ปัจจุบันโรคภูมิแพ้เป็นโรคที่พบได้บ่อย สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่วัยเด็กเล็ก ได้แก่ โรคแพ้นมวัว หรือโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นต้น และในวัยเด็กโตหรือผู้ใหญ่ ได้แก่ โรคแพ้อากาศ โรคภูมิแพ้ของเยื่อบุตาขาว โรคหืด หรือโรคแพ้อาหารทะเล เป็นต้นโรคแพ้อากาศเป็นโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยที่สุด อุบัติการณ์ของโรคนี้ในเด็กไทยพบได้ประมาณร้อยละ 50 ในขณะที่โรคหืดและโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังพบได้โรคละประมาณร้อยละ 15
โรคภูมิแพ้คืออะไร
โรคภูมิแพ้ คือ โรคที่ร่างกายเกิดปฏิกิริยาที่ผิดปกติต่อสารก่อภูมิแพ้ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังที่เยื่อบุของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ผิวหนัง เยื่อบุโพรงจมูก เยื่อบุตาขาว เยื่อบุทางเดินหายใจ หรือเยื่อบุทางเดินอาหาร เป็นต้น สารก่อภูมิแพ้มี 2 ประเภท ได้แก่
1.สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนสุนัข ขนแมว เกสรหญ้า หรือเชื้อรา เป็นต้น
2.สารก่อภูมิแพ้ประเภทอาหาร เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง ไข่ อาหารทะเล หรือแป้งสาลี เป็นต้น
ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จะมีอาการตามอวัยวะที่เกิดการอักเสบจาการกระตุ้นโดยสารก่อภูมิแพ้ เช่น
– ผิวหนัง จะทำให้เกิด โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีอาการผื่นคันเรื้อรัง บริเวณใบหน้า ข้อพับแขนขา หรือลำตัว เป็นต้น
– เยื่อบุจมูก จะทำให้เกิด โรคเยื่อบุจมูกอักเสบภูมิแพ้หรือโรคแพ้อากาศ ผู้ป่วยจะมีอาการน้ำมูกเรื้อรัง ร่วมกับอาการจาม คันหรือคัดจมูก
– เยื่อบุตาขาว จะทำให้เกิด โรคเยื่อบุตาขาวอักเสบภูมิแพ้ ผู้ป่วยจะมีอาการคัน หรือเคืองตาเรื้อรัง แสบตา หรือน้ำตาไหลบ่อย ๆ
– เยื่อบุทางเดินหายใจ จะทำให้เกิด โรคหืด ผู้ป่วยจะมีอาการไอ หอบหายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก หรือหายใจได้ยินเสียงวี๊ด
– เยื่อบุทางเดินอาหาร จะทำให้เกิด โรคแพ้อาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการอุจจาระร่วงเรื้อรัง อาเจียน น้ำหนักตัวลด ร่วมกับอาการผื่นเรื้อรังและภาวะซีด
ทำไมถึงเป็นโรคภูมิแพ้
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคภูมิแพ้ แต่ปัจจัยต่อไปนี้อาจเกี่ยวข้อง กับการเกิดโรคภูมิแพ้ ได้แก่
1.ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มักมีประวัติบิดาหรือมารดาเป็นโรคภูมิแพ้ โดยที่ผู้ป่วยอาจไม่ได้เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดเดียวกับที่บิดาหรือมารดาเป็น หรือไม่ได้แพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดเดียวกับที่บิดาหรือมารดาแพ้ได้ พบว่าผู้ป่วยที่บิดาหรือมารดาเป็นโรคภูมิแพ้ มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ได้ร้อยละ 20-40 และมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ได้ร้อยละ 50-80 ในกรณีที่บิดาและมารดาเป็นโรคภูมิแพ้
2.ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษในอากาศ เช่น ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม ควันบุหรี่ เป็นต้น รวมถึงวิถีชีวิตของประชากรที่เปลี่ยนจากสังคมชนบทมาเป็นสังคมเมือง ทำให้มารดาไม่สามารถให้นมบุตรได้ในช่วงแรกคลอด หรือความเร่งด่วนในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้จำเป็นต้องรับประทานอาหารจานด่วนหรืออาหารสำเร็จรูป
ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยสารอาหารประเภทแป้งและไขมัน สิ่งเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ร้อยละ 15 ไม่ได้มีบิดาหรือมารดาเป็นโรคภูมิแพ้
ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคภูมิแพ้
ข้อสังเกตสำหรับผู้ป่วยโรคแพ้อากาศ คือ ผู้ป่วยมักมีอาการน้ำมูกใส ๆ จาม คันจมูกหรือคัดจมูกเรื้อรัง โดยในผู้ป่วยบางรายจะมีอาการคันเคืองตาร่วมด้วย อาการดังกล่าวมักเป็นมากในช่วงหัวค่ำ หรือหลังจากตื่นนอนตอนเช้าเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่อากาศค่อนข้างเย็น โดยที่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น อาการไข้ ไอ เจ็บคอ หรือเสมหะเขียว เป็นต้น
นอกจากอาศัยการสังเกตอาการและอาการแสดงที่พบบ่อยของโรคภูมิแพ้แล้ว แพทย์อาจสงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ในกรณีที่ตรวจพบโรคที่พบร่วมกับโรคภูมิแพ้ได้บ่อย เช่น โรคเยื่อบุตาขาวอักเสบภูมิแพ้ โรคโพรงไซนัสอักเสบ โรคหูชั้นกลางอักเสบ หรือภาวะนอนกรนในเด็กจากโรคต่อมอะดีนอยด์โต ซึ่งเป็นโรคที่ตรวจพบร่วมได้บ่อยในผู้ป่วยโรคแพ้อากาศ โรคแพ้อากาศ ซึ่งเป็นโรคที่ตรวจพบร่วมได้บ่อยในผู้ป่วยโรคหืด และโรคแพ้อาหารที่ตรวจพบร่วมได้บ่อยในผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นต้น
ทราบได้อย่างไรว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้อะไรบ้าง สามารถทราบว่าผู้ป่วยแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใดได้จาก
1. การทดสอบผิวหนัง
2. การตรวจเลือด การทดสอบผิวหนังจะให้ผลการตรวจที่แม่นยำกว่าการตรวจเลือด แต่ผู้ป่วยเด็กมักไม่ให้ความร่วมมือในการทดสอบ
การตรวจเลือดจะมีประโยชน์ในผู้ป่วยที่มีอาการของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังชนิดรุนแรง จนไม่สามารถหยุดรับประทานยาแก้แพ้ได้ ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วยจำเป็นต้องหยุดรับประทาน ยาแก้แพ้เป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนทำการทดสอบผิวหนัง หรือกรณีผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่ไม่มีผิวหนังปกติมากพอที่จะทำการทดสอบผิวหนัง
โรคภูมิแพ้รักษาได้อย่างไร
ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้สามารถที่จะดำเนินชีวิตได้ตามปกติไปพร้อมๆกับโรค เพียงแต่รู้จักปฏิบัติตนให้ถูกต้องเท่านั้น หลักสำคัญในการปฏิบัติตนมีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ คือ
1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ การปฏิบัติตนข้อนี้นับว่าสำคัญมาก เนื่องจากการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้จะทำให้ร่างกายของผู้ป่วยลดปริมาณการสร้างสารแพ้ ทำให้อาการของโรคภูมิแพ้ลดน้อยลง และผู้ป่วยสามารถลดปริมาณการใช้ยาให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อควบคุมอาการของโรค
2. การใช้ยาอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ รวมถึงผู้ป่วยสามารถล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ และบริหารยาพ่นผ่านทางจมูกหรือปากได้ถูกต้องตามขั้นตอน เนื่องจากการรักษาโรคภูมิแพ้ผู้ป่วยจำเป็นต้องล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ และบริหารยาพ่นผ่านทางจมูกและปากนอกเหนือจากการรับประทานยา ฉะนั้นแพทย์ผู้ทำการรักษารวมถึงผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลผู้ป่วยจำเป็นต้องคอยให้ความรู้ ความเข้าใจ และตรวจสอบความถูกต้องของขั้นตอนการบริหารยา เนื่องจากการบริหารยาไม่ถูกต้องจะทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับยาตามขนาดที่แพทย์ต้องการ
