อาหาร กับ สุขภาพ

กล้วยน้ำว้า สรรพคุณไม่ธรรมดา เป็นผลไม้มีฤทธิ์เป็นยาที่ควรกินให้ได้ทุกวัน

Views

มีกล้วยน้ำว้าติดบ้านไว้ กินให้ได้ทุกวันจะดีมาก ๆ โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาถ่ายยาก หรือกินผลไม้ไม่บ่อย จัดกล้วยแค่วันละลูกก็อิ่มแบบได้สารอาหารจุก ๆ เลย
          กล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ไทยที่ออกผลทุกฤดูกาล ราคาไม่แพงมาก บางบ้านยังมีต้นกล้วยเป็นของตัวเอง เก็บผลกล้วยน้ำว้ากินได้ตลอด ซึ่งจัดว่าเป็นความโชคดีด้านอาหารเพื่อสุขภาพเลยก็ว่าได้นะ เพราะกล้วยน้ำว้าสรรพคุณดีต่อสุขภาพมากพอตัวเลยล่ะ ลองมาดูประโยชน์ของกล้วยน้ำว้ากันเลย

กล้วยน้ำว้า กับข้อมูลพื้นฐานที่ควรรู้จัก

          กล้วยน้ำว้ามีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Musa ABB cv. Kluai ‘Namwa’ แต่ชื่อภาษาอังกฤษก็จะเรียก Banana กล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ในวงศ์ Musaceae จัดเป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 3.5 เมตร ลำต้นอยู่ใต้ดิน กาบเรียงเวียนซ้อนกันเป็นลำต้นเทียม ทั้งต้นจะมีสีเขียวอ่อน ใบเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่ ออกเรียงสลับกันอยู่โคน ๆ ต้น ความกว้างของใบกล้วยหรือที่เราเรียกว่าใบตองจะกว้างประมาณ 25-40 เซนติเมตร ยาว 1-2 เมตร ส่วนดอกกล้วยก็คือหัวปลีนั่นเอง และผลก็คือกล้วยน้ำว้าที่เราคุ้นเคยกันดี

กล้วยน้ำว้า

          ต้นกล้วย จัดเป็นพืชที่สารพัดประโยชน์มาก ๆ อย่างใบกล้วยหรือที่เรียกว่าใบตอง นำมาห่ออาหารได้แบบรักษ์โลก หรือจะนำไปประดิษฐ์เป็นงานดอกไม้ก็ได้ หยวกกล้วยก็นำมาทำเมนูอาหารได้ ทั้งแกงหยวกกล้วย ยำหยวกกล้วย หรือมีการใช้หยวกกล้วยเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ก็ดี

          จะเห็นได้ว่าต้นกล้วย 1 ต้น ใช้ประโยชน์ได้แทบจะทุกส่วน ทั้งกาบกล้วย ใบตอง หัวปลี และผลกล้วย ซึ่งก็มีสรรพคุณดี ๆ ตามนี้เลย

ประโยชน์และสรรพคุณของกล้วยน้ำว้า

กล้วยน้ำว้า

1. กล้วยน้ำว้า คุณค่าทางอาหารเพียบ

          กล้วยน้ำว้า 1 ผลเล็ก น้ำหนักส่วนที่กินได้ 40 กรัม ให้คุณค่าทางสารอาหาร ดังนี้

          พลังงาน 59 กิโลแคลอรี

          น้ำ 25 กรัม

          น้ำตาล 9 กรัม

          ใยอาหาร 0.9 กรัม

          เบต้าแคโรทีน 22 ไมโครกรัม

          วิตามินซี 4 มิลลิกรัม

          โปแตสเซียม 128 มิลลิกรัม

          นอกจากนี้ในผลกล้วยทุกชนิดยังมีโปรตีน ไขมัน เกลือแร่ต่าง ๆ โดยเฉพาะแคลเซียม ธาตุเหล็ก วิตามิน กรดอะมิโน เช่น อาร์จินิน ฮิสติดีน และทริปโตเฟน เป็นต้น

2. ช่วยในการเจริญเติบโตของทารก

กล้วยน้ำว้า

          กรดอะมิโนอาร์จินิน และฮิสติดีน ในกล้วยน้ำว้า เป็นกรดอะมิโนจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเด็กทารก และกล้วยน้ำว้ายังเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างเยอะ คุณแม่ส่วนใหญ่เลยมักจะบดกล้วยให้ลูกกินตอนยังเล็ก ๆ อย่างที่เราก็เคยกินกล้วยบดกันมาแล้วนั่นเอง

