ใครเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก
โรคมะเร็งปากมดลูกพบในผู้หญิงตั้งแต่อายุก่อน 30 จนถึง 80 ปี โดยพบมากในช่วงอายุ 35 – 50 ปี พฤติกรรมของผู้หญิงไทยส่วนใหญ่มักคิดว่าตัวเองไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง และรู้สึกเขินอายกลัวที่จะพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นกว่าจะรู้ตัวว่ามีอาการผิดปกติ ความรุนแรงของโรคก็มักอยู่ในระยะลุกลามยากต่อการรักษา
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูก
โรคมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุหลักเกิดจาก
- การติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การมีคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีคู่นอนหลายคน
- การสูบบุหรี่
- การรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลายาวนาน
- การตั้งครรภ์หรือมีบุตรหลายคน
- ภูมิคุ้มกันไม่ดี
- การละเลยไม่ไปตรวจภายในเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
อาการของมะเร็งปากมดลูก
อาการมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกมักจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่เมื่อมะเร็งลุกลามแล้วอาจมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด เช่น หลังจากการมีเพศสัมพันธ์ หลังหมดประจำเดือน มีตกขาว ปัสสาวะหรืออุจจาระปนเลือด ซึ่งเกิดจากมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง
วิธีการรักษา
ระยะก่อนลุกลาม
- การตรวจภายใน การทำแพปสเมียร์ และการตรวจด้วยกล้องขยาย (Colposcope) ทุก 4 – 6 เดือน รอยโรคขั้นต่ำบางชนิดสามารถหายไปได้เองภายใน 1 – 2 ปี
- การตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า
- การจี้ปากมดลูกด้วยความเย็น
- การตัดปากมดลูกออกเป็นรูปกรวยด้วยมีด
ระยะลุกลาม การเลือกวิธีรักษาขึ้นกับโรคประจำตัวของผู้ป่วยและระยะของมะเร็ง
- ระยะที่ 1 และ 2 บางราย รักษาโดยการตัดมดลูกออกแบบกว้างร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองเชิงกรานออก
- ระยะที่ 2 – 4 รักษาโดยการฉายรังสีร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด
การป้องกัน
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น การมีคู่นอนหลายคน การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การสูบบุหรี่
- ตรวจคัดกรองความผิดปกติของปากมดลูก โดยการตรวจแพปสเมียร์ (Pap Smear) และ การตรวจหาเชื้อ HPV
- การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV
ขอขอบคุณ:sikarin.com
Tags:มะเร็งปากมดลูก