สารพัดข้อสงสัยเกี่ยวกับหน้ากากอนามัย ในช่วงไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ระบาด เราใช้หน้ากากอนามัยแบบไหนดี หน้ากากผ้าป้องกันไวรัสได้ไหม จำเปนต้องใช้หน้ากาก N95 หรือเปล่า Sanook รวบรวมคำตอบมาให้
เราจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่?
อันดับแรกก่อนเข้าสู่ช่วงคำถามเกี่ยวกับการใช้หน้ากากอนามัย ต้องเข้าใจก่อนว่า จริงๆ แล้วหน้ากากอนามัยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน (surgical mask) ทั้งสีขาว ฟ้า เขียว ฯลฯ ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้ละอองน้ำลายจากการไอ จาม แพร่กระจายสู่อากาศภายนอก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่สูดอากาศเอาละอองน้ำลายของผู้ป่วยเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจติดเชื้อไวรัสได้ (เหมือนกับการติดต่อของโรคหวัดธรรมดาเช่นกัน) ดังนั้นในหลายประเทศ ที่เห็นชัดๆ อย่างประเทศญี่ปุ่น หากใครป่วยเป็นไข้หวัด จึงมักใส่หน้ากากอนามัยเพราะมีวินัยในตัวเอง ป้องกันไม่ให้คนอื่นติดหวัดจากเรานั่นเอง
แต่ในบ้านเราส่วนใหญ่ยังพบว่า แม้ว่าเราจะป่วยเป็นไข้หวัด มีอาการไอ จาม หลายคนยังไม่สวมหน้ากากอนามัย ดังนั้นการสวมหน้ากากอนามัยในช่วงเวลาที่มีการระบาดของเชื้อไวรัส ก็ถือว่าช่วยป้องกันให้ตัวเองได้ในระดับหนึ่ง
แต่พึงระวังไว้เสมอว่า ที่สำคัญยิ่งกว่าการสวมหน้ากากอนามัย คือการล้างมือให้สะอาดอยู่บ่อยๆ ลดการสัมผัสกับสิ่งของสาธารณะ ลดการสัมผัสหน้าตาจมูกปากของตัวเองระหว่างวัน ไม่จับหน้ากากอนามัยที่ตัวเองสวมอยู่ระหว่างวัน และล้างมือก่อนหยิบจับอาหารเข้าปาก จะช่วยลดการติดเชื้อไวรัสได้มากกว่า
หน้ากากแบบไหน ป้องกันโควิด-19 ได้?
เรียงลำดับหน้ากากจากความสามารถในการป้องกันเชื้อไวรัส
หน้ากากผ้า
ความสามารถในการป้องกันเชื้อไวรัส – ต่ำ เพราะวัสดุที่เป็นผ้าไม่สามารถป้องกันความชื้นได้ และยังเสี่ยงต่อการที่เชื้อโรคติดค้างอยู่ในหน้ากากนานกว่าหน้ากากชนิดอื่น
แนะนำให้ใส่ – ผู้มีสุขภาพดีปกติ ไม่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ป้องกันฝุ่นละอองขนาดใหญ่กว่า PM 2.5 เช่น สวมใส่ขณะทำความสะอาดบ้าน เป็นต้น
ไม่แนะนำให้ใส่ – ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส ผู้ป่วยไข้หวัด (ป้องกันละอองน้ำลายออกจากปากและจมูก กระจายสู่อากาศภายนอกไม่ได้มากนัก) ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล เป็นต้น
ข้อควรระวัง – ควรซักก่อนใช้ทุกวัน
หน้ากากอนามัย
