การแพทย์ทางเลือก
เมื่อปี 2005 หน่วยงานของประเทศสหรัฐอเมริกา National Center of Complementary and Alternative Medicine (NCCAM) ได้จำแนกการแพทย์ทางเลือกออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้
1. Alternative Medical Systems คือ การแพทย์ทางเลือกที่มีวิธีการตรวจรักษาวินิจฉัย และการบำบัดรักษาที่มีหลากหลายวิธีการ ทั้งด้านการให้ยา การใช้เครื่องมื่อมาช่วยในการบำบัดรักษา และหัตถการต่างๆ เช่น การแพทย์แผนโบราณของจีน (Traditional Chinese Medicine) การแพทย์แบบอายุรเวช ของอินเดีย เป็นต้น
2. Mind-Body Interventions คือ วิธีการบำบัดรักษาแบบใช้กาย และใจ เช่น การใช้สมาธิบำบัด โยคะ ชี่กง เป็นต้น
3. Biologically Based Therapies คือวิธีการบำบัดรักษาโดยการใช้ สารชีวภาพ สารเคมีต่างๆ เช่นสมุนไพร วิตามิน Chelation Therapy, Ozone Therapy หรือแม้กระทั้งอาหารสุขภาพเป็นต้น
4. Manipulative and Body-Based Methods คือ วิธีการบำบัดรักษาโดยการใช้ หัตถการต่างๆ เช่น การนวด การดัด การจัดกระดูก Osteopathy, Chiropractic เป็นต้น
5. Energy Therapies คือวิธีการบำบัดรักษา ที่ใช้ พลังงาน ในการบำบัดรักษา ที่สามารถวัดได้และไม่สามารถวัดได้ ในการบำบัดรักษา เช่น การสวดมนต์บำบัด
ความจำเป็นของการแพทย์ทางเลือก
1. พัฒนาการของเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม ก่อให้เกิดมลภาวะ เป็นเหตุให้ร่างกายของเราเจ็บป่วย แต่โรคเรื้อรังเหล่านี้ยากที่จะรักษาหายได้ด้วยยาแผนปัจจุบัน หากไม่มีการแพทย์ทางเลือกมาใช้ในการรักษาควบคู่กันไป
2. ความเครียดในการทำงานหรือการแข่งขันในสังคม ทำให้มีอาการต่างๆ ที่การแพทย์ทั่วไปไม่สามารถสังเกตเห็นหรือไม่สามารถรักษาได้ แต่การแพทย์ทางเลือกกลับมีบทบาทสำคัญในกรณีดังกล่าว
3. ยาทุกชนิด ไม่ว่าเป็นยาแผนโบราณสมุนไพร หรือยาแผนปัจจุบันของโลกตะวันตก เมื่อใช้รักษาเป็นเวลานานก็จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเผชิญกับผลข้างเคียงไม่มากก็น้อย แต่ก็เป็นโอกาสของการแพทย์ทางเลือกที่ได้แสดงศักยภาพในการรักษาอย่างไร้ผลทางลบ
4. สำหรับโรคเรื้อรัง การรักษาด้วยยาบางทีก็แค่เพื่อยืดเวลาชีวิตหรือผ่อนคลายความเจ็บปวดอย่างชั่วคราวเท่านั้น โดยเชิงลึกแล้วอาจจะเป็นการให้เวลาเชื้อโรคในการระบาดอย่างช้าๆ แต่ไม่อาจจะรักษาโรคได้จากต้นเหตุเลย เช่น โรคความดันสูง โรคเบาหวาน โรคนอนไม่หลับ โรคหายใจเฉียบพลัน และอาการปวดหัว เป็นต้น และการใช้เป็นเวลานานยังทำให้เกิดดื้อยา ในแง่นี้การแพทย์ทางเลือกก็จะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
5. การแพทย์ทางเลือกไม่จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญมารักษา และไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่อาศัยเครื่องมืออุปกรณ์ที่ปฏิบัติใช้อย่างง่ายดาย
6. ความประหยัด และความง่ายในการรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือกสามารถแบ่งเบาภาระของครอบครัวได้
7. ความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ต้องการมีวิธีรักษาโรคที่เป็นธรรมชาติ หากรักษาได้โดยไม่ต้องอาศัยการทานยา หรือฉีดยา ก็จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
