สายฝนที่เข้ามาช่วยคลายร้อน และทำให้สภาพแวดล้อมดูชุ่มฉ่ำ จะว่าไปก็ดีอยู่หรอก แต่ติดอยู่อย่างเดียวตรงที่หน้าฝนมักจะพาโรคประจำฤดูมาด้วย ดังนั้นคนก็จะป่วยกันง่ายขึ้น ซึ่ง ณ จุดนี้ ใครมีไข้ ไอ จามขึ้นมา ก็คงเริ่มใจไม่ดี กลัวจะติดโควิด 19 กันแล้ว วันนี้เราเลยจะพามาเช็กอาการของโรคหน้าฝนยอดฮิตกันอีกที กรองให้ดีจะได้ไม่สับสนกับอาการ COVID-19
1. ไข้หวัดทั่วไป
ไข้หวัดเกิดจากไวรัส เช่น กลุ่มไรโนไวรัส (Rhinoviruses) และโคโรนาไวรัส (Coronaviruses) ซึ่งเป็นเชื้อตระกูลเดียวกับเชื้อก่อโรคโควิด แต่เป็นคนละสายพันธุ์กัน และเป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรง ทั้งนี้ แม้ไข้หวัดทั่วไป (Common Cold) จะเกิดได้ทุกฤดู แต่ในช่วงหน้าฝนที่มีความชื้นในอากาศ บวกกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้เราเป็นหวัดได้ง่ายขึ้น
อาการที่คล้ายโควิด 19
ในเมื่อเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจเหมือนกัน อาการแสดงของโรคก็จะใกล้เคียงกันมาก โดยจะเริ่มจากอาการคัดจมูก จาม มีน้ำมูก และไอ แต่ไข้หวัดทั่วไปจะไม่ค่อยมีไข้สูง บางคนอาจมีไข้ต่ำ ๆ แล้วดีขึ้นภายในไม่กี่วัน หรืออาจไม่มีไข้เลยก็ได้ ส่วนอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก อาการจะดีขึ้นเองภายใน 3-4 วัน ซึ่งต่างจากโควิด 19 ที่มีไข้สูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียสนานหลายวัน ดังนั้น ก่อนจะคิดว่าติดโควิดไหม ลองพิจารณาความเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ได้ไปในพื้นที่เสี่ยงหรือเปล่า สัมผัสผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อไหม หรือไปสัมผัสสารคัดหลั่งจากไหนมาบ้าง
2. ไข้หวัดใหญ่
ขึ้นชื่อว่าไข้หวัดเหมือนกัน แต่เชื้อก่อโรคเป็นคนละตัวนะ โดยไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส Influenza ซึ่งเป็นไวรัสกลุ่มเดียวกับไข้หวัดนก อย่างไรก็ตาม ไข้หวัดใหญ่ก็เป็นโรคในทางเดินระบบหายใจส่วนต้นเช่นเดียวกับไข้หวัดและโควิด-19 ดังนั้นอาการแสดงของโรคก็จะคล้าย ๆ กัน
อาการที่คล้ายโควิด 19
ไข้หวัดใหญ่จะมีไข้สูง 38-40 องศาเซลเซียสหลายวัน จนรู้สึกหนาวสั่น มีอาการเจ็บคอ ไอจากหลอดลมอักเสบ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร และหากรุนแรงอาจจะมีอาการปอดอักเสบ ปอดบวมได้ ซึ่งอาการที่ว่ามานี้คล้ายกับโควิดมาก โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะไปพบแพทย์เมื่อไข้ไม่ลด ดังนั้น แพทย์อาจจะซักประวัติเพิ่มเติมว่าเราเคยเดินทางไป-มาจากพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ หรือเคยสัมผัสผู้ติดเชื้อหรือเปล่า หากเข้าข่ายต้องสงสัย แพทย์อาจส่งตรวจหาโควิด
ไข้หวัดใหญ่ H1N1 รู้ให้ครบทั้งอาการ และวิธีป้องกันก่อนจะป่วย !
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี อาการแบบนี้คือป่วย !