ความสามารถในการป้องกันเชื้อไวรัส – ปานกลาง เพราะจริงๆ แล้วหน้ากากอนามัยออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ละอองน้ำลาย “ออก” จากหน้ากากมากกว่าไม่ให้ละอองน้ำลายเข้าผ่านหน้ากาก “เข้า” สู่ปากและจมูกของเรา แต่ด้วยวัสดุกันความชื้น และชั้นกรองต่างๆ ในหน้ากากอนามัย (ที่ได้มาตรฐาน) ก็ช่วยป้องกันละอองต่างๆ ได้บ้าง แต่ด้วยความที่มันบางและหลวมจึงมีโอกาสที่เชื้อโรคต่างๆ จะเล็ดลอดเข้าไปได้เช่นกัน
แนะนำให้ใส่ – ผู้ป่วยโรคไข้หวัดที่มีอาการไอ จาม ผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วย
ไม่แนะนำให้ใส่ – สามารถใส่ได้ทุกคน
ข้อควรระวัง – ต้องพึงนึกเสมอว่า แค่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ได้ป้องกันไวรัสได้ 100% อย่าสัมผัสหน้ากากตัวเองระหว่างวัน และควรเปลี่ยนทุกวันอย่าใช้ซ้ำ และอย่าซักมาใช้ซ้ำเช่นเดียวกัน
หน้ากาก N95
ความสามารถในการป้องกันเชื้อไวรัส – สูง สามารถป้องกันละอองน้ำลายจากผู้ป่วยได้ รวมถึงเชื้อโรคบางชนิด ละอองฝุ่นที่อนุภาคเล็กถึง PM 2.5 ได้มากถึง 95% (ถ้าสวมถูกวิธี) แต่ไม่สามารถป้องกันจากแก๊ส หรือไอน้ำได้
แนะนำให้ใส่ – คนที่ต้องทำงานอยู่ไซต์ก่อสร้าง หรือสถานที่ที่เต็มไปด้วยฝุ่นตลอดเวลา เช่น โรงงานบางแห่ง
ไม่แนะนำให้ใส่ – ผู้ป่วยไข้หวัดธรรมดา และคนทั่วไปที่ไม่ได้ทำงานกับฝุ่น หรือไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นอนุภาคขนาดเล็ก PM 2.5
ข้อควรระวัง – หน้ากาก N95 อาจทำให้หายใจได้ไม่สะดวกมากนัก ไม่ควรใส่ขณะออกกำลังกาย หากไม่ใช่แบบที่ซักได้ก็ไม่ควรนำมาซัก เพราะจะลดประสิทธิภาพในการกรองได้
นอกเหนือจากนี้จะเป็นหน้ากากที่ใช้เฉพาะกับเจ้าหน้าที่ หรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีต่างๆ เช่น หน้ากาก P100 ที่ป้องกันแก๊สได้ หรือหน้ากากสำหรับนักดับเพลิง เป็นต้น
หากอยากเลือกสวมหน้ากากอนามัยเพื่อช่วยป้องกันโควิด-19 ควรเลือกหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งวันต่อวัน หรือถ้าไม่มีหรือกลัวสิ้นเปลือง อาจเลือกเป็นหน้ากาก N95 ชนิดเปลี่ยนเฉพาะไส้กรอง หรือชนิดซักใช้ซ้ำได้ (ถ้ามีอยู่แล้วที่บ้าน) แต่จริงๆ แล้วไม่มีความจำเป็นต้องใช้ถึงหน้ากาก N95 คนที่จำเป็นมากกว่าคือคนที่ต้องสัมผัส หรืออยู่ใกล้ผู้ป่วยติดเชื้อมากๆ เช่น บุคลากรทางการแพทย์
ถ้าไม่มีหน้ากากอนามัยเลยจริงๆ หากเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดี เน้นล้างมือบ่อยๆ กินร้อน ช้อนตัวเอง และงดพบปะสังสรรค์ หรือร่วมกิจกรรม ไปในสถานที่ที่มีคนรวมอยู่เป็นจำนวนมาก ช่วยลดความเสี่ยงในการติดไวรัสได้มากกว่าการใส่หน้ากากเยอะ
ขอบคุณที่มา www.sanook.com บทความโดย Jurairat N.
ไวรัสโคโรนา: “หน้ากากอนามัย” แบบไหน ควรใส่ป้องกัน “โควิด-19”