โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน เป็นโรคอันตรายที่อาจเกิดขึ้นไดกับผู้สูงอายุหลายๆ คน โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยได้ตรวจสุขภาพ จึงไม่เคยรู้ว่าตัวเองอาจมีความเสี่ยงต่อโรคนี้ แต่ด้วยความใส่ใจในสุขภาพที่มากขึ้นของคนไทย จึงทำให้ผู้สูงอายุหลายคนมีโอกาสเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และอาจทราบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันในระยะแรกๆ ที่ยังสามารถดูแลอาการของตัวเองให้อยู่ในระยะปลอดภัยได้
การดูแลตัวเอง เมื่อป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน
- รับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ไม่หยุดยาเอง แม้ว่าจะรู้สึกว่าอาการดีขึ้น ไม่มีอาการผิดปกติแล้วก็ตาม หากอยากหยุดยา ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อน เพื่อทำการตรวจสุขภาพหัวใจอีกครั้ง
- ควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจทำให้อาการของโรคกำเริบ เช่น ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเสมอ ควบคุมอาการของโรคเบาหวาน รวมถึงระดับไขมันในเลือดควรอยู่ในเกณฑ์ปกติด้วย
- พบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากไม่แน่ใจว่าควรออกกำลังกายอย่างไรไม่ให้รู้สึกเหนื่อย หรือกลัวว่าจะออกกำลังกายหนักเกินไป ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนเริ่มออกกำลังกายว่าควรใช้วิธีอะไร มากเท่าไร รวมถึงหากมีอาการผิดปกติอย่างไรจึงควรหยุด
- งดการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์
- จัดการกับความเครียดของตัวเอง ไม่เครียดจนเกินไป หากรู้ตัวว่ากำลังเครียด ควรหยุดคิดเรื่องนั้นๆ แล้วหาทางผ่อนคลายอารมณ์ เช่น ทำงานอดิเรกที่ชอบ ดูหนังฟังเพลงที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เป็นต้น
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน แม้ว่าจะเป็นโรคที่สามารถควบคุมอาการได้หลังพบแพทย์ แต่หากไม่ดูแลตัวเองให้ดี ไม่หยุดพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ก็ยังอาจมีโอกาสที่โรคจะกำเริบขึ้นได้ และเมื่อถึงเวลานั้นอาจไม่มีใครอยู่เคียงข้างคุณ และช่วยเหลือได้ทันท่วงทีไปเสียทุกครั้ง ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองหลังตรวจพบว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ไม่ปล่อยปละละเลยสุขภาพของตัวเอง รีบหาทางรักษา และมีวินัยกับตัวเองให้มากๆ จะช่วยควบคุมโรคจนสามารถดำเนินชีวิตเหมือนคนสุขภาพแข็งแรงปกติทั่วไปได้ไม่ยาก
ขอขอบคุณ https://www.sanook.com
ข้อมูล :อ.นพ. ชัยศิริ วรรณลภากร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย,โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ภาพ :iStock