8. การรักษาด้วยวิธีทางฟิสิกส์แทนที่จะเป็นวิธีเคมีก็เป็นแนวทางการพัฒนาอีกแบบหนึ่ง และมีศักยภาพที่จะปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
9. การรักษาด้วยตัวเองเป็นข้อได้เปรียบอีกข้อหนึ่งของการแพทย์ทางเลือก เพราะผู้ป่วยเองจะมีโอกาสทำความเข้าใจกับต้นสายปลายเหตุของโรคโดยตรง รับรู้สถานการณ์ของการรักษา และสามารถปรับปรุงการรักษาจากประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งดีกว่า และมีประสิทธิภาพสูงกว่าการรักษาด้วยคนอื่น
หลักในการพิจารณาเลือกใช้การแพทย์ทางเลือก
ในการพิจารณาเลือกใช้การแพทย์ทางเลือกควรคำนึงถึงหลัก 4 ประการ คือ
1. ความน่าเชื่อถือ โดยดูจากที่ว่าวิธีการหรือองค์ความรู้ด้านการแพทย์ทางเลือกชนิดนั้น ประเทศต้นกำเนิดให้การยอมรับหรือไม่ หรือมีการใช้แพร่หลายหรือไม่ ใช้มาเป็นเวลานานแค่ไหน มีการบันทึกไว้หรือไม่ อย่างไร
2. ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญมาก ว่ามีผลกับสุขภาพของผู้ใช้อย่างไร การเป็นพิษแบบเฉียบพลันมีหรือไม่ พิษแบบเรื้อรัง มีเพียงไร อันตรายที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวมีหรือไม่ หรือวิธีการนั้นทำให้เกิดภยันอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ เป็นต้น
3. การมีประสิทธิผล เป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์หรือมีข้อพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถใช้ได้จริง มีข้อมูลยืนยันได้ว่าใช้แล้วได้ผล ซึ่งอาจต้องมีจำนวนมากพอหรือใช้มาเป็นเวลานานจนเป็นที่ยอมรับ จากการศึกษาวิจัยหลากหลายวิธีการ เป็นต้น
4. ความคุ้มค่า โดยเทียบว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดด้วยวิธีนั้นๆ คุ้มค่าสำหรับผู้ป่วยนั้นๆ หรือไม่ ในโรคที่ผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมาน โดยอาจเทียบกับเศรษฐฐานะของผู้ป่วยแต่ละคน
ธรรมชาติบำบัด
1. ธรรมชาติบำบัด หมายถึง การดูแลรักษา กาย ใจ โดยขบวนการธรรมชาติ ตั้งอยู่บนหลักว่าโรคทุกชนิด ทั้งร่างกาย และจิตใจของคนเรา สามารถเยียวยารักษาตัวเองได้ ถ้าร่างกายอยู่ในสภาพสมดุลปกติ
2. โรคร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดหัวใจตีบตัน ภูมิแพ้ หืดหอบ ฯลฯ เกิดจากการดำเนินชีวิตที่ผิดธรรมชาติ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ๆ และ รับประทานอาหารที่มีสารเคมีปนเปื้อน เช่น เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงด้วยฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต ยาปฏิชีวนะ หรือรับประทานยาหรือฉีดยาที่ทำจากสารเคมี สารเหล่านี้จะตกค้างอยู่ในร่างกายมาก หรือการใช้ชีวิตที่เครียดเกินไป หักโหมเกินไป กังวลเกินไป ออกกำลังกายไม่เพียงพอ พักผ่อนไม่เพียงพอ
3. การดูแลสุขภาพของคนเราจะเน้น เรื่องอาหาร การรับประทานอาหารที่ดีก็จะทำให้มีสุขภาพดี สุขภาพของคนขึ้นอยู่กับ พฤติกรรมของการรับประทานอาหาร Bacteria ไม่มีผลทำให้เกิดโรคต่อร่างกาย การเจ็บป่วยของคนล้วนเกิดจากอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อนที่คนเรารับประทานเข้า ไป เรื่อง ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นเรื่องของธรรมชาติที่ต้องเรียนรู้