3. ตาแดง
ตาแดง เป็นโรคติดต่อที่มักจะเกิดในหน้าฝน มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มอะดิโนไวรัส (Adenovirus) หรือการติดเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ ที่อยู่ในน้ำสกปรก น้ำขัง ซึ่งอาจกระเด็นเข้าตาและทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ๆ
อาการที่คล้ายโควิด 19
อาการตาแดงยังเป็นหนึ่งในสัญญาณเบื้องต้นของการติดโควิด 19 ได้ด้วยเหมือนกัน แต่ก่อนจะคิดไปไกล ลองเช็กให้แน่ใจว่าตาแดงที่เราเป็นมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย โดยหากเป็นตาแดงจากแบคทีเรีย จะมีขี้ตาสีเหลืองหรือสีเขียวร่วมกับอาการตาแดงด้วย แต่หากเป็นการติดเชื้อไวรัส จะมีอาการตาแดงร่วมกับมีน้ำใส ๆ ออกมา ดังนั้น ถ้ามีอาการตาแดงพร้อมกับมีน้ำใส ๆ และเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะติดโควิดมาจากไหนสักแห่ง ให้สังเกตดูว่าเรามีไข้สูงเกิน 37.5 องศาเซสเซียส ร่วมกับอาการทางเดินหายใจด้วยไหม
ตาแดงเกิดจากอะไร จ้องตากันจะติดเชื้อไหม
4. คออักเสบ
โรคคออักเสบเกิดจากเชื้อไวรัสเป็นส่วนใหญ่ ในกลุ่มไรโนไวรัส (Rhinoviruses) และโคโรนาไวรัส (Corona viruses) ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับไข้หวัดทั่วไป นอกจากนี้ เชื้อแบคทีเรียในกลุ่มสเตรปโตคอกคัส (Streptococcus spp.) ก็ทำให้คออักเสบได้เช่นกัน โรคนี้มักติดต่อกันได้ผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย เสมหะจากการไอ จาม หรือหายใจรดกัน หรือมือที่เปื้อนเชื้อโรคไปสัมผัสจมูกหรือปาก ทำให้มีอาการเจ็บคอ กลืนเจ็บ ไอ ปวดศีรษะ เป็นไข้ หรือมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต ในเคสที่คออักเสบจากเชื้อไวรัส แต่หากเป็นคออักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย จะมีอาการไข้สูง เจ็บคอมาก คอแดงมาก และพบจุดหนองที่คอ
อาการที่คล้ายโควิด 19
อาการเจ็บคอและไข้สูงอาจทำให้เข้าใจผิดว่าติดโควิด 19 ได้ แต่ทั้งนี้ก็ควรพิจารณาถึงความเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วยนะคะ โดยเฉพาะอาการมีไข้สูงไม่ลดเลย หายใจหอบเหนื่อย ร่วมกับมีประวัติเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ
5. หลอดลมอักเสบ
โรคหลอดลมอักเสบเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเหมือนไข้หวัด และส่วนใหญ่มักจะเกิดตามหลังอาการหวัดที่ไม่ได้รับการรักษา หรือปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง ทำให้เชื้อลามไปถึงหลอดลม ก่อโรคหลอดลมอักเสบได้ โดยเฉพาะคนที่มีอาการหวัด ไอ มีเสมหะนานกว่า 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ ผู้ป่วยหลอดลมอักเสบจะมีอาการไอ มีเสมหะ หายใจลำบาก หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจดังหวีด โดยอาจมีอาการเจ็บคอ แสบคอ หรือเจ็บหน้าอกด้วยได้
อาการที่คล้ายโควิด 19
อาการไอและหายใจเหนื่อยหอบของโรคหลอดลมอักเสบอาจทำให้สับสนกับอาการโควิด 19 ได้ แต่ก็อย่าลืมพิจารณาปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย ทว่าหากมีอาการหลอดลมอักเสบ มีไข้ ไอหนักมาก ไม่มีทีท่าว่าจะเบาลงเลย แบบนี้ก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาเช่นกัน
6. มือ เท้า ปาก
ภาพจาก frank60 / Shutterstock.com
อีกหนึ่งโรคหน้าฝนยอดฮิตที่มักจะเกิดกับเด็ก ๆ เป็นส่วนใหญ่ โดยโรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ติดต่อกันได้ง่าย ๆ ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางจมูก ลำคอ และน้ำในตุ่มใสโดยตรง หรือติดผ่านการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อน รวมไปถึงการไอ จาม รดกันก็สามารถติดโรคนี้ได้
สำหรับอาการมือ เท้า ปาก ส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง คือ มีไข้ต่ำ ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว ประมาณ 1-2 วัน จากนั้นจะเริ่มเจ็บปาก กินอาหารลำบาก มีตุ่มแดงที่เหงือก ลิ้น กระพุ้งแก้ม โดยตุ่มนี้จะเป็นตุ่มพองใส รอบแผลจะอักเสบแดง สักพักตุ่มน้ำใสจะแตก กลายเป็นหลุมตื้น ตามมาด้วยผื่นที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบผื่นที่ก้น แขน ขา อวัยวะสืบพันธุ์ด้วย ทั้งนี้ อาการจะทุเลาหลัง 7-10 วัน และหายได้เอง แต่จะทิ้งรอยแผลเป็นไว้ต่างหน้า
อาการที่คล้ายโควิด 19
อาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ไอ มีน้ำมูกใส บวกกับมีตุ่มขึ้นตามมือ เท้า อาจพบได้บ้างในผู้ป่วยโควิด 19 เช่นกัน แต่อาการเด่นของโรคมือ เท้า ปาก คือจะมีตุ่มพองใสตามเหงือก ลิ้น กระพุ้งแก้มด้วย หลังจากนั้นตุ่มน้ำจะแตก ซึ่งแตกต่างจากโควิด 19 ที่มักพบผื่นแดงและตุ่มน้ำตามลำตัว และอย่างที่บอกว่าโรคนี้มักจะระบาดในเด็ก ดังนั้น หากลูกหลานป่วยก็มีแนวโน้มจะเป็นโรคมือ เท้า ปาก มากกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่หากมีอาการเช่นนี้ควรไปพบแพทย์ก่อน เพราะโรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายมาก
โรคมือเท้าปาก อาการที่มักระบาดในหน้าฝน
7. ไวรัส RSV
ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) มักระบาดในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เป็นไวรัสที่เจริญเติบโตได้ดีในช่วงที่มีอากาศชื้น โดยเฉพาะฤดูฝน สามารถติดต่อกันได้ง่าย ผ่านการสัมผัสใกล้ชิด สัมผัสสารคัดหลั่ง หรือทางลมหายใจ ทั้งนี้ เด็กสามารถรับเชื้อไวรัส RSV ได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยมีระยะฟักตัว 2-6 วัน หลังจากสัมผัสเชื้อ
ส่วนอาการติดไวรัส RSV คือ จะมีไข้สูงสลับไข้ลด ไอมากคล้ายเสียงสุนัขเห่า มีเสมหะเยอะและเหนียวข้น จามบ่อย มีน้ำมูกใส ๆ ไหลตลอดเวลา ปีกจมูกบานเวลาหายใจ หายใจแรง หอบเหนื่อย มีเสียงวี้ดขณะหายใจ หน้าอกบุ๋ม หากเป็นมากอาจมีอาการตัวเขียวจากภาวะขาดออกซิเจน
อาการที่คล้ายโควิด 19
ภาวะหายใจหอบเหนื่อยของอาการติดเชื้อ RSV ร่วมกับอาการไข้สูง อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่คิดว่าลูกอาจติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 หรือเปล่า แต่ขอให้พิจารณาอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีภาวะตัวเขียวจากการขาดออกซิเจนไหม เสียงไอคล้ายสุนัขเห่าหรือเปล่า หรือมีโอกาสได้สัมผัสเชื้อโควิด 19 มากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นอาการ RSV หรือโควิด 19 ก็ควรได้รับการตรวจรักษาโดยแพทย์ เพราะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ไวรัส RSV คืออะไร พร้อมวิธีสังเกตอาการ และป้องกันลูกน้อยจากไวรัส RSV
8. ไข้เลือดออก
ไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี มียุงลายเป็นพาหะของโรค โดยอาการเริ่มแรกจะมีไข้สูงลอย 39-40 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-7 วัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง หากมีอาการรุนแรงจะอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายเป็นสีดำจากภาวะเลือดออกในร่างกาย และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจมีระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ มีภาวะช็อก ไตวาย และอาจเสียชีวิตได้
อาการที่คล้ายโควิด 19
ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเหมือนกัน ปวดเมื่อยตัวเหมือนกัน แต่ไข้เลือดออกจะไม่มีอาการไอ จาม มีน้ำมูก หายใจหอบเหนื่อย ซึ่งเป็นกลุ่มอาการทางเดินหายใจ นอกจากนี้ผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการปวดกระบอกตา และถ้าเป็นมาก จะมีอาการกดเจ็บบริเวณชายโครงขวาด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้จะไม่เจอในผู้ป่วยโควิด
อย่างไรก็ตาม อาการไข้เลือดออกจะเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความสับสนทั้งกับไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดธรรมดา รวมไปถึงโควิด 19 ด้วย ซึ่งเราได้เปรียบเทียบอาการให้เห็นได้ชัด ๆ ดังนี้
ไข้เลือดออก โรคตัวร้ายที่มียุงลายเป็นพาหะ อันตรายถึงชีวิต !
