หากเป็นมะเร็งที่ไหน ก็ให้ตัดเนื้อร้ายในส่วนนั้นทิ้งไป แล้วใช่เคมีบำบัดเพื่อควบคุมอาการไม่ให้แย่ไปกว่าเดิม เป็นวิธีรักษาโรคมะเร็งขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นมะเร็งส่วนไหนของร่างกายก็ตาม แต่สำหรับมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะผู้มะเร็งกระเพาะอาหารระยะ 2 และ 3 จำเป็นจะต้องเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะอาหารออกไปจากร่างกาย จะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรเมื่อไม่มีกระเพาะอาหารไว้ย่อยอาหารแล้ว?
ไม่มีกระเพาะอาหาร ยังมีชีวิตอยู่ได้หรือไม่?
ร่างกายเราไม่ได้มีกระเพาะอาหารเป็นอวัยวะที่เอาไว้ย่อยอาหารเพียงส่วนเดียว อย่าลืมว่าส่วนแรกของการทำงานของระบบย่อยอาหาร อยู่ที่ “ฟัน” ในปากของเราเองนี่แหละ สิ่งที่เราต้องทำคือ เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน เพื่อให้ระบบย่อยอาหารอื่นๆ ทำงานต่อได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
นอกจากนี้เรายังมีหลอดอาหารที่ช่วยลำเลียงอาหารไปสู่ลำไส้เล็กโดยตรง (ไม่ผ่านกระเพาะอาหารแล้ว) และยังมีเอนไซม์ในลำไสเล็ก น้ำย่อยจากตับอ่อน ที่จะมาช่วยย่อยอาหารให้เป็นโมเลกุลที่เล็กลง จนสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อีกด้วย
ดังนั้นหากเราไม่มีกระเพาะอาหารแล้ว เราก็ยังสามารถทานอาหาร และย่อยอาหาร จนสารอาหารดูดซึมไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้เหมือนเดิม เพียงแต่จะต้องปรับเปลี่ยนอาหาร และพฤติกรรมในการทานอาหาร เพื่อให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารเข้าไปหล่อเลี้ยงในร่างกายได้จริงๆ เท่านั้น
ไม่มีกระเพาะอาหาร ต้องทานอาหารอย่างไร?
เมื่อเราขาดกระเพาะอาหารที่ช่วยย่อยอาหารหลักๆ ให้เราแล้ว เราก็ต้องเลือกทานอาหารที่ย่อยง่าย ขนาดของอาหารเล็ก บดเคี้ยวง่าย เพื่อให้ลำไส้เล็กช่วยดูดซึมสารอาหารไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้ ดังนั้นจึงควรเลือกทานอาหารประเภทข้าวต้ม โจ๊กอ่อนๆ และอาหารย่อยง่ายอื่นๆ หลังจากปรับพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ร่างกายเกิดการปรับตัวและรับประทานได้มากขึ้น เพราะลำไส้เล็กจะเกิดการขยายตัว และสามารถรับอาหารได้มากขึ้น
วิธีทานอาหาร เมื่อไม่มีกระเพาะอาหาร
- เริ่มแรก เลือกทานอาหารที่ย่อยง่าย มีขนาดเล็ก และรสอ่อนๆ อย่าง ข้าวต้ม โจ๊ก
- ไม่กินเยอะเกินไปในแต่ละมื้อ แต่แบ่งเป็นมื้อย่อยๆ หลายๆ มื้อ โดยแบ่งเป็น 5-6 มื้อต่อวัน
- เคี้ยวให้นานขึ้น ละเอียดขึ้น ก่อนกลืน
- หากทานอาหารแล้ว รู้สึกจุกเสียด แน่นท้อง ควรหยุดทานทันที
- ห้ามดื่มน้ำขณะทานอาหาร
- งดดื่มน้ำ 30 นาทีก่อน และหลังทานอาหาร เพราะน้ำจะทำให้อาหารผ่านลงไปสู่ลำไส้เร็วเกินไป
- เพื่อเป็นการทำให้ลำไส้คุ้นชินกับการทานอาหารโดยไม่มีกระเพาะอาหารให้ได้มากที่สุด จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารเหลว แต่ควรเลือกอาหารแข็ง นำไปต้ม นึ่ง เช่น เนื้อสัตว์เคี้ยวง่ายอย่างเนื้อไก่ ปลา แล้วเคี้ยวให้ละเอียดด้วยฟันของตัวเอง
- หลีกเลี่ยงการทานคาร์โบไฮเดรต (แป้งและน้ำตาล) มากเกินไป เพราะอาจทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดเร็วเกินไป ควรเลือกทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน อย่าง ขนมปังโฮลวีต ลูกเดือย ถั่วต่างๆ (ต้มนิ่มๆ)
- กินผักผลไม้ที่มีกากใยอาหาร เช่น ฝรั่ง ชมพู่ แอปเปิล อย่าลืมเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน
- อาหารประเภทไขมันอาจจะย่อยยากขึ้น อาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้ หรือท้องอืด ดังนั้นในระยะแรกให้ลดการทานอาหารที่มีไขมันไปก่อน จากนั้นค่อยๆ เพิ่มเข้ามาทีละนิดๆ โดยอาจเน้นไขมันที่มาจากพืชแทน เช่น น้ำมันมะกอก พืชตระกูลถั่ว เป็นต้น
แนวทางการปฏิบัติหลังการรักษาอื่น ๆ นอกจากการปรับพฤติกรรมการทานอาหาร คือพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายตามสะดวก และติดตามการรักษาตามแพทย์นัดอย่างต่อเนื่อง