โรคเบาหวานจัดเป็นภัยสุขภาพที่น่ากลัว และดูทรงแล้วเริ่มจะคุกคามชีวิตคนวัยทำงานกันมากขึ้น ซึ่งใครที่ตรวจพบโรคเบาหวานในระยะแรก ๆ หรือมีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคเบาหวาน แล้วอยากให้เขาออกกำลังกายลดน้ำตาลในเลือดอย่างเหมาะสม วันนี้กระปุกดอทคอมมีแนวทางการออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคเบาหวานมาฝากค่ะ
ก่อนออกกำลังกาย
การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ควรต้องคำนึงถึงสุขภาพและระดับความรุนแรงของโรคเบาหวานเป็นสำคัญ ดังนั้นก่อนออกกำลังกายควรปฏิบัติ ดังนี้
1. ปรึกษาแพทย์เรื่องการออกกำลังกาย ว่าเราสามารถออกกำลังกายได้มาก-น้อยแค่ไหน
2. ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ค่อนข้างนิ่งก่อน โดยระดับน้ำตาลในเลือดไม่ควรเกิน 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ควรมีระดับน้ำตาลในเลือดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
3. ตรวจดูเท้าก่อนออกกำลังกายทุกครั้งว่าไม่มีแผล ไม่มีร่องรอยของการบาดเจ็บใด ๆ เพราะผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนมากอาจไม่มีความรู้สึกที่มือและเท้า ทำให้ไม่รู้ตัวว่ามีบาดแผลเกิดขึ้น
4. ควรเลือกรองเท้าที่เหมาะสมสำหรับกีฬาแต่ละชนิด
5. ออกกำลังกายในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
6. ควรออกกำลังหลังมื้ออาหารอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง
7. วอร์มอัพ 5-10 นาที ก่อนออกกำลังกาย ด้วยการยืดเหยียด (stretching) เพื่อป้องกันภาวะข้อติดที่มักพบในผู้ป่วยเบาหวาน
8. ควรพกลูกอมหรือน้ำตาลเผื่อไว้ เมื่อรู้สึกวูบ ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ จะได้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ทัน
ผู้ป่วยเบาหวานควรออกกำลังกายอย่างไรดี
จริง ๆ แล้วผู้ป่วยเบาหวานสามารถออกกำลังกายได้หลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสภาพร่างกาย โดยวิธีออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานก็มีดังต่อไปนี้เลยค่ะ
– เดินออกกำลังกาย ควรเดินให้ได้ 20-45 นาทีขึ้นไป ซึ่งจุดนี้ระดับอินซูลินจะเริ่มลดลง
>> เดินออกกำลังกายแต่ละนาที ร่างกายจะได้ประโยชน์ดี ๆ อะไรบ้าง
– ปั่นจักรยาน
– การออกกำลังกายแบบแอโรบิก (ระดับปานกลาง) อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือครั้งละ 20-40 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง
– ออกกำลังกายเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น การยกเวท เกร็งกล้ามเนื้อ การดึงยางยืด อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายประเภทอื่น เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อและระบบประสาทแข็งแรงขึ้น
– โยคะ กายบริหาร
>> สร้างสมดุลให้ร่างกาย…กับท่าโยคะง่าย ๆ ทำเองได้ที่บ้าน
– ว่ายน้ำ
ทั้งนี้ควรเน้นการออกกำลังกายแบบเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีแรงกระแทกหรือมีแรงกระแทกต่ำ เช่น การเดิน ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ รำไทเก๊ก โยคะ และกายบริหาร และควรจะเริ่มออกกำลังกายแบบเบา ๆ ก่อน จึงค่อยเพิ่มเป็นปานกลาง เพื่อให้ร่างกายได้มีการปรับตัว ที่สำคัญควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ในเวลาเดียวกันในแต่ละวัน เพื่อให้ร่างกายเกิดความคุ้นชิน และเป็นการช่วยควบคุมระดับอินซูลินของร่างกายไปในตัว
สุดท้ายเมื่อออกกำลังกายเสร็จ ผู้ป่วยเบาหวานควรทำการคูลดาวน์ 5-10 นาที เพื่อลดอาการบาดเจ็บ และสลายกรดแล็กติกที่คั่งค้างอยู่บริเวณกล้ามเนื้อ จะช่วยให้ไม่รู้สึกปวดเมื่อยหลังออกกำลังกายค่ะ
ข้อควรระวังในการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
* ผู้ที่มีปัญหาข้อเข่า ข้อเท้า ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทก เช่น การวิ่ง กระโดดเชือก เป็นต้น
* ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการชาบริเวณปลายประสาทไม่ควรวิ่งหรือกระโดด แต่ควรจะออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานเพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตและกระตุ้นปลายประสาท
* ผู้ป่วยเบาหวานชนิดขึ้นตาควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ใช้แรงต้านมาก อย่างโยคะ หรือการยกน้ำหนัก
* หากมีโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ไม่ควรออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงมาก ๆ และควรออกกำลังกายตามสมควรภายใต้การควบคุมของแพทย์
* หากมีอาการผิดปกติในระหว่างออกกำลังกาย เช่น วูบ หน้ามืด เหนื่อยมาก หายใจหอบ เวียนศีรษะ ควรหยุดออกกำลังกายทันที และควรปรึกษาแพทย์ด้วยนะคะ
* หากมีภาวะเบาหวานที่ยังควบคุมไม่ได้ หรือมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือโรคหัวใจขาดเลือดที่ยังควบคุมไม่ได้ ห้ามออกกำลังกายโดยเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม หากคุณเป็นผู้ป่วยเบาหวานที่เคยมีอาการของภาวะน้ำตาลต่ำ หรือเป็นผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องใช้ยาอินซูลินอยู่ตลอด ควรมีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อน ขณะ และหลังออกกำลังกาย และควรปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกายเพื่อให้เราเลือกออกกำลังกายได้อย่างเหมาะสมกับร่างกายตัวเอง อ้อ ! ระหว่างออกกำลังกายควรจิบน้ำเป็นระยะเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำด้วยนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูล:health.kapook.com