4. แนะนำให้รับประทานอาหารมังสวิรัติ ไม่แนะนำให้อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ เช่น หมู ปลา ถ้านำเนื้อสัตว์ไปทิ้งไว้ในตู้หลายๆวันก็จะมีกลิ่นเหม็นเน่ามี สารพิษ เหมือนกับ คนที่รับประทานเนื้อสัตว์ไปหมักหมมอยู่ในลำไส้ ร่างกายก็จะได้รับสารพิษนั้นด้วย
5. วิธีการอดอาหารเพื่อล้างพิษ เป็นทางเลือกหลักของวิชาธรรมชาติบำบัด บางคนอาจอดอาหาร 7 วัน บางคนอดอาหาร 14 วัน แต่บางคนอาจต้องอดอาหารถึง 21 วัน แล้วแต่อาการของโรค ก่อนการอดอาหารต้องเตรียมความพร้อมก่อน โดยให้รับประทานผักและผลไม้เพื่อปรับสภาพร่างกาย 3 วัน หลังจากนั้น 4 วันแรก ให้ดื่มน้ำเปล่าอย่างเดียว อีก 3 วัน ต่อมาให้ดื่มน้ำผึ้งผสมน้ำมะนาว และ 3 วันสุดท้าย ให้ดื่มน้ำผลไม้ จากนั้นค่อยๆปรับสภาพร่างกายโดยให้รับประทานผักสดและผลไม้ แล้วกลับมาใช้ชีวิตปกติตามเดิม
6. หากคนเราดูแลเรื่องอาหารการกิน ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ไม่รับประทานยา เพราะยาไม่เพียงแต่ ฆ่าเชื้อโรคเท่านั้น แต่ยังทำลายภูมิต้านทานโรคในร่างกาย ยาแผนปัจจุบันแม้จะช่วยยับยั้งอาการปวดหรืออาการไข้ แต่นั่นก็เป็นเพียงการกดอาการ ไม่ได้เป็นการรักษาให้หายขาด การรักษาอยู่ที่ตัวของเราเองที่หันมารักษาตามแนวทางธรรมชาติบำบัด
การแพทย์แผนไทย
1. ประวัติการแพทย์แผนโบราณเริ่มมีการบันทึกไว้ตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล มีชายผู้หนึ่งชื่อชีวกโกมารภัจจ์มีความสนใจในการศึกษาวิชาแพทย์ เป็นวิชาที่ประกอบอาชีพไม่เบียดเบียนผู้ใด เป็นผู้ปฏิบัติประกอบด้วยเมตตากรุณาเกื้อกูลแก่ความสุขของมนุษย์ จึงได้ศึกษาวิชาแพทย์ในสำนักแพทย์ผู้ทิศาปาโมกข์ในเมืองตักศิลา ท่านเป็นผู้ที่ฉลาด สามารถในการศึกษา เรียนได้มาก เรียนได้เร็ว ทรงจำได้เร็ว ทรงจำได้ดี ไม่หลงลืม สามารถรักษาคนไข้หนเดียวก็หายได้ ในเวลาต่อมาพระเจ้าพิมพิสารประชวรเป็นโรคพระภคันทละ คือโรคริดสีดวงทวาร ทรงโปรดให้หมอชีวกเข้าไปถวายการรักษา หมอชีวกถวายการรักษาด้วยการทายาเพียงครั้งเดียว พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงหายโรค จึงโปรดให้เป็นแพทย์หลวงบำรุงพระองค์ และฝ่ายใน กับบำรุงพระสงฆ์ นับว่าหมอชีวกเป็นแพทย์ผู้ที่มีความรู้ความสามารถมีชื่อเสียงในครั้งพุทธกาล และมีผู้เคารพยกย่องอย่างมาก
2. การค้นพบศิลาจารึกอาณาจักรขอมประมาณปี พ.ศ. 1725-1729 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลโดยการสร้างสถานพยาบาล เรียกว่า อโรคยาศาลาขึ้น 102 แห่ง ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ในบริเวณใกล้เคียง กำหนดผู้ทำหน้าที่รักษาพยาบาลไว้อย่างชัดเจนได้แก่ หมอ พยาบาล เภสัช ผู้จดสถิติ ผู้ปรุงยา และอาหาร รวม 92 คน มีพิธีกรรมบวงสรวงพระไภสัชยคุรุไวทูรย์ประภาตามความเชื่อตามศาสนาพุทธลัทธิมหายาน ด้วยการบูชา ยา และอาหารก่อนแจกจ่ายผู้ป่วย ปัจจุบันมีอโรคยศาลาที่ยังเหลือประสาทที่สมบูรณ์ที่สุดคือ กู่บ้านเขวา จังหวัดมหาสารคราม
3. สมัยสุโขทัย การค้นพบหินบดยาสมัยทวารวดีซึ่งเป็นยุคก่อนสมัยสุโขทัย และจากศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงได้บันทึกไว้ว่าทรงสร้างสวนสมุนไพรขนาดใหญ่บนเขาหลวง หรือเขาสรรพยาเพื่อให้ราษฎรได้เก็บสมุนไพรไปใช้รักษาโรคยามเจ็บป่วย ปัจจุบันผู้เขาดังกล่าวอยู่ในอำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย
