มะเร็งผิวหนัง เราสังเกตเองได้ “หมอที่ดีที่สุดคือตัวเราเอง” หลายคนคงได้ยินคำนี้กันบ่อยแล้วนะครับ และตัวหมอ (ร้อยเอก นายแพทย์สุรชา ลีลายุทธการ) เองก็เชื่ออย่างยิ่งว่าเป็นอย่างนั้น
แต่เรื่องที่หมอจะเล่าให้ฟัง กลับเป็นสิ่งที่คนเป็นแพทย์พบบ่อย และหลายคนก็ยอมรับกับหมอตรงๆ ว่า เป็นเช่นนั้น ที่เมื่อสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติบางอย่างในร่างกาย หลายคนมักบอกตัวเองว่า “ไม่เป็นไรหรอกน่า!” แล้วปล่อยทิ้งข้อสังเกตนั้นไป มารู้ตัวอีกทีก็เมื่อความผิดปกติก่ออาการชัดและรบกวนการใช้ชีวิต …ที่สำคัญ หลายโรคลุกลามจนเกินเยียวยาด้วย
“ไฝ – ปาน” ความเปลี่ยนแปลงที่ต้องสังเกต
อาจเป็นเคสที่ส่วนตัวนิดนะครับ เพราะเป็นเรื่องราวของคุณแม่เพื่อนสนิทของหมอเอง ซึ่งในบรรดาเพื่อนสนิทจะทราบดีว่าคุณแม่ท่านนี้เป็นนักเดินทางตัวจริง เพราะท่านชื่นชอบการท่องเที่ยวมาก จะไปเป็นกลุ่มกับครอบครัวหรือเพื่อน หรือไปเดี่ยวกับทัวร์ แม่ไม่เคยเกี่ยง เกี่ยงอยู่อย่างเดียวก็คือ การไปเที่ยวที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจร่างกายนี่แหละ ทั้งที่ราคาค่าตรวจร่างกายถูกกว่าค่าทัวร์ต่างประเทศของแม่เป็นไหนๆAdvertisement
เพราะความไม่ชอบตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลนี่แหละ ทำให้ลูกชายคนเดียวมักชวนแม่มาเที่ยวหาผม เพื่อพูดคุยตามประสาคนสนิทและเป็นการตรวจร่างกายไปในตัวเสมอ จนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา คู่แม่ลูกก็มาพบผมอย่างที่ทำเป็นประจำทุกๆ 2 – 3 เดือน ต่างกันตรงรอบนี้สีหน้าเพื่อนดูกังวล เมื่อถามจึงบอกว่า แม่มีอาการคันตรงปานที่ต้นขาด้านใน เพื่อนสังเกตว่าปานมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่แม่กลับไม่คิดอย่างนั้น
“โอ๊ย ปานดำนี่แม่มีมาตั้งแต่เกิดแล้วหมอ เราโตขึ้น ปานก็โตขึ้นตามตัวเรานี่แหละ ไม่มีอะไรหรอก”
แต่เพื่อนบอกว่า ระยะหลังแม่เกาตรงปานบ่อย สลับกับการเอายาหม่องน้ำมาทาๆ เพื่อให้อาการคันทุเลาลง แต่อาการคันก็ไม่เคยหายขาด บางครั้งก็เกาจนเลือดออก แม่จึงเกาๆ ทาๆ แบบนี้มาระยะหนึ่ง ถึงอย่างนั้นแม่ก็ยังบอกว่า “ไม่มีอะไรหรอก” เรื่อยไป จนเพื่อนทนไม่ได้ เลยพามาปรึกษาผมซึ่งเป็นหมอคนเดียวที่แม่ยอมมาหา เพราะเหมือนมาเยี่ยมลูกหลาน ไม่เหมือนการไปตรวจร่างกาย
ผมลองสังเกตและสัมผัสดู พบความผิดปกติ 2 อย่างซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเลย
หนึ่ง คือ เมื่อมองจากด้านบนลงไป รูปทรงของปานดูแปลกๆ ต่างจากปานทั่วไปที่จะขยายออกด้านข้างในลักษณะที่ค่อนข้างสมดุล แต่ปานของแม่หยึกหยักยึกยือและไม่สมดุลเลย
สอง คือ เมื่อมองจากด้านข้างรู้สึกว่าผิวไม่เรียบ เมื่อสัมผัสก็รู้สึกว่าขรุขระ เป็นตะปุ่มตะปํ่าคล้ายเปลือกส้ม ทั้งที่ปานทั่วไปต้องผิวเรียบ
พบลักษณะ 2 ข้อนี้ ผมเองก็ค่อนข้างมั่นใจเหมือนเพื่อนว่าสัญญาณไม่ดีแน่ๆ แต่จะให้ชัวร์ควรพบหมอเฉพาะทางด้านผิวหนังจะดีที่สุด จึงแนะนำเพื่อนให้พาแม่ไปพบเพื่อนหมอที่เป็นแพทย์ผิวหนังฝีมือเยี่ยมท่านหนึ่ง ซึ่งเพื่อนหมอท่านนี้ก็แนะนำให้ตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy)ไปส่งตรวจทันที
