าจากลำไส้ สร้างสารต่างๆ เช่น สารประกอบที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน การแข็งตัวของเลือด และทำลายสารพิษที่รับประทานเข้าไป
ประเภทของมะเร็งตับ
ชนิดที่เกิดกับตับโดยตรง (มะเร็งปฐมภูมิ) ในประเทศไทยพบมากมี 2 ชนิดคือ
มะเร็งชนิดเซลล์ตับ เป็นมะเร็งที่พบได้ทั่วทุกภาค
มะเร็งชนิดเซลล์ท่อน้ำดี เป็นมะเร็งที่พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ชนิดที่ลุกลามมาจากมะเร็งของอวัยวะอื่น (มะเร็งทุติยภูมิ) เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนักที่กระจายไปยังตับ
โรคมะเร็งตับเกิดได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
สาเหตุที่แน่อนของโรคมะเร็งตับ ยังไม่ทราบชัดเจน แต่พบปัจจัยเสี่ยง คือ
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งตับชนิด เอชซีซี ได้แก่
ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี
ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี
เป็นโรคตับแข็ง
กินเชื้อราชนิดอะฟลาทอกซิน (aflatoxin) ที่ปนเปื้อนในอาหารเป็นประจำ เช่น จาก ธัญพืชที่เปียกชื้น
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งตับชนิด ซีซีเอ ได้แก่
ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ จากกินปลาน้ำจืดดิบ หรือ ดิบๆสุกๆ (ปลาร้า ปลาเจ่า)
ท่อน้ำดีในตับอักเสบเรื้อรัง อาจจากพันธุกรรมผิดปกติ โดยมักพบร่วมกับโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง
โรคมะเร็งตับมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคมะเร็งตับ ที่พบบ่อย ได้แก่ ไม่มีอาการเมื่อเริ่มเป็นโรค แต่เมื่อโรคลุกลาม อาการที่พบได้บ่อย คือ แน่นอึดอัดท้อง ปวดท้องด้านขวาตอนบน(ตำแหน่งของตับ) อาจคลำตับได้ (ปกติคลำไม่ได้) เบื่ออาหาร กินไม่ได้ (จากน้ำในท้องกด/เบียดทับกระเพาะอาหาร) ผอมลง มีน้ำในท้อง หายใจเหนื่อยหอบจากน้ำในท้องดัน/กด/เบียดทับปอด และมีตัวและตาเหลือง และคันตามตัวมาก(จากการระคายต่อผิวหนังของสารสีเหลือง/น้ำดี ในเลือดที่เป็นสา เหตุให้ตัว/ตาเหลือง) ซึ่งมักเกิดจากโรคมะเร็งตับชนิดซีซีเอ
โรคมะเร็งตับมีกี่ระยะ?
ปัจจุบันมีการแบ่งระยะโรคมะเร็งตับได้หลากหลายระบบขึ้นกับแต่ละโรงพยาบาล แต่ในภาพรวม แบ่งออกเป็น 4 ระยะ เช่นเดียวกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ได้แก่
ระยะที่ 1 : ก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดเล็ก และมีเพียงก้อนเนื้อเดียว
ระยะที่ 2 : มีการลุกลามของก้อนเนื้อเข้าหลอดเลือดในตับ และ/หรือ มีก้อนเนื้อหลายก้อน แต่ยังเป็นก้อนเล็กๆ
ระยะที่ 3 : ก้อนเนื้อมะเร็งโตมาก และ/หรือ ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียงตับ และ/หรือ เข้าหลอดเลือดดำใหญ่ในท้อง และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ตับ
ระยะที่ 4 : โรคมะเร็งแพร่กระจายตามกระแสโลหิต(เลือด) มักเข้าสู่ตับกลีบอื่นๆ และปอด แต่อาจเข้าสู่อวัยวะอื่นๆได้ เช่น สมอง และ/หรือ กระดูก หรือ แพร่กระจายยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไปจากตับ เช่น ในช่องท้อง หรือ บริเวณไหปลาร้า
โรคมะเร็งตับรักษาหายไหม? เป็นโรครุนแรงไหม?
โรคมะเร็งตับเป็นโรครุนแรงมาก และมักพบโรคในระยะรุนแรงเนื่องจากเมื่อเริ่มเกิดโรค มักไม่มีอาการ จึงเป็นสาเหตุให้พบแพทย์ล่าช้า
ป้องกันโรคมะเร็งตับได้อย่างไร?
การป้องกันโรคมะเร็งตับ คือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ ดังกล่าวแล้ว และที่สำคัญ คือ รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ และ ไม่ดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับแข็ง
นอกจากนั้น คนในถิ่นระบาดของโรคพยาธิใบไม้ตับ ควรพบแพทย์/พยาบาลขอรับการตรวจอุจจาระเพื่อตรวจหาไข่ของพยาธิใบไม้ตับ โดยความถี่ในการตรวจขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล เพื่อการรักษาโรคพยาธิใบไม้ตับก่อนเกิดอักเสบเรื้อรังของท่อน้ำดีซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อท่อน้ำดีไปเป็นมะเร็งได้
แหล่งที่มา : 108health.com และ http://haamor.com/