3. สารต้านอนุมูลอิสระสูง

          โดยเฉพาะสารฟลาโวนอยด์ ที่มีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ ลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ต้านการอักเสบ และลดอาการปวดข้อเข่า เป็นต้น ซึ่งสารฟลาโวนอยด์ในกลุ่มผลไม้ที่มีเนื้อสีขาวอย่างกล้วย ก็มีอยู่หลายชนิดเลยด้วย

4. แก้ท้องผูก

          กล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ที่มีกากใยเยอะพอสมควร และยังเป็นผลไม้น้ำตาลต่ำ สามารถกินครั้งละ 2 ผลได้โดยที่ไม่ต้องกลัวอ้วน และหากจะกินกล้วยน้ำว้าแก้ท้องผูก ให้กินกล้วยน้ำว้าสุกกลาง ๆ ไม่งอมเกิน ไม่ห่ามเกิน ก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง หรือก่อนนอนทุกวัน

5. บรรเทาอาการริดสีดวง

กล้วยน้ำว้า

          อย่างที่บอกว่ากล้วยน้ำว้าจะช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ซึ่งไม่เพียงแต่แก้ท้องผูกได้เท่านั้น แต่ไฟเบอร์ในกล้วยน้ำว้ายังเป็นไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำ (เพกติน) ซึ่งจะช่วยเพิ่มเมือกในลำไส้ ทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม ขับถ่ายง่าย ไม่บาดก้อนริดสีดวงทวาร ด้วยเหตุนี้จึงช่วยบรรเทาอาการริดสีดวงทวารไม่ให้เป็นหนักไปกว่าเดิม และอาจจะช่วยบรรเทาอาการที่เป็นอยู่ได้ด้วย

6. แก้โรคกระเพาะ

          ถ้าอยากได้สรรพคุณกล้วยน้ำว้าในเรื่องรักษาโรคกระเพาะ ต้องเลือกกล้วยน้ำว้าดิบ เพราะในกล้วยน้ำว้าดิบจะมีแทนนิน กรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ฝาดสมาน ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และป้องกันผนังลำไส้ไม่ให้ถูกทำลายโดยเชื้อโรคหรือเอนไซม์ที่มีรสเผ็ดร้อน (จากพริก) จึงช่วยให้อาการแสบท้องของโรคกระเพาะ และแผลในกระเพาะลดน้อยลง

          ทั้งนี้การกินกล้วยน้ำว้าดิบเพื่อรักษาโรคกระเพาะ ให้ปอกเปลือกกล้วยแล้วฝานเนื้อกล้วยน้ำว้าเป็นแผ่นบาง ๆ จากนั้นนำกล้วยที่ฝานไว้ไปตากแดด 2 วัน หรือจนกว่ากล้วยจะแห้งกรอบ จากนั้นนำกล้วยที่แห้งแล้วมาบดเป็นผงละเอียด แล้วตักครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ มาละลายน้ำข้าว น้ำผึ้ง หรือน้ำอุ่น ๆ รับประทานก่อนอาหาร 30 นาที และก่อนนอน

7. แก้ท้องร่วง

          สารแทนนินในกล้วยน้ำว้าดิบมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของอาการท้องร่วงได้ด้วยเช่นกัน โดยให้นำกล้วยน้ำว้าดิบมาหั่นแล้วตากแห้ง จากนั้นบดเป็นผงแป้ง ชงในน้ำร้อนครั้งละ 10 กรัม ต่อน้ำ 1 แก้ว ดื่มรักษาอาการท้องร่วงได้เลย

8. แก้นอนไม่หลับ

กล้วยน้ำว้า

          คนที่นอนหลับยาก นอนไม่หลับบ่อย ๆ กินกล้วยน้ำว้าช่วยแก้นอนไม่หลับได้นะ เพราะกล้วยน้ำว้ามีทริปโตเฟน กรดอะมิโนที่ช่วยกระตุ้นการสร้างสารเซโรโทนิน สารแห่งความสุข สงบ ช่วยให้นอนหลับง่าย ดังนั้นกินกล้วยหลังอาหารเย็น 2 ผล ตามคำแนะนำของ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานคณะกรรมการสาธารณสุข และนายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย ก็จะรู้สึกผ่อนคลาย แก้นอนไม่หลับได้โดยไม่ต้องพึ่งยา

9. ต้านเศร้า

          อย่างที่บอกว่าในกล้วยน้ำว้ามีทริปโตเฟน กรดอะมิโนที่ช่วยสร้างเซโรโทนิน ฮอร์โมนแห่งความสุข ช่วยให้รู้สึกสงบ ผ่อนคลาย นอกจากนี้ เฟซบุ๊กศูนย์ความรู้เทคโนโลยีโรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ยังเผยงานวิจัยที่แนะนำให้กินผลไม้ 2 ชนิด ในปริมาณมากกว่า 2 ชิ้นต่อวัน เพื่อลดอาการซึมเศร้า โดยกล้วยน้ำว้าก็เป็นหนึ่งในผลไม้ที่ถูกแนะนำให้กินด้วยนะ

