กรมแพทย์แผนไทยพบมี 16ตำรับยาไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม หากออกกม.รองรับใช้ได้ทันที
25ม.ค.62-นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมฯ ได้มีการรวบรวมสูตรตำรับยาแผนไทย เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)เบื้องต้นได้มีการศึกษาและหารือกันกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ต่างๆหลายครั้ง สุดท้ายได้ข้อสรุปว่า ควรจะมีการใช้ตำรับยาที่มีส่วนผสมของกัญชามาจากตำรับตำราขาของชาติเท่านั้นที่มีอยู่กว่า 26,000 ตำรับ ซึ่งเมื่อตรวจสอบดูแล้ว เบื้องต้นมีอยู่ 212 ตำรับ แต่มีความซ้ำซ้อนกัน ซึ่งเมื่อดูแล้วเหลือเพียง 90 ตำราที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม จึงต้องมาประชุมกันอีกว่าในส่วนนี้จะสามารถนำมาใช้ตรงไหนได้บ้าง เนื่องจาก ของเดิมถูกห้ามใช้เนื่องจากบอกว่าเป็นยาเสพติด ซึ่งเมื่อได้มาสรุปกันแล้วสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่ม ก. 16 ตำรับซึ่งมีกัญชาเป็นส่วนประกอบใหญ่ และบางตำรับก็เป็นยาที่ใช้กันอยู่ แต่มีการตัดส่วนผสมที่เป็นกัญชาออก ซึ่งในกลุ่มนี้น่าจะสามารถปรุงเอง รักษาเองจัดการเองได้ไม่ยาก แต่หากโรงพยาบาลใดที่ไม่พร้อมแต่มีแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์พื้นบ้าน อยากใช้จริงๆ ก็สามารถที่จะกรมการแพทย์แผนไทยฯจะผลิตและ จำหน่ายผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ตามระบบซึ่งจะสามารถใช้ทั่วประเทศได้
สำหรับ 16 ตำรับส่วนใหญ่รักษาเรื่องลม การนอนหลับ แก้ปวด รับประทานอาหารได้ เน้นการส่งเสริมสุขภาพ ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ประกอบด้วย 1. ยาน้ำมันสนั่นไตรภพ 2.ยาอัคคินีวคณะ 3.ยาศุขไสยาศน์ 4.ยาแก้ลมเนาวนารีวาโย 5.ยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง 6.ยาไฟอาวุธ 7.ยาแก้นอนไม่หลับ หรือยาแก้ไข้ผอมเหลือง 8.ยาแก้สัณฑฆาต กร่อนแห้ง 9.ยาอัมฤตโอสถ 10.ยาอไภยสาลี 11.ยาแก้ลมแก้เส้น 12.ยาแก้โรคจิต 13.ยาไพสาลี 14.ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง 15.ยาทำลายพระสุเมรุ และ 16.ยาทัพยาธิคุณ
“ ดังนั้น ที่ใช้ได้เลยหากกฎหมายออกมาก็คือ กลุ่ม ก ซึ่งมี 16 ตำรับ แต่ทั้งหมดก็ต้องขออนุญาตตามคณะกรรมการยาเสพติด และเกณฑ์ตามที่ อย.กำหนด จากนั้นจึงออกเป็นประกาศโดยรัฐมนตรีว่าการ สธ.ลงนาม ดังนั้น ขณะนี้ จึงยังใช้ไม่ได้ เพราะกฎหมายยังไม่มีมารองรับ” นพ.มรุต กล่าว.
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากกฎหมายให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ ทางกรมมีความพร้อมอย่างไร นพ.มรุต กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมแล้ว ทั้งเรื่องการผลิตตัวยาตำรับทั้ง 16 ตำรับ โดยจะเป็นไปตามข้อกฎหมายทั้งหมด ส่วนผู้ที่จะใช้มี 4 กลุ่มใหญ่ คือ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์พื้นบ้าน และหมอพื้นบ้าน โดยทั้ง 4 กลุ่มจะต้องผ่านการอบรม และผ่านการอนุญาตก่อน ซึ่งจะมีเกณฑ์ต่างๆ โดยการจะใช้กับผู้ป่วยก็จะมีข้อกำหนดว่า ใช้กับผู้ป่วยแบบใด อาการมากน้อยแค่ไหน และมีการติดตามผลอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งการระบุแบบนี้ก็ไม่ต่างจากแพทย์แผนปัจจุบัน เรียกว่าจะต้องมีการขึ้นทะเบียนก่อนนั่นเอง
เมื่อถามว่า กฎหมายจะรองรับให้รายบุคคลใช้ได้แล้วหรือไม่ นพ.มรุต กล่าวว่า อนุญาตใน 4 กลุ่ม แต่ต้องผ่านการอบรม การขออนุญาต ซึ่งจะมีระบบในการตรวจสอบเข้มงวด เพราะกัญชาก็เป็นยาเสพติด เพียงแต่อนุญาตให้นำมาใช้ทางการแพทย์ รวมทั้งเมื่ออนุญาตแล้วก็จะมีระบบตรวจสอบอีก ที่สำคัญแพทย์พื้นบ้าน และหมอพื้นบ้าน ในกติกาเดิมสามารถปรุงยาของตัวเองได้ ซึ่งอาจต่างจาก 16 ตำรับนั้น โดยในเรื่องนี้ก็ต้องเอาตำรับของตัวเองมาแจ้งทางกรมฯ และจะต้องผ่านคณะกรรมการว่าใช้ได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการรัดกุม และป้องกันการใช้ในทางที่ผิด ทางกรมฯ มี 2 ทางเลือก คือ 1.จะผลิตออกเป็นตำรับยาสำเร็จ และกระจายให้ทางโรงพยาบาลต่างๆ ที่ต้องการมาขึ้นทะเบียนรับไปใช้ประโยชน์กับผู้ป่วยแบบมีข้อกำหนด และ 2.จะทำเป็นเครื่องยาผสมกัญชากลาง สำหรับการปรุงยาเฉพาะรายขึ้น เพื่อให้ไม่ต้องไปหาวัตถุดิบเอง ไม่ต้องหากัญชาเดี่ยวๆ แต่เราจะทำเป็นเครื่องยาผสมกัญชาแล้ว
” ขณะนี้เรากำลังสำรวจหมอแพทย์ไทยว่า มีจำนวนเท่าไหร่จะใช้บ้าง และใช้ปริมาณเท่าไหร่ อย่างไร โดยเราจะได้เตรียมพร้อมว่า จำนวนที่จะขึ้นทะเบียนทั้ง 4 กลุ่ม คือ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์พื้นบ้าน และหมอพื้นบ้าน ทั้งหมดมีเท่าไหร่ เพื่อทำให้เป็นระบบทั้งประเทศ ส่วนเรื่องสิทธิบัตรกัญชา ที่ยังไม่ชัดเจนนั้น ของเรากระทบน้อย ตรงที่เป็นการใช้แบบสด แต่ที่ต่างชาติมาจดสิทธิบัตรจะเป็นเรื่องสารสกัด THC และ CBD แต่กรมฯก็เป็นห่วง เพราะจริงๆ ก็ไม่น่าจะขอสิทธิบัตรได้ เนื่องจากเป็นสารธรรมชาติ และตัวกัญชาก็ยังเป็นยาเสพติดอยู่ด้วย.”อธิบดีกรมแพทย์แผนไทยกล่าว.