“เนื้องอกในมดลูก” นับว่าเป็นโรคที่ผู้หญิงหลายคนหวาดกลัว เพราะอาจเคยพบเห็น หรือได้ยินข่าวคราวจากเพื่อนรอบข้างว่าเป็นโรคนี้จนต้องเข้ารับการผ่าตัด และไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างชัดเจนว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
แต่หากเราทราบอาการเริ่มต้นของเนื้องอกในมดลูก เราจะสามารถสังเกตอาการของตัวเองได้เร็ว และรีบพบแพทย์ได้ทัน ก่อนที่อาหารจะลุกลาม และหนักกว่าเดิม
เนื้องอกในมดลูก เป็นอาการที่พบได้บ่อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือน ไปจนถึงช่วงอายุ 25-30 ปี โดยผู้หญิง 10 คน อาจจะอัลตร้าซาวนด์เจอเนื้องอกได้ 3-5 คน โดยขนาดเนื้องอกที่ตรวจพบมีขนาดตั้งแต่เล็ก ๆ ไม่กี่มิลลิเมตร ไปจนถึงขนาดใหญ่หลายเซนติเมตร หรือขนาดใหญ่กว่ากำปั้น
สาเหตุของเนื้องอกในมดลูก
สาเหตุของอาการเนื้องอกในมดลูกไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัด เพราะไม่ได้เกี่ยวกับการติดเชื้อโรคใด ๆ แต่อาจมีปัจจัยเสี่ยงมาจากกรรมพันธุ์ และการทำงานที่ผิดปกติของฮอร์โมนเพศหญิง เป็นต้น
สัญญาณอันตราย “เนื้องอกในมดลูก”
- คลำเจอก้อนที่บริเวณท้องน้อย
- มีประจำเดือนออกเยอะผิดปกติ เพราะเนื้องอกไปเบียดมดลูก
- ตรวจเจอภาวะมีบุตรยาก เพราะก้อนเนื้อเข้าไปขวางการฝังตัวของทารกในโพรงมดลูก
- ปวดปัสสาวะบ่อย หากพบก้อนเนื้องอกที่ยื่นออกมาด้านนอกมดลูก แล้วเข้าไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ
การรักษาอาการเนื้องอกในมดลูก
- หากพบก้อนเนื้อขนาดเล็กราว 0.5-2 เซนติเมตร แพทย์อาจนัดพบเพื่อตรวจตามอาการไปเรื่อย ๆ ก่อน
- แพทย์อาจพิจารณาการใช้ยา อาจเป็นยาคุมกำเนิดที่ช่วยลดปริมาณประจำเดือน หรือยาฉีดบางตัวที่เป็นฮอร์โมนกดการทำงานของฮอร์โมนเพศ ช่วยทำให้ไม่มีประจำเดือน และก้อนเนื้องอกยุบลงได้
- การใช้ยาอีกประเภทที่เพิ่งออกมาใหม่คือ เป็นยาที่ผ่าน อย. และองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ USFDA ให้การรับรองแล้วว่าสามารถกินเพื่อรักษาอาการของเนื้องอกในมดลูกได้
- หากกินยาแล้วไม่ได้ผล หรือก้อนเนื้องอกมีขนาดค่อนข้างใหญ่ แพทย์อาจทำการผ่าตัด โดยอาจผ่าตัดแบบเก็บมดลูกไว้ หรือเอามดลูกออกไปเลย และมีวิธีผ่าตัดทั้งแบบผ่าหน้าท้อง ส่องกล้อง หรือผ่าตัดทางช่องคลอด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่ให้การรักษา
การป้องกันอาการเนื้องอกในมดลูก
แม้ว่าจะไม่มีวิธีป้องกันเนื้องอกในมดลูกที่แน่นอน 100% แต่เราสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี โดยในระหว่างที่ตรวจ แพทย์จะทำการคลำท้องหาก้อนเนื้องอกในมดลูกด้วย