ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โรคหลอดเลือดในสมองตีบ โรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดหัวใจ
อันตรายจากบุหรี่ ก่อโรคสารพัด
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การสูบบุหรี่เป็นพิษต่อร่างกาย เพราะบุหรี่มีสารพิษ ประกอบไปด้วย
- นิโคติน เป็นสารคล้ายน้ำมัน ไม่มีสี ทำให้หลอดเลือดตีบตัน เกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และกระตุ้นระบบประสาท
- คาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้หัวใจและส่วนต่างๆ ของร่างกายได้รับออกซิเจนน้อย ส่งผลให้มีอาการเหนื่อยง่ายเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ
- ทาร์ เป็นสารคล้ายน้ำมันดิน ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
- ไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นก๊าซพิษที่ทำลายเยื่อบุหลอดลมส่วนปลายและถุงลม ทำให้เกิดถุงลมโป่งพอง
- ไฮโดรเจนไซยาไนต์ ทำให้เกิดอาการไอมีเสมหะและหลอดเลือดอักเสบเรื้อรัง ซึ่งสารพิษเหล่านี้ส่งผลร้ายทำให้เกิดโรคในผู้สูบบุหรี่ เช่น โรคหลอดเลือดในสมองตีบ โรคมะเร็งต่างๆ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคอันตรายคร่าชีวิตได้ภายในไม่กี่นาที
โรคหลอดเลือดหัวใจยังคงเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก พบว่ามีอุบัติการณ์สูงขึ้นในประชากรตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป เกิดขึ้นได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมีมากมาย อาทิ
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- ภาวะไขมันในเลือดสูง
- ภาวะอ้วนลงพุง
- ภาวะเครียด
- การบริโภคผัก และผลไม้น้อย
- ขาดการออกกำลังกาย
- เพศชายอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
- เพศหญิงอายุตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไปหรือหลังหมดประจำเดือน
- คนอายุน้อยที่สูบบุหรี่
สิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อเลิกบุหรี่
หากสามารถเลิกบุหรี่ได้จะส่งผลดีต่อร่างกาย ดังนี้
- ภายใน 15 นาที จะทำให้หัวใจเต้นช้าลง
- 12 ชั่วโมง ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงสู่ภาวะปกติ
- 14 วัน ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น หายใจโล่งขึ้น รู้สึกสดชื่น
- 1 ปี ความเสี่ยงโรคหัวใจวายลดลง 50%
- 5 ปี ความเสี่ยงโรคสมองลดลง 50 % จึงกล่าวได้ว่าการเลิกสูบบุหรี่นอกจากจะส่งผลดีต่อร่างกายตนเอง ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคสมองแล้ว ยังส่งผลดีต่อคนรอบข้างให้ห่างไกลจากสารพิษในบุหรี่ที่เป็นพิษร้ายต่อร่างกายอีกด้วย