มะเร็งต่อมน้ำลาย อีกอวัยวะหนึ่งที่สามารถเป็นโรคมะเร็งได้ หากพบในระยะแรกตามสัญญาณอันตรายที่เกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะสามารถรักษาให้หายได้
ต่อมน้ำลายอยู่ส่วนใดของร่างกาย ทำหน้าที่อะไรบ้าง?
รศ.นพ. ณปฎล ตั้งจาตุรนต์รัศมี แพทย์เฉพาะทางสาขาโสต คอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า มนุษย์เราจะมีต่อมน้ำลายอยู่ 2 กลุ่ม ได้แก่
- ต่อมน้ำลายหลัก
ต่อมน้ำลายหลักประกอบด้วยต่อมน้ำลาย 3 คู่ อยู่บริเวณกกหู ใต้คาง และ ใต้ลิ้น รวมเป็นทั้งหมด 6 ต่อม
- ต่อมน้ำลายขนาดเล็ก
ต่อมน้ำลายขนาดเล็กจะอยู่ทั่วไปในช่องโพรงจมูก ในช่องว่างข้างคอหอย และในบริเวณริมฝีปาก รวมทั้งตำแหน่งเพดานอ่อน
เนื้องอกต่อมน้ำลาย อันตรายอย่างไร?
เนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณหน้ากกหู หรือแก้ม ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้องอกธรรมดา ไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็ง แต่หากเป็นเนื้องอกขนาดเล็กของต่อมน้ำลายบริเวณโพรงจมูก ริมฝีปาก เพดานอ่อน กลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งต่อมน้ำลาย
สัญญาณอันตราย “มะเร็งต่อมน้ำลาย”
ส่วนใหฯ่แล้วเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการที่ก้อนเนื้องอกไปกดเบียดเส้นประสาทในบริเวณใบหน้า เช่น
- หลับตาไม่ได้
- อ้าปาก ยิงฟัน แล้วยิ้ม มุมปากทั้งสองข้างยกขึ้นไม่เท่ากัน
- ก้อนบริเวณต่อมน้ำเหลืองโต
- พบก้อนเนื้อที่บริเวณหน้าหู ใต้คาง หรือใต้ลิ้น
- ก้อนเนื้องอกที่พบมีขนาดที่โตเร็วผิดปกติ
หากพบอาการดังกล่าวตามข้อใดข้อหนึ่ง ควรรีบพบแพทย์เพื่อเร่งวินิจฉัย และทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
วิธีตรวจมะเร็งต่อมน้ำลาย
แพทย์อาจทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย อาจทำการเจาะชิ้นเนื้อตรวจ หรือตรวจเพิ่มเติมทางรังสีวิทยา เช่น การตรวจอัลตร้าซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็ก
วิธีรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำลาย
โรคมะเร็งต่อมน้ำลาย รักษาได้ด้วยวิธีการผ่าตัด โดยอาจผ่าตัดเอาต่อมน้ำลายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งออก ร่วมกัยการเลาะเอาต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอออกด้วยหากมีข้อบ่งชี้ หลังผ่าตัดขึ้นอยู่กับผลเนื้อทางพยาธิวิทยาก่อน หากมีความจำเป็น แพทย์อาจทำการรักษาด้วยวิธีฉายแสงอีกครั้ง หรือรังสีรักษาบวกกับการให้ยาบำบัดร่วมด้วย
ข้อปฏิบัติของผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำลาย
เมื่อเข้ารับการรักษาแล้ว ควรทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง และเคร่งครัด และผู้ป่วยไม่มีข้อจำกัดด้านอาหาร เพียงแต่ควรเข้าพบแพทย์ตามเวลาที่นัดหมายทุกครั้ง
หากสงสัยว่าตัวเองอาจเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมน้ำลาย สามารถเข้ารับการตรวจร่างกายได้ที่แผนกโสต คอ นาสิก อาคารภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย