ผศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา
ศูนย์เลเซอร์ผิวหนังและศัลยกรรมผิวหนัง
ภาควิชาตจวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ปัจจุบันนี้พบโรคมะเร็งผิวหนังได้บ่อยมากขึ้น สาเหตุเกิดจากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจัยส่งเสริมให้เกิดมะเร็งผิวหนังมีดังนี้
- โรคทางพันธุกรรมบางโรค
- คนผิวขาว หรือคนเผือก
- แสงแดด
- สารเคมี เช่น สารหนู (Arsenic)
- ไวรัสหูด (human papilloma virus) บางชนิด
- แผลเรื้อรัง
- การได้รังสีรักษา
- ภาวะภูมิต้านทานต่ำ
- การสูบบุหรี่
โดยมะเร็งผิวหนังที่พบบ่อยในคนไทย มี 3 ชนิดคือ Basal Cell Carcinoma, Squamous Cell Carcinoma และ Malignant Melanoma
Basal Cell Carcinoma
พบในผู้ป่วยทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ลักษณะเป็นตุ่มผิวเรียบ ขอบจะมันวาว บางครั้งขอบอาจมีขนาดเล็กเท่าเส้นด้าย และอาจมีหลอดเลือดฝอยเล็กๆ ที่ผิว ในคนไทยตุ่มมักมีสีดำหรือสีน้ำตาลปะปนมากน้อยแตกต่างกัน บางรายอาจมีแผลแตกตรงกลางรอยโรค ขยายกว้างออกช้า ๆ ตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุดคือศีรษะและลำคอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จมูก ลักษณะเด่นของมะเร็งผิวหนังชนิดนี้มักมีสีน้ำตาลหรือดำ ล้อมรอบด้วยขอบมันวาว ยกและม้วนเข้า
Squamous Cell Carcinoma
พบในผู้ป่วยทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ระยะเริ่มจะเป็นก้อนขนาดเล็ก สีผิวปกติหรือแดงเล็กน้อย แข็ง ขอบเขตไม่ชัดเจน ผิวมักจะขรุขระ และอาจมีขุยร่วมด้วย ต่อมารอยโรคจะกว้างออกและลึกลงไปเรื่อย ๆ จนผิวแตกออกเป็นแผล มีสะเก็ด เลือดออก และมีกลิ่นเหม็น มักพบบริเวณผิวหนังที่ถูกแสงแดดเป็นประจำ เช่น ใบหน้า หนังศีรษะ แขน และหน้าอก มะเร็งผิวหนังชนิดนี้จะมีขอบเขตไม่ชัดเจน มีผิวขรุขระ และมีขุย มักแตกออกเป็นแผล
Malignant Melanoma
พบในผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชายเล็กน้อย ผู้ป่วยมักอยู่ในอายุระหว่าง 50 – 70 ปี มะเร็งผิวหนังชนิดนี้เกิดที่ตำแหน่งใดบนร่างกายก็ได้ อาจพบบริเวณผิวหนังที่ถูกแสงแดดเป็นประจำหรือไม่ก็ได้ โดยมีลักษณะเป็นตุ่มหรือก้อนสีดำเข้ม แต่ก็พบมีหลายสีได้ ตั้งแต่สีดำ แดง ชมพู น้ำตาล เทา โดยสีของมะเร็งผิวหนังจะกระจายบนก้อนไม่สม่ำเสมอกัน ในคนไทยมักพบมะเร็งผิวหนังชนิดนี้ที่ฝ่ามือฝ่าเท้าได้ถึงร้อยละ 50 มะเร็งผิวหนังชนิดนี้มักเกิดบนตำแหน่งที่เป็นไฝเดิม แล้วมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป หรือเป็นไฝที่เกิดขึ้นมาใหม่ โดยไฝเหล่านี้จะมีลักษณะขอบเขตไม่ชัดเจน มีสีไม่สม่ำเสมอ มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร
ผู้ป่วยที่สงสัยว่าตนเองจะเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษา
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล