ภูมิคุ้มกันมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน ศัตรูตัวร้ายของระบบภูมิคุ้มกัน

Views

หากเปรียบร่างกายเป็นเมืองเมืองหนึ่ง ระบบภูมิคุ้มกันก็ไม่ต่างไปจากป้อมปราการที่คอยปกป้องร่างกายจากภัยรุกราน แต่ละหน่วยที่ประกอบขึ้นเป็นระบบภูมิคุ้มกันจึงไม่ต่างจากหน่วยรบที่คอยเฝ้าระวังภัยให้ร่างกายอยู่เสมอแต่จะเป็นอย่างไร หากวันหนึ่งหน่วยรบของเราโดนโจมตีจนเจ็บป่วยเสียเอง

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) คือศัตรูตัวฉกาจของระบบภูมิคุ้มกัน เพราะเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับองค์ประกอบสำคัญหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันอย่างระบบน้ำเหลือง ซึ่งเป็นระบบที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย ระบบน้ำเหลืองประกอบด้วยน้ำเหลือง ท่อน้ำเหลือง และต่อมน้ำเหลืองมีหน้าที่คอยทำลายเชื้อโรคต่างๆ ที่รุกล้ำเข้ามาในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นไวรัส หรือแบคทีเรีย โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองสามารถเกิดขึ้นกับระบบน้ำเหลืองได้ทุกบริเวณในร่างกาย โดยบริเวณที่พบได้บ่อยคือ คอ รักแร้ และขาหนีบ ซึ่งมีอาการบ่งชี้เป็นการบวมโตของต่อมน้ำเหลืองที่มักจะไม่มีอาการเจ็บร่วมด้วย

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบ่งง่ายๆ ได้ ٢ ชนิด คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma: NHL) และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด
ฮอดจ์กิน (Hodgkin Disease: HD) ซึ่งมีขบวนการการรักษาต่างกัน และอาจมีการตอบสนองต่อการรักษาที่ต่างกันด้วย ดังนั้น การวินิจฉัยเพื่อระบุชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจึงจำเป็นอย่างมากต่อกระบวนการรักษา

รศ.พ.อ.นพ.วิเชียร มงคลศรีตระกูล

รศ.พ.อ.นพ.วิเชียร มงคลศรีตระกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา ศูนย์มะเร็ง Horizon โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า ถึงแม้มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน จะพบได้น้อยกว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน โดยพบได้ประมาณ 12٪ ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งหมด แต่ก็เป็นโรคที่ควรระมัดระวัง เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อายุยังน้อยโดยจะพบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า5 ปี แต่จะพบได้มากใน 2 ช่วงอายุ คือ15-35 ปี และอีกช่วงคือมากกว่า 50 ปีขึ้นไป โดยในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก เด็กผู้ชายมีโอกาสเป็นมากกว่าเด็กผู้หญิงประมาณ 3 เท่า ส่วนในวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่จะมีโอกาสเกิดโรคในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 1.5 เท่า

สาเหตุของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน เกิดจากเซลล์มะเร็งที่เรียกว่า Reed-Sternberg Cell ซึ่งอยู่ภายในต่อมน้ำเหลือง และมีปัจจัยเสี่ยง คือ อายุที่เพิ่มขึ้น เพศ การติดเชื้อ เช่น เอชไอวี (HIV) เชื้อไวรัสอีบีวี (EBV) ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น โรคพุ่มพวง และปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น หากมีพี่น้องหรือญาติที่เป็นโรคนี้ก็จะมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคนี้ด้วย ผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้มักจะมีการบวมโตของต่อมน้ำเหลือง โดยอาจจะไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ติดต่อกันอย่างน้อย 3 วัน โดยไม่มีสาเหตุ เหงื่อออกชุ่มตัวตอนกลางคืนโดยไม่มีสาเหตุ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดตั้งแต่ 10٪ ขึ้นไป ในช่วงระยะเวลา6 เดือน และอ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ

เช่นเดียวกับมะเร็งชนิดอื่นๆ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน สามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 มีต่อมน้ำเหลืองโตเพียงกลุ่มเดียวที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น ที่คอด้านขวาที่เดียว ระยะที่ 2 มีต่อมน้ำเหลืองโต2 กลุ่ม หรือมากกว่า แต่ต้องเป็นในกลุ่มต่อมน้ำเหลืองที่อยู่เหนือหรือใต้กระบังลมเหมือนกัน เช่น เป็นที่คอและรักแร้ ซึ่งต่างก็อยู่เหนือกระบังลม ระยะที่ 3 มีต่อมน้ำเหลืองโต 2 กลุ่ม หรือมากกว่าทั้งบริเวณเหนือและใต้กระบังลม เช่น พบทั้งที่คอและบริเวณขาหนีบ และระยะที่ 4 โรคแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่ออวัยวะอื่นที่ไม่ใช่ต่อมน้ำเหลือง เช่น ไขกระดูก ตับ ปอด และสมอง

สำหรับแนวทางในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน ในปัจจุบันนั้นค่อนข้างหลากหลาย และมีประสิทธิภาพ ซึ่งการเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งในการรักษานั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระยะของโรค อายุของผู้ป่วย และสภาพร่างกายของคนไข้ โดยทางเลือกในการรักษามีทั้งการใช้เคมีบำบัด ซึ่งวิธีนี้แพทย์สามารถเลือกใช้สูตรผสมของเคมีบำบัดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง การฉายรังสีซึ่งมักจะใช้ในกรณีก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่แล้วไปกดทับอวัยวะ หรือในกรณีที่ก้อนมะเร็งไม่อยู่ในพื้นที่สำคัญ เช่น สมอง หรือไขสันหลัง การปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นวิธีที่ใช้เมื่อโรคมีความรุนแรงมาก หรือโรคกลับมาเป็นซ้ำ นอกจากนี้ ยังพบทางเลือกใหม่ในการรักษาคือ ยาพุ่งเป้า (Targeted Therapy) และยาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีโอกาสตอบสนองต่อยาและมีอัตราการรอดชีวิตที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและการปลูกถ่ายไขกระดูก

เมื่อป้อมปราการโดนโจมตี แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อเมืองอย่างรวดเร็วการป้องกันและหาทางรับมืออย่างทันท่วงทีจึงเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งป้องกันความเสียหายได้มากเท่านั้น ดังนั้น หากสังเกตตนเองแล้วสงสัยว่ามีอาการผิดปกติเกี่ยวกับต่อมน้ำเหลือง การรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและเลือกใช้วิธีการรักษาที่เหมาะสมกับตนเองจึงเป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุด เพื่อช่วยปกป้องหน่วยรบของร่างกายให้ทันเวลา

ขอขอบคุณข้อมูล:naewan.com