กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชนและมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในขณะปฏิบัติงานได้ทุกสายพันธุ์ หากบุคลากรเจ็บป่วยจะเกิดผลกระทบกับการให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่อาจมีการระบาดของโรคโควิด-19
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์สำหรับบุคลากรการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จำนวน 5,000 โด๊สว่า ปีนี้ เป็นปีแรกที่กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง จำนวน 4.11 ล้านโด๊ส บุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 4.1 แสนโด๊ส และเลื่อนการรณรงค์ให้เร็วขึ้นเป็นวันที่ 1 พฤษภาคมจนถึง 31 สิงหาคม 2563 จากเดิมที่จะเริ่มฉีดวัคซีนในเดือนมิถุนายน เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคทันต่อสถานการณ์โรคโควิด 19 ซึ่งเป็นโรคที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ ลดการป่วย ลดความรุนแรง ลดการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่
“กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชนและมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในขณะปฏิบัติงานได้ทุกสายพันธุ์ หากบุคลากรเจ็บป่วยจะเกิดผลกระทบกับการให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่อาจมีการระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา ทุกคนได้ร่วมกันทำงานอย่างหนัก ห้องปฏิบัติการตรวจตัวอย่างจากผู้ป่วยนับหมื่นๆ ราย ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาพยาบาลอย่างดี” นายอนุทินกล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 4.11 ล้านโด๊ส ให้กับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป, เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี, ผู้มีโรคเรื้อรัง (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระหว่างได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน), บุคคลอายุ 65 ปีขึ้นไป, ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้, โรคธาลัสซีเมียและผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ และผู้ที่เป็นโรคอ้วน