แพทย์ชี้ มะเร็งต่อมหมวกไตในเด็ก มักพบในระยะที่ 4 รักษาได้ด้วยยาเคมีบำบัดและผ่าตัด ย้ำสภาพจิตใจสำคัฯต่อการรักษา กรมการแพทย์ระบุ มะเร็งในเด็กพบได้ 1 ใน 10 ของโรคมะเร็งผู้ใหญ่ มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง
จากกรณีโซเชียลมีเดียเผยแพร่เรื่องราวของคุณแม่ที่มีลูกเป็นมะเร็งต่อมหมวกไตระยะที่ 4 ได้รับข้อมูลจากคนที่อ้างว่าเป็นหมอ ว่า สาเหตุที่ลูกเป็นมะเร็งมาจากการที่คุณแม่กินหวาน กินนม กินเห็ด กินขนมปัง นมถั่วเหลือง เนยเทียมตอนตั้งครรภ์ ทำให้คุณแม่โทษตัวเองที่เป็นสาเหตุให้ลูกเป็นมะเร็ง
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งในเด็ก เป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับเด็กแรกเกิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา จนถึงเด็กที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกช่วงอายุ ทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยมีอัตราเกิดโรคน้อยกว่าผู้ใหญ่ คิดเป็นประมาณ 1 ใน 10 ของโรคมะเร็งในผู้ใหญ่ ปัจจุบันประเทศไทย พบอุบัติการณ์ของเด็กป่วยเป็นโรคมะเร็งรายใหม่ประมาณ 1,000 รายต่อปี โดยมะเร็งเม็ดเลือดขาวพบได้มากกว่าร้อยละ 50 ของโรคมะเร็งทั้งหมดในเด็ก รองลงมา ได้แก่ โรคมะเร็งสมอง โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคมะเร็งต่อมหมวกไต
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งในเด็กเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งจอตา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเกิดจากการได้รับรังสีบางชนิดปริมาณสูงขณะอยู่ในครรภ์ เช่น รังสีเอกซ์ (รังสีในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค) รังสีแกมม่า เป็นต้น อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว การทานผักและผลไม้ที่มีสารปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลง เชื้อราในถั่วลิสง ข้าวโพด อาหารตากแห้งที่มีความชื้นมาก เช่น หอม กระเทียม พริกแห้ง การบริโภคอาหารที่ผ่านกระบวนการถนอมอาหาร ใส่สารกันบูด สารปรุงแต่งรส สีสันต่างๆ หรือรมควัน ตลอดจนเกิดจากการติดเชื้อของมารดาในขณะตั้งครรภ์ เช่น การติดเชื้อไวรัส เอชไอวี (HIV) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด บี ซี รวมทั้งการขาดสารบางชนิดของมารดาขณะที่ตั้งครรภ์ เช่น วิตามินบี 9
นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวว่า การวินิจฉัยโรคมะเร็งในเด็กมีขั้นตอนและวิธีการเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจวิเคราะห์เม็ดเลือด สำหรับวิธีที่ได้ผลดีและแน่นอนที่สุด คือ การเจาะ ดูด หรือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจสอบทางเซลล์วิทยาหรือพยาธิวิทยา สำหรับอาการของโรคมะเร็งในเด็กโดยปกติมักจะไม่มีอาการเฉพาะ หรือสามารถระบุอาการต่างๆ ได้ชัดเจนเหมือนผู้ใหญ่ ต้องอาศัยความเอาใจใส่ และการสังเกต ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย คือ คลำพบก้อนเนื้อผิดปกติในร่างกายมีอาการไข้สูงโดยจะเป็นๆ หายๆ มีจุด จ้ำ เป็นห้อเลือดง่าย มีจุดเลือดตามลำตัว แขน หรือขา อาการจะคล้ายคนเป็นไข้เลือดออก และอ่อนเพลียง่าย
ทั้งนี้ ระยะของโรคมะเร็งในเด็กแต่ละชนิดมีรายละเอียดแตกต่างกันไป โดยทั่วไป สามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ดังนี้ ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็ก ยังจำกัดอยู่เฉพาะที่ ยังไม่ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น และเริ่มลุกลามมากขึ้น ระยะที่ 3ก้อนมะเร็งโตมากขึ้น และลุกลามเข้าเนื้อเยื่อและอวัยวะใกล้เคียง ระยะที่ 4 ก้อนเนื้อมะเร็งลุกลามรุนแรง แพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลือง และแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย โรคมะเร็งในเด็กส่วนใหญ่มีความรุนแรงของโรคสูง แต่มีโอกาสรักษาให้หายได้ ขึ้นอยู่กับระยะของโรค
