กรมอนามัย ชี้แจงกรณีแม่หลังคลอดที่เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อ หรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 สามารถให้นมลูกได้ แต่ต้องมีการป้องกันอย่างเคร่งครัด
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 นอกจากกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ที่ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษแล้ว ทารกแรกเกิด ถือเป็นอีกกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน เพราะนมแม่เป็นอาหารที่ดีมีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่ช่วยในการเจริญเติบโตของเด็ก และสร้างภูมิคุ้มกันโรค
ในขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสามารถติดผ่านทางรก หรือทางน้ำนมได้ กรณีแม่เป็นผู้เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อหรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ COVID-19 จึงสามารถให้นมลูกได้ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) มีคำแนะนำว่า หากแม่ที่ติดเชื้อมีอาการไม่มาก สามารถให้นมจากเต้าได้ก็ควรทำ แต่ต้องมีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้ออย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมืออย่างถูกวิธี ห้ามใช้มือสัมผัสบริเวณใบหน้า จมูกหรือปากรวมถึงการหอมแก้มลูกด้วย
กรณีที่แม่ติดเชื้อมีอาการรุนแรง เช่น ไอมาก แต่ยังสามารถบีบเก็บน้ำนมได้ ควรให้พ่อหรือผู้ช่วยเป็นผู้ป้อนนมแก่ลูกแทน โดยหากมีผู้ช่วยจะต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี มีทักษะ ความรู้และเข้าใจหลักการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้ออย่างเคร่งครัด การบีบน้ำนมอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้แม่ยังคงสภาพในการให้นมแก่ลูกได้เมื่อหายป่วยแล้ว ทารกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อ COVID-19 จัดเป็นผู้มีความเสี่ยงจะต้องมีการแยกตัวออกจากทารกอื่น และต้องสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน
“เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค COVID-19 อาจทำให้แม่บางรายได้รับผลกระทบต่างๆ จึงทำให้มีผู้สนใจที่จะบริจาคอาหารสำหรับทารก และอาหารสำหรับเด็กเล็ก ซึ่งการบริจาคนั้น ถ้าเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายอาหารสำหรับทารก หรืออาหารสำหรับเด็กเล็ก หรือตัวแทน บริจาคอาหารสำหรับทารกถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหาร สำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 แต่สำหรับบุคคลทั่วไป หน่วยงาน และองค์กร ที่ไม่ใช่ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายอาหารสำหรับทารก หรืออาหารสำหรับเด็กเล็ก หรือตัวแทน สามารถบริจาคได้โดยไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมาย (มาตรา 23)
ทั้งนี้ หน่วยงานหรือองค์กรที่ดำเนินการรับบริจาค หรือเป็นผู้บริจาคควรประสานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อทำการคัดกรองให้ตรงกับความต้องการของผู้รับบริจาค ซึ่งการบริจาคควรพิจารณาให้กับกลุ่มแม่ที่ใช้นมผงอยู่ก่อนแล้ว และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ไม่ควรบริจาคให้กับผู้ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่แล้ว เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระค่านมผงให้แก่แม่ในระยะยาว” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว