กรมอนามัย เผยตากแดดร้อนจัดติดต่อกันเป็นเวลานาน เสี่ยงรับรังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวีที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แนะประชาชนให้ระวังและป้องกันตนเองลดเสี่ยงมะเร็งผิวหนังและผลกระทบต่อดวงตา
แสงแดด ทำร้ายผิวหนัง และดวงตาได้อย่างไร?
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า แสงแดดมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตแต่หากได้รับมากเกินไปเป็นระยะเวลานาน รังสียูวีก็สามารถส่งผลกระทบต่อผิวหนัง ดวงตาและทำให้เกิดการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังในระยะยาวได้ ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ค่าดัชนีรังสียูวี ซึ่งเป็นค่าที่บอกปริมาณของความเข้มของรังสียูวีที่ถูกส่งมายังพื้นโลก พบว่าระหว่างวันที่ 6–10 มีนาคม 2562 ประเทศไทยมีค่าดัชนีรังสียูวีสูงสุดอยู่ที่ระดับช่วง 9–13 คือส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยพบที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน หนองคาย กำแพงเพชร ขอนแก่น เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ นครราชสีมา กาญจนบุรี กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ตราด สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และสงขลา
ระดับความเข้มข้นของรังสียูวียิ่งเพิ่มสูงขึ้นจะทำให้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพสูงขึ้น มีผลกระทบต่อผิวหนัง ได้แก่
- ผิวไหม้จากแดด
- ผิวแก่ก่อนวัย
- มะเร็งผิวหนัง
รวมถึงส่งผลต่อดวงตา หากไม่มีการป้องกันอาจทำให้มีความเสี่ยง ดังนี้
- กระจกตาอักเสบ
- ภาวะจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ
- ต้อเนื้อ
- ต้อลม
- ต้อกระจก (ความเสี่ยงในระยะยาว)
กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ นักท่องเที่ยว คนที่ทำงานกลางแจ้งติดต่อกันเป็นเวลานาน
วิธีป้องกันรังสียูวีช่วงหน้าร้อน
ทั้งนี้ การป้องกันรังสียูวีทำได้โดย
- อยู่ในที่พักอาศัย อาคาร หรือในร่ม โดยเฉพาะเด็กเล็ก และผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพผิวแพ้ง่ายหรือภูมิแพ้
- หลีกเลี่ยงการตากแดดในช่วงเวลาที่มีรังสียูวีสูง คือเวลาประมาณ 10.00 – 16.00 น.
- หากจำเป็นต้องตากแดดควรใส่เสื้อแขนยาว มีสีอ่อน หลวม มีน้ำหนักเบาระบายความร้อนได้ดี
- กางร่ม หรือสวมหมวกปีกกว้าง
- ใส่แว่นตากันแดด
- ทาครีมกันแดด SPF30+ ทุก 2 ชั่วโมง
- สำหรับผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งควรจัดตารางเวลาทำงานสลับกับการพักเป็นระยะในที่ร่ม เพื่อลดความเสี่ยงจากการรับรังสียูวี