ข่าว โควิด-19โรคหัวใจ

ผู้ป่วย “ความดัน-โรคหัวใจ” ลดเสี่ยง “โควิด-19” อย่างไร?

Views

นอกจากผู้สูงอายุแล้ว ผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคความดัน และโรคหัวใจ ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่มีอาจติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) มากกว่าคนปกติ ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรดูแลตัวเองอย่างไรในช่วงนี้

 
ทำไมผู้ป่วยโรคความดัน และโรคหัวใจ ถึงเสี่ยงติดโควิด-19 มากกว่าคนปกติ?

นพ. กฤษฎา วิไลวัฒนากร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ รพ. สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า จากข้อมูลของวารสารการแพทย์ The Lancet ระบุว่า “โรคโควิด-19 มักจะมีความอันตรายกับระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงวัยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง หากติดเชื้อแล้วไม่รีบรักษา อาจมีความเสี่ยงนำไปสู่ภาวะหัวใจวายและเสียชีวิตได้ โดยพบว่าเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ส่งผลให้มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ 17% กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ 7% ส่งผลให้ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวได้ 9% ดังนั้นผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจควรระมัดระวังมากเป็นพิเศษ แม้ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดและมีนัยสำคัญถึงความแตกต่างในหลายงานวิจัยก็ตาม”

 
ยาลดความดันสูง ส่งผลต่อการป้องกันเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ร่างกายหรือไม่?

ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาลดความสูงตามแพทย์สั่งอาจมีความกังวลใจว่า ในช่วงที่มีเชื้อไวรัสระบาดแบบนี้ ยาที่ตัวเองรับประทานอยู่จะเข้าไปลดภูมิต้านทานโรคหรือไม่ หรือส่งผลกระทบอย่างไรต่อร่างกายที่ทำให้ร่างกายติดเชื้อไวรัสง่ายขึ้นหรือไม่

มีสมมติฐานว่า ยาลดความดันสูงในกลุ่ม ACE inhibitor ที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิต โรคหัวใจ และโรคไตในผู้ป่วยเบาหวาน หรือยาที่ควบคุมการทำงานของ ACEII (ย่อมาจาก Angiotensin-converting enzyme 2 ที่เป็นตัวรับชนิดหนึ่งที่อยู่ในปอด เสมือนเป็นแม่กุญแจที่เมื่อเจอกับเชื้อไวรัสก็จะทำให้ร่างกายติดเชื้อ) เมื่อรับประทานยาลดความดันกลุ่มนี้ ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 เนื่องจากไปทำให้เซลล์ในร่างกายมีตัวรับ หรือแม่กุญแจที่รับไวรัสเพิ่มมากขึ้น

 
ผู้ป่วยโรคความดัน ควรหยุดรับยาลดความดันในช่วงโควิด-19 ระบาดหรือไม่?

นพ. กฤษฎา ระบุว่า “จากวารสารทางการแพทย์หลายฉบับ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 (Position Statement ของ Council on Hypertension of the European Society of Cardiology, Hypertension Canada และ The Canadian Cardiovascular Society and the Canadian Heart Failure Society) ระบุตรงกันว่าหลักฐานในปัจจุบันยังมีไม่มากและชัดเจนพอในการบ่งชี้ว่าต้องหยุด ลดขนาด หรือเปลี่ยนยาลดความดันเป็นกลุ่มอื่น ดังนั้นขอให้ผู้ป่วยใช้ยาในกลุ่มนี้ตามเดิม การหยุดอาจส่งผลเสียกับผู้ป่วยมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ”

 
ผู้ป่วยโรคความดัน โรคหัวใจ ควรดูแลตัวเองอย่างไรในช่วง “โควิด-19” ระบาด?

  1. ตรวจสุขภาพเป็นประจำ
  2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  3. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  4. หากมีประวัติสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ต้องสงสัยภายใน 14 วันแล้วมีอาการไข้ ไอ น้ำมูก หายใจเหนื่อย ควรพบแพทย์เพื่อคัดกรองและหาสาเหตุแต่เนิ่นๆ จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางปอด หัวใจ และไตที่อาจเกิดขึ้นได้
  5. ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันปอดบวม (Pneumococcal Vaccine) หากมีข้อบ่งชี้ในผู้สูงวัยที่มีโรคปอดหรือโรคหัวใจ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายควบคู่ไปด้วยกันกับการดูแลตัวเอง

ขอขอบคุณhttps://www.sanook.com

ข้อมูล :นพ. กฤษฎา วิไลวัฒนากร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ รพ. สมิติเวช สุขุมวิท,วารสารการแพทย์ The Lancet,JAMA Network

ภาพ :iStock

Leave a Reply