มะเร็งต่อมไทรอยด์

“มะเร็งไทรอยด์” รักษาได้

Views

“มะเร็งไทรอยด์” เป็นภาวะที่มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ซึ่งส่วนใหญ่ก้อนที่พบนี้จะเป็นเนื้อดี มีส่วนน้อยที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งไทรอยด์ โดยพบเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น และถึงแม้ว่าจะเป็นมะเร็ง ก็ไม่ต้องกังวล เพราะเป็นมะเร็งชนิดที่ไม่รุนแรง สามารถตอบสนองการรักษาได้ดีมาก และมีภาวะแทรกซ้อนน้อย

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งไทรอยด์ มีด้วยกันหลายประการ ได้แก่

• เพศชาย เพราะโรคไทรอยด์พบบ่อยในผู้หญิง หากเจอก้อนเนื้อในเพศชายให้ระวังว่าอาจจะเป็นมะเร็ง
• อายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 45 ปี
• มีประวัติฉายแสงในบริเวณศีรษะและลำคอในวัยเด็ก หรืออยู่ในบริเวณที่มีรังสีรั่วไหล
• มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งไทรอยด์
• ก้อนที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตเร็ว
ความชุกของโรคนี้ขึ้นอยู่กับว่าตรวจด้วยวิธีใด เพราะการตรวจร่างกายทั่วๆ ไปมีความไวในการพบก้อนเนื้อได้น้อยกว่าการตรวจภาพรังสีที่ทันสมัย เช่น อัลตราซาวน์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

รู้ได้อย่างไรว่าเป็น “มะเร็งไทรอยด์”

เราสามารถตรวจต่อมไทรอยด์ง่ายๆ ด้วยตัวเอง เริ่มจากส่องกระจกแล้วยืนหรือนั่งตัวตรง มองตรงไปที่กระจก ตรงกึ่งกลางลำคอ ระหว่างลูกกระเดือกกับกระดูกไหปลาร้า จากนั้นให้กลืนน้ำลาย ถ้าคอแห้งให้ดื่มน้ำช่วย จะทำให้เห็นต่อมไทรอยด์ได้ชัดขึ้น  สุดท้ายใช้มือคลำเบาๆ ตรงตำแหน่งไทรอยด์ว่ามีก้อนโตหรือคอพอกไหม รู้สึกเจ็บไหม ถ้ามองไม่เห็นและคลำต่อมไทรอยด์ไม่ได้ แสดงว่ามีขนาดปกติ

อย่างไรก็ดี หากตรวจแล้วไม่แน่ใจ ควรไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจร่างกายโดยการคลำต่อมไทรอยด์ ตรวจเลือด เพื่อเช็กระดับฮอร์โมนไทรอยด์ ตรวจภาพต่อมไทรอยด์ด้วยอัลตราซาวน์หรือการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ (โดยการกินน้ำแร่รังสีไอโอดีน จากนั้นจึงใช้เครื่องสแกนตรวจจับรังสีที่เซลล์ต่อมไทรอยด์จับกิน แล้วจึงแปลงเป็นภาพต่อมไทรอยด์) หรือตรวจด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หากพบว่ามีก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ เพื่อแยกว่าก้อนเนื้อนั้นเป็นเนื้อดีหรือร้าย จำเป็นต้องได้ชิ้นเนื้อจากก้อนที่ต่อมไทรอยด์เสมอ วิธีนี้สามารถทำได้ง่ายๆ ที่แผนกผู้ป่วยนอก โดยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ซึ่งผลการตรวจมีความแม่นยำถึงร้อยละ 95

แนวทางการรักษา หากพบว่าก้อนเนื้อนั้นเป็นมะเร็ง แพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีการดังนี้ 

1. ผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด โดยแผนกศัลยกรรมหรือแผนกโสต ศอ นาสิก ผู้ป่วยจะได้รับการวางยาสลบและใส่ท่อช่วยหายใจระหว่างผ่าตัด เพื่อให้การผ่าตัดดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย หลังการผ่าตัดแพทย์จะนัดมาดูแผล ฟังผลชิ้นเนื้อ และประเมินระยะของโรค เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

2. การรักษาด้วยไอโอดีนรังสี ทำโดยแพทย์ด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ส่วนใหญ่แพทย์จะนัดให้รักษาด้วยการกลืนแร่ไอโอดีนรังสีชนิด Iodine-131 หลังจากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด เพื่อกำจัดเนื้อมะเร็งออกให้หมด หลังกลืนแร่ไอโอดีนรังสีแล้ว ผู้ป่วยจะต้องนอนในโรงพยาบาลประมาณ 3-7 วัน เนื่องจากปริมาณรังสีที่ใช้ในการรักษามีปริมาณสูง จะต้องนอนแยกห้องกับผู้ป่วยรายอื่น ต้องกินน้ำมากๆ งดการให้ญาติเฝ้า เพื่อไม่ให้ญาติสัมผัสรังสี ส่วนผลข้างเคียงจากการรักษานั้นเกิดขึ้นน้อยมาก  เพราะไอโอดีนรังสีมีความจำเพาะต่อต่อมไทรอยด์เท่านั้น

3. การรักษาด้วยฮอร์โมนไทรอยด์ตลอดชีวิต หลังจากนั้นแพทย์จะให้ฮอร์โมนไทรอยด์ เพื่อไม่ให้เกิดภาวะพร่องฮอร์โมน และป้องกันไม่ให้มะเร็งไทรอยด์กลับมาเป็นใหม่

ขอขอบคุณข้อมูล:thairath.co.th