ลำพังแค่โรคมะเร็งตำแหน่งเดียว ก็ทำให้หลายๆ คนจิตตก กังวลกันไปต่างๆ นาๆ กันได้แล้ว ข่าวร้ายคือ ยังมีโรคมะเร็งอีก 5 ชนิด ที่หากใครได้เป็นแล้ว ยังเสี่ยงที่จะเป็น มะเร็งกระดูก เพิ่มอีกต่างหาก
มะเร็งกระดูก สามารถพบได้ในบุคคลทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กอายุ 10-20 ปี ไปจนถึงผู้ใหญ่อายุมากๆ
มะเร็งกระดูก แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
- มะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ
เป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของเซลล์เนื้อเยื่อกระดูกเอง มักเกิดขึ้นบริเวณใกล้ข้อต่อต่างๆ ของร่างกาย เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อไหล่ เป็นต้น
- มะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ
เป็นโรคมะเร็งกระดูกที่เกิดจากการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งจากส่วนอื่นของร่างกาย โดย 30-40% ของมะเร็งจะกระจายมาที่ส่วนของแขนขา และ 50-60% จะกระจายมาที่ส่วนกลางของร่างกาย ได้แก่ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกซี่โครง หรือกะโหลกศีรษะ เป็นต้น
โรคมะเร็งที่แพร่กระจายจนทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งกระดูกด้วย
จริงๆ แล้วมะเร็งทุกชนิด ทุกส่วน สามารถแพร่กระจายจนทำให้เป็นโรคมะเร็งกระดูกได้ แต่มักจะมากระจายเอาตอนช่วงท้ายๆ ของโรค กล่าวคือ ใครก็ตามที่เป็นโรคมะเร็งและอยู่ในขั้นสุดท้าย (หรือใกล้เคียง) อาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งกระดูกได้ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม มีโรคมะเร็งอยู่ 5 ชนิด ที่อาจพบว่ามีเชื้อมะเร็งแพร่กระจายไปที่กระดูกตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ได้แก่
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งต่อมไทรอยด์
- มะเร็งปอด
- มะเร็งไต
- มะเร็งต่อมลูกหมาก
IStock
สาเหตุของโรคมะเร็งกระดูก
ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกส่วนใหญ่จะเป็นในชนิดที่ 2 คือเป็นการแพร่กระจายของเชื้อมะเร็ง จากการเป็นโรคมะเร็งในส่วนอื่น พบผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งกระดูกชนิดแรก ที่เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อของกระดูกผิดปกติเองได้น้อยมาก ประมาณ 0.8 คนต่อประชากรแสนราย
แต่ถึงกระนั้น ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ นอกจากโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งกระดูกได้เหมือนกัน คือ ประวัติของครอบครัวของผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคมะเร็งมาก่อน การได้รับสารเคมี ยาฆ่าแมลง สารรังสีจากการทำงานในโรงงาน หรือทำงานกับอุปกรณ์รังสีทางการแพทย์ และการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาของกลุ่มโรคในประเทศแถบยุโรป ที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งกระดูกสูงขึ้น ซึ่งกลุ่มโรคนี้เคยพบในประเทศไทย และพบมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย
อาการของโรคมะเร็งกระดูก
– ปวดข้อ ปวดมากผิดปกติ ไม่ใช่อาการแค่ปวดเมื่อยธรรมดาๆ ปวดแบบทรมานจนทนไม่ไหว อาจจะเป็นข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อศอก ข้อเท้า ข้อไหล่ เป็นต้น
– ส่วนใหญ่อาการปวดมักเกิดขึ้นในตอนกลางคืน มากกว่าตอนกลางวัน
– พบอวัยวะบริเวณใกล้ข้อต่อผิดรูปผิดร่าง เช่น มีก้อนนูนๆ เกิดขึ้น หรือบิดเบี้ยวผิดแปลกไปจากเดิม แขนขาผิดรูป (มะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ)
– กระดูกหักง่ายอย่างไม่มีสาเหตุที่สมควร เช่น เดินๆ อยู่ขาก็หัก ยกของหนักๆ แล้วแขนหัก
– มีอาการชาบริเวณอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ขา แขนอ่อนแรง จนอาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตในภายหลัง (มะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ)
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจตรวจพบเจอเซลล์มะเร็งกระดูกตั้งแต่ยังไม่มีอาการ โดยผ่านการตรวจสุขภาพ หรือเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน เล่นกีฬา แล้วตรวจพบขณะทำการรักษากระดูก
อันตรายจากโรคมะเร็งกระดูก
หากเป็นโรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ คือเกิดจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อกระดูกเอง มักมีอาการรุนแรง และอาจเสียชีวิตได้ภายในระยะเวลาประมาณ 2 ปี แต่สำหรับมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ คือเชื้อมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่กระดูกจากการเป็นโรคมะเร็งชนิดอื่น หากทำการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก (เพราะมักจะตรวจพบหลังจากเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นแล้ว) ผู้ป่วยอาจมีชีวิตอยู่ได้อีกนาน แต่หากอาการหนักมาก หรือเป็นมะเร็งปอดที่หนักมากแล้วเชื้อแพร่กระจายไปที่กระดูก ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายในเวลา 6 เดือน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อมะเร็งด้วย
ถึงแม้ว่าจะฟังดูน่ากลัว แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีในการรักษาโรคมะเร็งก็ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมากนะคะ หากเราตรวจร่างกายประจำปีอยู่เรื่อยๆ พบเซลล์มะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เราก็จะเข้ารับการรักษาได้เร็วขึ้น แพทย์มีทางเลือกในการรักษามากขึ้น ร่างกายของเรายังแข็งแรงพร้อมรับการรักษาได้ดียิ่งขึ้น และในที่สุดเราก็มีโอกาสที่จะหายจากโรคมะเร็งได้มากขึ้นนั่นเองค่ะ