9. ไข้มาลาเรีย
อีกหนึ่งโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ โดยพาหะไข้มาลาเรียจะเป็นยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียอยู่ แล้วหากยุงตัวนี้มากัดคน เชื้อมาลาเรียจะก่อให้เกิดอาการไข้ต่ำ ๆ คล้ายไข้หวัด ต่อมาจะมีไข้สูง ตัวร้อนจัด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัวและกล้ามเนื้อ หนาวสั่นสลับเหงื่อออก บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร ซึ่งอาการเหล่านี้จะปรากฏหลังได้รับเชื้อมาแล้วประมาณ 10-14 วัน
อาการที่คล้ายโควิด 19
อาการไข้มาลาเรียเกือบทั้งหมดมีความคล้ายกับอาการโควิด 19 นอกจากอาการหนาวสั่นสลับเหงื่อออก ที่ยังไม่มีรายงานว่าพบอาการนี้ในผู้ป่วยโควิด แต่อย่างไรก็ตาม ไข้มาลาเรียก็เป็นโรคที่ควรได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด ดังนั้น หากมีอาการป่วยดังที่กล่าว ควรรีบพาผู้ป่วยไปรักษาตัวกับแพทย์ แต่หากมีประวัติเสี่ยงติดโควิด 19 ด้วย ก็ต้องแจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่โดยละเอียดด้วยนะ
ไข้มาลาเรีย โรคติดต่ออันตราย ป่วยได้เพราะยุง !
10. ชิคุนกุนยา
ชิคุนกุนยามีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า โรคปวดข้อยุงลาย หรือโรคไข้คุณย่า เพราะเป็นโรคที่มีพาหะเป็นยุงลายนั่นเอง แต่เชื้อไวรัสต้นเหตุจะเป็นเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา คนละตัวกับไวรัสก่อโรคไข้เลือดออก โดยไวรัสชนิดนี้จะก่อให้เกิดอาการปวดข้อ ปวดกระดูก มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะมาก ตาแดง แต่ไม่พบจุดเลือดออกในตาขาว อาจมีเลือดออกตามผิวหนัง และมีอาการคันร่วมด้วย ทั้งนี้ โรคชิคุนกุนยาสามารถหายได้เองใน 1-12 สัปดาห์ หรืออาจมีอาการป่วยเรื้อรังเป็นปี แต่ไม่พบอาการรุนแรงถึงขั้นช็อก เสียชีวิต
อาการที่คล้ายโควิด 19
อาการไข้สูงอย่างเฉียบพลันแล้วลดลงอย่างรวดเร็ว ร่วมกับตาแดง ผื่นแดงที่ขึ้นตามร่างกาย อาจทำให้คิดไปถึงอาการโควิด 19 แต่ความแตกต่างของชิคุนกุนยา คือ จะมีอาการปวดตามข้อ กระดูก ปวดกระบอกตา เป็นอาการเด่น ๆ ด้วย ดังนั้น ลองเช็กอาการดี ๆ และอย่าลืมพิจารณาความเสี่ยงของตัวเองกันด้วย
ชิคุนกุนยา โรคติดต่อจากยุงลาย อาการคล้ายไข้เลือดออก
11. ฉี่หนู
โรคฉี่หนูเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) มีสัตว์อย่างหนู สุกร โค กระบือ แพะ แกะ แมว สุนัข เป็นพาหะ ติดต่อได้โดยการสัมผัสปัสสาวะ เลือด และเนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีการติดเชื้อโดยตรง หรือหากสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนเชื้อ เช่น น้ำท่วมขัง โรงฆ่าสัตว์ บ้านที่มีหนูมาก ฟาร์มสัตว์ต่าง ๆ ก็สามารถติดโรคฉี่หนูได้
สำหรับอาการโรคฉี่หนู แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ ติดเชื้อไม่รุนแรง กับติดเชื้อรุนแรง แต่ในเบื้องต้นจะมีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดกล้ามเนื้อ ตาแดง มีอาการคล้าย ๆ ไข้หวัด ซึ่งผู้ป่วยมักจะไม่คิดว่าเป็นโรคฉี่หนู ดังนั้น หากไปลุยน้ำท่วมหรือน้ำขังมาแล้วเป็นไข้ ก็ควรเอะใจถึงโรคนี้ด้วย เพราะหากไม่รักษาให้ทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้เลย
อาการที่คล้ายโควิด 19
อาการเบื้องต้นของโรคฉี่หนูจะคล้าย ๆ อาการเบื้องต้นของโรคโควิด 19 คือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยเนื้อตัว แต่ความแตกต่างที่จะเห็นได้ชัดคือ โรคฉี่หนูจะมีอาการปวดน่อง โคนขา หลัง และหน้าท้อง ไอเป็นเลือด สับสน หรือต่อมน้ำเหลืองโต กดเจ็บกล้ามเนื้อ เป็นต้น
โรคฉี่หนู โรคร้ายที่มาในช่วงฝนตก-น้ำท่วมขัง
12. ปอดบวม
ปอดบวม หรือปอดอักเสบ เป็นโรคติดต่อชนิดเฉียบพลัน มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อในร่างกาย ที่ลามมาติดเชื้อที่ปอดได้ โดยอาจเป็นโรคแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่ โซนัส การติดเชื้อในหูชั้นกลาง โรคหัด หรืออีสุกอีใส เป็นต้น ส่วนอาการแสดงโดยทั่วไปจะมีลักษณะคล้าย ๆ อาการไข้หวัด คือ มีไข้ ไอ จาม เจ็บคอ มีเสมหะ เจ็บหน้าอกเมื่อหายใจแรง ๆ หายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หนาวสั่น เจ็บชายโครง หรือหากติดเชื้อในปอดจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น คือ ขาดออกซิเจน จนทำให้ปากเขียว มือเขียว หรือออกสีม่วง
อาการที่คล้ายโควิด 19
ด้วยความที่โควิด 19 เป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการปอดอักเสบ อาการป่วยของทั้ง 2 โรคนี้จึงค่อนข้างคล้ายกัน และอาการปอดอักเสบก็เป็นหนึ่งในอาการรุนแรงของโควิด 19 ด้วย ดังนั้น หากมีอาการข้างต้น และมีประวัติเสี่ยงติดเชื้อไม่ว่าจะทางไหนก็ตาม ควรไปตรวจโควิด 19 ไว้ก่อน
8 สัญญาณเตือนปอดบวม ปอดอักเสบ สังเกตจากอะไรได้บ้าง ในช่วงฤดูฝนคนจะป่วยกันง่ายขึ้น ดังนั้น พยายามรักษาสุขภาพให้ดี งดไปในพื้นที่สุ่มเสี่ยง มีคนแออัด และพยายามอยู่บ้านให้มากที่สุด อย่างน้อยก็ลดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 หรือโรคติดต่ออื่น ๆ ไปได้เยอะ แต่ถ้าใครมีอาการป่วย อยากตรวจสักหน่อยว่าติดโควิดไหม ลองอ่านข้อมูลนี้ดูก่อนว่าเราเข้าข่ายตรวจฟรีไหม
ตรวจโควิด 19 ที่ไหนดี ตรวจฟรีทำยังไง ถ้าตรวจเจอต้องทำอะไรต่อ ?
ขอขอบคุณข้อมูลจาก:kapook.com