4. สมัยอยุธยา การแพทย์มีลักษณะผสมผสานปรับประยุกต์องค์ความรู้จากแพทย์พื้นบ้านทั่วราชอณาจักร ผสมกลมกลืนกับความเชื่อตามปรัชญาแนวพุทธ รวมทั้งความเชื่อทางไสยศาสตร์ และโหรศาสตร์เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพของชุมชนการแพทย์แผนไทยมีเป้าหมายที่สภาวะสมดุลของธาตุ 4 อันเป็นองค์ประกอบของชีวิต
5. ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พบบันทึกว่ามีระบบการจัดหายาที่ชัดเจนสำหรับประชาชนที่มีแห่งจำหน่ายยา และสมุนไพรหลายแห่งทั้งในและนอกกำแพงเมือง มีการรวบรวมตำรับยาต่างๆ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแพทย์แผนไทย เรียกว่าตำราพระโอสถพระนารายณ์ การแพทย์แผนไทยในสมัยนี้รุ่งเรืองมาก โดยเฉพาะการนวดไทย การแพทย์ตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทโดยมิชชั่นนารีชาวฝรั่งเศสได้จัดตั้งโรงพยาบาลรักษาโรค แต่ก็ขาดความนิยมและล้มเลิกไป
สมัยรัตนโกสินทร์
1. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม หรือวัดโพธิ์ขึ้นเป็นอารามหลวง ให้ชื่อว่าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงให้รวบรวมและจารึกตำรายาฤาษีดัดตน และตำรานวดไทยไว้ตามศาลาราย สำหรับการจัดหายาของทางราชการ มีการจัดตั้งกรมหมอ โรงพระโอสถคล้ายกับสมัยอยุธยา ผู้รับราชการเรียกว่า หมอหลวง ส่วนหมอที่รักษาประชาชนทั่วไป เรียกว่า หมอราษฎร หรือหมอเชลยศักดิ์
2. ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเห็นว่าคัมภีร์แพทย์ ณ โรงพระโอสถสมัยอยุธยาสูญหายไป จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้เหล่าผู้ชำนาญลักษณะโรคและสรรพคุณยา รวมทั้งผู้ที่มีตำรายาดีนำเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย ให้กรมหมอหลวงคัดเลือกและจดเป็นตำราหลวงสำหรับโรงพระโอสถ พ.ศ. 2359 มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้ตรากฎหมายชื่อว่า กฎหมายพนักงานพระโอสถถวาย
3. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนโปรดเกล้าฯ ให้จารึกตำรายาไว้บนแผ่นหินอ่อน ประดับไว้ตามผนังโบสถ์และศาลารายในบริเวณวัด ศิลาจารึกนี้เป็นตำราบอกสมุฏฐานของโรค วิธีการรักษา และได้จัดหาสมุนไพรที่ใช้ปรุงยาและหาได้ยาก มาปลูกไว้ในวัดเป็นจำนวนมากนับเป็นการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนอีกรูปแบบหนึ่ง มิได้จำกัดเพียงในวงศ์ตระกูลเหมือนแต่ก่อน นอกจากนี้รับสั่งให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดราชโอรสาราม ได้จารึกตำราในแผ่นศิลาตามเสาระเบียงพระวิหาร รัชสมัยนี้มีการนำการแพทย์แบบตะวันตกเข้ามาเผยแพร่โดยมิชชันนารีชาวอเมริกัน โดยการนำของนายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ ซึ่งคนไทยเรียกว่าหมอปลัดเลย์ นำวิธีการแพทย์แบบตะวันตกมาใช้ เช่น การปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ การใช้ยาเม็ดควินินรักษาโรคไข้จับสั่น นับเป็นวิวัฒนาการทางการแพทย์แผนไทย และการแพทย์แผนตะวันตก
4. ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้นำการแพทย์แผนตะวันตกมาใช้ เช่น การสูติกรรมสมัยใหม่ แต่ไม่สามารถให้ประชาชนเปลี่ยนความนิยมได้ เพราะการรักษาพยาบาลแผนไทยเป็นจารีตประเพณี และวัฒนธรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทย
5. ในปี พ.ศ. 2431พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งศิริราชพยาบาล มีการเรียนการสอน และให้การรักษาทั้งการแพทย์แผนไทย และแผนตะวันตกร่วมกัน หลักสูตร 3 ปี การจัดการเรียนการสอนบริการทางแพทย์แผนไทย และแผนตะวันตกร่วมกันเป็นไปด้วยความยากลำบากและขัดแย้งระหว่างผู้เรียน และผู้สอนเป็นอย่างมาก ด้วยหลักการแนวคิด และวิธีการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน ทำให้ยากที่จะผสมผสานกันได้ มีการพิมพ์ตำราแพทย์สำหรับใช้ในโรงเรียนการแพทย์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2438 ชื่อตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม 1-4 ได้รับยกย่องให้เป็นตำราขึ้นมาใหม่ได้แก่ ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง 2 เล่ม และตำราแพทย์แผนศาสตร์สังเขป 3 เล่ม ซึ่งยังคงใช้เป็นคัมภีร์ทางการแพทย์มาจนทุกวันนี้
6. สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวปี ในปีพ.ศ. 2456 มีการสั่งยกเลิกวิชาการแพทย์แผนไทย ต่อมาในปีพ.ศ. 2466 มีประกาศให้ใช้พระราชบัญญัติการแพทย์เพื่อเป็นการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจุเกิดกับประชาชนอันเนื่องมาจากการประกอบการของผู้ที่ไม่มีความรู้และมิได้ฝึกหัด ด้วยความไม่พร้อมในด้านการเรียนการสอน การสอบ และการประชาสัมพันธ์ ทำให้หมอพื้นบ้านจำนวนมากกลัวถูกจับจึงเลิกประกอบอาชีพนี้ บ้างก็เผาตำราทิ้ง จะมีหมอแผนโบราณเพียงจำนวนหนึ่งจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่สามารถปฏิบัติได้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว นับเป็นทั้งข้อดี และข้อเสียที่ควรคำนึงถึง
7. สมัยรัชกาลที่ 7 กฎหมายเสนาบดีแบ่งการประกอบศิลปะออกเป็นแผนปัจจุบัน และแผนโบราณ และกำหนดว่าประเภทแผนปัจจุบัน คือ ผู้ประกอบโรคศิลปะโดยความรู้จากตำราอันเป็นหลักวิชาโดยสากลนิยมซึ่งดำเนินและจำเริญขึ้น โดยอาศัยการศึกษา ตรวจค้น และทดลองของผู้รู้ในทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ส่วนประเภทแผนโบราณ คือ ผู้ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยความสังเกต ความชำนาญ อันได้สืบต่อมาเป็นที่ตั้ง หรืออาศัยตำราอันมีมาแต่โบราณ มิได้ดำเนินไปในทางวิทยาศาสตร์
8. ในปี พ.ศ. 2500 มีการจัดตั้งสมาคมของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ ได้ก่อตั้งขึ้นที่วัดโพธิ์ กรุงเทพ นับแต่นั้นสมาคมได้แตกสาขาออกไป ปัจจุบันมีโรงเรียนแพทย์แผนโบราณที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องอยู่เป็นจำนวนมากทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด ในปี พ.ศ. 2525 ได้ก่อตั้งโรงเรียนอายุรเวทวิทยาลัยฯ โดยศาสตราจารย์พิเศษนายแพทย์อวย เกตุสิงห์ และคณะเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น อยู่ในพระสังฆราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก กับ พระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ให้การอบรมศึกษาด้านการแพทย์แผนโบราณแบบประยุกต์มาจนถึงปัจจุบัน
ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
admin