ช่วงแรกๆ เราอาจจะได้ยินโรคโควิด-19 ว่าเป็นโรคปอดอักเสบ เพราะอาการที่เกิดขึ้นเด่นชัดนอกจากอาการคล้ายหวัดแล้ว คือการที่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ หรือโคโรนา 2019 ที่เพิ่งค้นพบในตอนนั้นเข้าไปทำลายการทำงานของปอด จนทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ อาการที่พบคือเหนื่อยหอบง่าย
แต่เมื่อเวลาผ่านไป งานวิจัยเพิ่มมากขึ้น กรณีศึกษาจากผู้ป่วยรายใหม่ๆ ก็เพิ่มมากขึ้น แพทย์เริ่มทราบการทำงานของเชื้อไวรัสได้มากขึ้นว่า จริงๆ แล้วนอกจากปอด เชื้อไวรัสยังสามารถทำลายอวัยวะอื่นๆ ได้ด้วย
Dr. Eric Cioe-Peña แพทย์ประจำห้องฉุกเฉิน และผู้อำนวยการแผนกสุขภาพโลกประจำศูนย์ Northwell Health ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และหนึ่งในหัวหน้านำทีมแพทย์รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่โรงพยาบาล South Beach ระบุว่า “ในขณะที่ปอดดูเหมือนจะเป็นอวัยวะที่ถูกจ้องทำลายมากที่สุด เพราะภูมิคุ้มกันโรคของเราต่อสู่กับไวรัสโคโรนาได้น้อยมาก แต่จริงๆ แล้วเชื้อไวรัสสามารถกระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ ในร่างกายของเราได้ทั้งหมด”
นอกจากนี้ยังระบุเพิ่มเติมว่า ไวรัส SARS-CoV-2 เข้าสู่ร่างกายผ่านระบบทางเดินหายใจ จากจมูกลึกไปสู่ปอด เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย มันอาจเข้าไปเกาะอยู่กับเอนไซม์ที่พบในเซลล์ระบบทางเดินหายใจ และอาจไหลเวียนไปในส่วนต่างๆ ของร่างกายผ่านกระแสเลือด ซึ่งสามารถไหลเวียนไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้
ระหว่างให้การรักษาในห้องฉุกเฉิน Dr. Eric Cioe-Peña พบผู้ป่วยที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากจากไวรัส หรือพบการติดเชื้อของกล้ามเนื้อหัวใจ หนึ่งในผู้ป่วยที่เขาพบยังมีอาการหัวใจล้มเหลวฉับพลัน หรือเสียชีวิตจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากหัวใจ ที่มาจากการติดเชื้อ
ก่อนหน้านี้ก็พบผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเกี่ยวกับโรคหัวใจที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนเช่นกัน โดยพบว่ามากกว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยมีระบบการทำงานของหัวใจที่เสียหาย
เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 สามารถทำลายการทำงานของปอด และหัวใจได้ เพราะอวัยวะทั้งสองมีเซลล์ที่ถูกห่อหุ้มด้วยเอนไซม์โปรตีนที่มีชื่อว่า angiotensin-converting enzyme 2 (ACE2) ที่เปรียบเสมือนประตูทางเข้าสำหรับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ได้ และอวัยวะส่วนอื่นๆ ก็พบเอนไซม์ชนิดนี้ได้เช่นกัน เช่น ระบบทางเดินอาหาร
ในผู้ป่วยบางรายที่ไม่พบอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ อาจพบว่ามีการติดเชื้อในอวัยวะที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งอาจพบได้ทั้งในลำไส้เล็ก หรือไปจนถึงลำไส้ใหญ่ รวมไปถึงพบเชื้อไวรัสในเอนไซม์ที่อยู่ในตับด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับตับแล้ว Dr. Eric Cioe-Peña มีความเห็นว่า “เราอาจพบการติดเชื้อในตับได้ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก เมื่อเซลล์ตับตายไป เซลล์เหล่านั้นก็จะปล่อยเอนไซม์ออกมาในกระแสเลือด แต่ตับเป็นอวัยวะที่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้เป็นอย่างดี ดังนั้นอาจไม่พบความเสียหายในระยะยาว”
นอกจากตับแล้ว ยังอาจพบการติดเชื้อที่ไตได้อีกด้วยเช่นกัน
เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสใหม่ที่ร่างกายยังไม่เคยพบเจอ จึงยังเป็นช่วงที่ระบบภูมิคุ้มกันยังอยู่ในช่วงเรียนรู้ และหาทางกำจัดไวรัสออกไปจากร่างกาย และอาจส่งผลให้เซลล์ในอวัยวะบางส่วนถูกทำลายไปด้วย แต่เมื่อไรก็ตามที่ภูมิคุ้มกันเริ่มสร้างเกราะป้องกันเชื้อไวรัสนี้ได้ การพบการติดเชื้อหลายอวัยวะในร่างกายก็จะน้อยลงไปด้วย
ขอขอบคุณ https://www.sanook.com
ข้อมูล :Live Science
ภาพ :iStock