3. การดูแลตนเองให้มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทแป้งและไขมันจนมากเกินไปที่จะทำให้เกิดโรคอ้วน และทำให้การรักษาโรคภูมิแพ้ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรนอนดึก รวมถึงหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่อาจกระตุ้นให้อาการของโรคเป็นมากขึ้น เช่น ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรือควันจากการประกอบอาหาร เป็นต้น
การฉีดวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้ได้อย่างไร
การรักษาโรคภูมิแพ้โดยการฉีดวัคซีนนั้น ปัจจุบันสามารถทำการรักษาได้ในโรคภูมิแพ้ 2 โรค คือ โรคแพ้อากาศ และโรคหืด
หลักการฉีดวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้ คือ แพทย์ผู้ทำการรักษาจะทำการฉีดสารก่อภูมิแพ้ชนิดที่ผู้ป่วยแพ้ให้แก่ผู้ป่วย และจะเพิ่มปริมาณสารก่อภูมิแพ้ที่ฉีดทีละน้อย โดยหวังผลว่าร่างกายของผู้ป่วยจะลดการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ดังกล่าว ทำให้มีการสร้างสารแพ้ในร่างกายลดลง
และอาการต่าง ๆ ของโรคภูมิแพ้ลดน้อยลงตามลำดับภายหลังการรักษา ผู้ป่วยที่ตอบสนองดีต่อการฉีดวัคซีนแพทย์จะทำการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 3-5 ปี ส่วนผู้ป่วยบางรายที่ไม่ตอบสนองต่อการฉีดวัคซีนภายหลังการรักษาแล้ว 1 ปีแพทย์จะหยุดทำการรักษา
กรณีที่ผู้ป่วยมารับการฉีดวัคซีนไม่ตรงนัดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนในครั้งถัดไป รวมถึงทำให้ระยะเวลาการรักษาต้องล่าช้าออกไปจากกำหนดการเดิม เนื่องจากแพทย์มีความจำเป็นต้องเริ่มต้นทำการฉีดวัคซีนใหม่ในบางขั้นตอน
ข้อบ่งชี้สำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโดยการฉีดวัคซีน
1. ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาอย่างเต็มที่แล้ว ไม่สามารถที่จะควบคุมอาการของโรคได้ดี
2. ผู้ป่วยที่เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาในขนาดสูงเพื่อควบคุมอาการของโรคอย่างไรก็ตามผู้ป่วยไม่ควรงดการใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ ในขณะที่ทำการรักษา โดยการฉีดวัคซีนควบคู่กันไป
3. ผู้ป่วยที่ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่ตนเองแพ้ได้ในชีวิตประจำวัน
4. ผู้ป่วยที่ไม่ร่วมมือในการใช้ยา หรือกังวลผลข้างเคียงของการใช้ยาพ่นสเตียรอยด์
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน แบ่งได้เป็น 2 กรณี
1. ผลข้างเคียงเฉพาะที่ ผู้ป่วยจะมีอาการปวด, บวม, แดง และร้อน ในตำแหน่งที่ฉีดวัคซีนการให้ยาแก้ปวด, ยาแก้แพ้ และการประคบด้วยความเย็น จะสามารถช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ เหล่านี้ให้แก่ผู้ป่วยได้
2. ผลข้างเคียงชนิดรุนแรงผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการภายใน 20-30 นาที ภายหลังการฉีดวัคซีนอาการได้แก่ หน้ามืด, ใจสั่น และเวียนศีรษะ เนื่องความดันโลหิตลดลงอาการจุกแน่นหน้าอก, หายใจไม่สะดวก เนื่องจากมีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจอาการผื่นลมพิษขึ้นทั่ว ๆ ตัว ร่วมกับอาการบวมของเปลือกตาผู้ป่วยจะต้องรีบเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล จนกว่าอาการต่าง ๆ จะดีขึ้น
ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการวัคซีน หากปฏิตนให้อยู่ในหลักสำคัญดังกล่าวข้างต้น 3 ข้อ คือ
1.หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ รวมถึงสารระคายเคืองต่าง ๆ
2.ใช้ยาอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์
3.การดูแลตนเองให้มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงอยู่เสมอ
การปฏิบัติตนเพียงเท่านี้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ก็สามารถที่จะดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข และสามารถที่จะเรียน หรือปฏิบัติงานได้อย่างเต็มศักยภาพที่ตนเองมีอยู่