ผล คือ แม่เป็น “โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเบซอลเซลล์คาร์ซิโนมา” (Basal Cell Carcinoma) ครับ
เมื่อทราบผลตรวจ ทั้งแม่และเพื่อนตกใจมาก แต่โชคยังดีที่มะเร็งชนิดนี้เป็นชนิดที่ไม่รุนแรงมากและตรวจพบได้เร็ว อาการจึงยังอยู่ในระยะเริ่มต้น (Stage 0) ยังไม่มีการลุกลามแพร่กระจายไปที่ร่างกายส่วนอื่น ๆ แต่ถึงอย่างนั้นคุณหมอก็ไม่ไว้วางใจ ส่งตรวจเอกซเรย์ทั่วร่างกาย แต่ก็ไม่พบความผิดปกติ
กระบวนการต่อมาคือ การผ่าตัดคว้านเอาเนื้อบริเวณที่เป็นปานออกซึ่งก็กว้างพอสมควรและตัดต่อมน้ำเหลืองบางส่วน จากนั้นก็นำเนื้อบริเวณสะโพกมาปิดบริเวณที่คว้าน และนำเนื้อบริเวณที่เกิดมะเร็งไปตรวจชิ้นเนื้อโดยละเอียด เพราะในมะเร็งผิวหนังปื้นเดียวอาจพบเซลล์มะเร็ง 2 ชนิดได้
โชคดีที่ท้ายสุดก็ไม่พบความผิดปกติอื่นใด จึงเหลือเพียงรักษาตามอาการจนหายและตรวจร่างกายอย่างต่อเนื่อง นี่ก็ผ่านมาเกือบปี อาการแม่ดีขึ้นตามลำดับ จนเป็นปกติและเตรียมออกท่องเที่ยวต่อได้
“สารทาภายนอก” อาจเป็นโทษได้ หากใช้ผิด
จากเหตุการณ์นี้ หมอว่ามีข้อเตือนใจให้ฉุกคิดหลายอย่าง นอกจากการพบแพทย์เมื่อเกิดภาวะผิดปกติขึ้นในร่างกาย อย่าละเลยแล้ว ยังมีอีก 2 ประการที่หมอว่าควรให้ความสำคัญ
ประการแรก คือ การนำสารทาภายนอก ไม่ว่าจะเป็นครีมหน้าขาว ครีมปรับสีผิว ครีมแก้คันต่างๆ ไปทาบริเวณปาน ไฝ หรือแผลเป็น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะมีผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แล้วว่า สารทาภายนอกอาจไปกระตุ้นให้เซลล์บริเวณนั้นเกิดการแบ่งตัวผิดปกตินำไปสู่การเป็นมะเร็งผิวหนังได้
อย่างในกรณีของคุณแม่ท่านนี้ เพื่อนเล่าให้ฟังว่า ท่านเป็นคนติดยาดม โดยเฉพาะยาหม่องน้ำแบบลูกกลิ้งนี่ชอบมาก ทาถูสูดดมสะดวก แมลงสัตว์กัดต่อยตรงไหนก็ทาถูได้อีก จนเมื่อรู้สึกคันบริเวณปานก็เลยนำมาทาบริเวณปานที่คันด้วย ซึ่งยาดมยาทาสมุนไพรกลุ่มนี้จริงๆ แล้วใช้ได้ปกติไม่อันตราย แต่เมื่อแม่มีการเการ่วมด้วยจนเกิดแผล เกิดเลือดออก ตัวยาที่ซึมเข้าไปในแผลก็อาจเข้าไปกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติได้
ประการที่สอง คือ ตรวจร่างกายเป็นประจำสำคัญเสมอ เพื่อเพิ่มโอกาสการพบความผิดปกติและแก้ไขปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นได้ทันเวลา โดยเฉพาะในเพศหญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ การตรวจภายใน ตรวจเต้านม และตรวจโรคอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ อย่ารอให้ลูกๆ รบเร้ากันจนอ่อนใจเลยครับ
คิดตามผมว่า…หากมะเร็งที่แม่เป็นเป็นชนิดที่ร้ายแรงกว่านี้ การที่แม่เลี่ยงไม่ไปตรวจร่างกายอาจทำให้จุดจบของเรื่องนี้เศร้ากว่าที่เป็นอยู่ก็ได้นะครับ
ข้อมูลจาก ร้อยเอก นายแพทย์สุรชา ลีลายุทธการ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย
คอลัมน์ DR. TALK นิตยสารชีวจิต ฉบับ 510
ที่มา Sanook.com