“ชนิดของเซลล์มะเร็ง ความสามารถในการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อมะเร็งออก การตอบสนองต่อเคมีบำบัด อายุ และสุขภาพของเด็ก วิธีการรักษา ได้แก่ การผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด และวิธีรังสีรักษา ซึ่งจะใช้ในกรณีที่พบว่ามีความรุนแรงของโรคสูง เกิดการแพร่กระจาย ไม่สามารถผ่าตัด และมีอาการดื้อต่อเคมีบำบัด สำหรับวิธีป้องกันโรคมะเร็งในเด็ก คือ หลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ หรือสารก่อมะเร็ง จากอาหาร น้ำดื่มและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว โดยเฉพาะแม่ที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น อาหารสำเร็จรูป บุหรี่ และแอลกอฮอล์ และคอยหมั่นสังเกตเด็กหากพบความผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที” นพ.สมเกียรติ กล่าว
สำหรับมะเร็งต่อมหมวกไตในเด็ก ผศ.พญ.กลีบสไบ สรรพกิจ สาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เขียนบทความให้ความรู้ถึงเรื่องนี้ ว่า โรคมะเร็งต่อมหมวกไตเป็นโรคมะเร็งก้อนเนื้อในเด็กที่พบได้บ่อย โดยมีอุบัติการณ์ประมาณ 5.8% ของโรคมะเร็งทั้งหมดที่พบในเด็ก (ข้อมูลจากการศึกษาของชมรมโรคมะเร็งเด็กแห่งประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2546 – 2548 พบผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ที่เป็นโรคมะเร็งทั่วประเทศไทย 2,792 ราย มีผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมหมวกไต 163 ราย) พบได้บ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี อาการและอาการแสดงที่พบบ่อย คือ ก้อนในท้อง และต่อมน้ำเหลืองโต ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเป็นโรคในระยะที่ 4 คือ มีการกระจายของมะเร็งไปที่ตับ กระดูกและไขกระดูกทำให้มีอาการตับโต ปวดกระดูก มีไข้ ซีด จุดเลือดออกตามตัวหรือเลือดออกผิดปกติที่อวัยวะต่างๆ เนื่องจากไขกระดูกไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดได้ตามปกติเพราะถูกแทนที่ด้วยเซลล์มะเร็ง บางรายอาจมีอาการแขนขาอ่อนแรงจากก้อนมะเร็งกดทับเส้นประสาทไขสันหลัง หรือมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมด้วย
การวินิจฉัยและจำแนกระยะของโรค อาศัยการตรวจเลือด ตรวจไขกระดูก ตรวจระดับของสารที่สร้างจากเนื้องอกในเลือดหรือปัสสาวะ ถ่ายภาพทางรังสี เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณช่องท้องเพื่อดูตำแหน่ง ลักษณะและขอบเขตของก้อน โดยจะพบก้อนที่ต่อมหมวกไตซึ่งอยู่ด้านบนของไต ถ่ายภาพสแกนกระดูก การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนมาตรวจทางพยาธิวิทยาจะช่วยให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอน
การรักษาโรคมะเร็งต่อมหมวกไตในเด็กต้องอาศัยการร่วมมือกันของบุคลากรทางการแพทย์หลายฝ่ายการรักษาหลักคือการให้ยาเคมีบำบัดและการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก การฉายรังสีรักษาจะทำเฉพาะในรายที่มีก้อนมะเร็งเหลืออยู่หลังการผ่าตัด นอกจากนี้ ยังมีการรักษาตามอาการของผู้ป่วยขณะนั้น เช่น การให้เลือดและส่วนประกอบของเลือด การดูแลเรื่องของอาหารให้ถูกสุขลักษณะครบ 5 หมู่ และควรให้ความสำคัญด้านจิตใจของผู้ป่วยด้วยเพราะสภาพจิตใจจะส่งผลต่อการรักษาได้มาก พยากรณ์โรคขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย ระยะของโรค ผลการตรวจทางพยาธิวิทยา และการตอบสนองต่อการรักษา ผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคตั้งแต่ระยะต้นจะได้ผลการรักษาที่ดีกว่าผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายของโรคไปอวัยวะอื่นแล้ว การร่วมมือกันดูแลผู้ป่วยของผู้ปกครองและแพทย์มีส่วนช่วยอย่างมากที่จะทำให้การรักษาประสบผลสำเร็จได้ดีและเกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วยน้อยที่สุด
ขอขอบคุณhttps://mgronline.com/
รูปภาพhttps://buildsweethome.blogspot.coml/