กล้วยน้ำว้า

ภาพจาก เฟซบุ๊กศูนย์ความรู้เทคโนโลยีโรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

10. ช่วยลดน้ำหนัก

          ในลิสต์ผลไม้ช่วยลดน้ำหนักก็มีกล้วยน้ำว้าเป็นหนึ่งในนั้นด้วย โดยเฉพาะหากกินกล้วยน้ำว้าก่อนรับประทานอาหารสัก 1 ผล น้ำตาลในกล้วย คาร์บ และไฟเบอร์ที่กล้วยมีจะช่วยให้เรารู้สึกอิ่ม ทำให้กินข้าวได้น้อยลง และลดอาการหิวบ่อยได้ด้วยล่ะ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรกินกล้วยน้ำว้าเกิน 4 ผลต่อวันนะคะ เพราะกล้วยน้ำว้า 4 ผล จะให้ปริมาณน้ำตาลที่มากเกินความต้องการของร่างกาย อาจทำให้น้ำตาลสะสมจนเป็นไขมันอันก่อให้เกิดความอ้วนได้นั่นเอง

11. ป้องกันโรคโลหิตจาง

          กล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ที่มีธาตุเหล็กอยู่ในตัว ช่วยกระตุ้นการสร้างฮีโมโกลบิน ป้องกันภาวะโลหิตจาง ทั้งยังช่วยให้พลังงานกับผู้ที่อ่อนแรงได้ด้วย

12. ลดความดันโลหิต

          โพแทสเซียมในกล้วยน้ำว้าคือสารอาหารสำคัญที่มีส่วนช่วยคงระดับความดันโลหิตให้สมดุล ดังนั้นคนที่เป็นโรคความดันสูง พยายามกินกล้วยน้ำว้าให้ได้ทุกวันนะคะ

13. แคลเซียมสูง บำรุงกระดูกและฟัน

กล้วยน้ำว้า

          นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานคณะกรรมการสาธารณสุข และนายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย แนะนำให้กินกล้วยเสริมแคลเซียมให้ร่างกาย โดยกินกล้วยห่าม ๆ ที่นำไปปิ้งจะยิ่งดี เพราะแคลเซียมจะดูดซึมได้มากขึ้นถึง 4 เท่า ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ทั้งยังป้องกันภาวะกระดูกพรุนในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป

14. ช่วยชะลอความแก่

          อย่าลืมว่าในกล้วยน้ำว้ามีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ซึ่งจะช่วยปกป้องเซลล์จากการทำลายของสารอนุมูลอิสระได้ ชะลอความเสื่อมของวัย และในกล้วยน้ำว้ายังอุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ ไฟเบอร์ ที่ช่วยบำรุงผิวพรรณจากภายใน ดังนั้นกินกล้วยน้ำว้าอย่างน้อยวันละ 1 ผลไปเลยเนอะสาว ๆ

นอกจากประโยชน์ของกล้วยน้ำว้าที่เป็นผลไม้แล้ว ต้นกล้วยน้ำว้ายังมีประโยชน์ด้านสุขภาพเกือบทุกส่วนเลยด้วย ดังนี้

ราก : แก้ขัดเบา

ต้น : ห้ามเลือด แก้โรคไส้เลื่อน

ใบ : รักษาแผลสุนัขกัด ห้ามเลือด

ยางจากใบ : ห้ามเลือด สมานแผล

หัวปลี (ช่อดอกกล้วย) : ขับน้ำนม

– 7 ประโยชน์ของหัวปลี กินแทนเนื้อสัตว์ แคลอรีต่ำ

กล้วยน้ำว้า

กล้วยน้ำว้า เลือกซื้อแบบนี้สิดี ประโยชน์จัดเต็ม !

          เรามีทริกในการเลือกซื้อกล้วยน้ำว้าที่จะอุดมไปด้วยสารอาหารมาฝาก ตามหลักการนี้เลย

          * อายุกล้วยควรอยู่บนเครือประมาณ 3-4 เดือน

          * ผลกล้วยควรมีลักษณะกลมมน มีเหลี่ยมน้อย เพราะกล้วยที่เหลี่ยมเยอะจะเป็นกล้วยอ่อน

          * จำนวนกล้วยในหนึ่งหวีควรมีประมาณ 14-16 ผล เพราะจะเป็นกล้วยหวีต้นเครือ ที่มีวิตามินและแร่ธาตุมากกว่ากล้วยปลายเครือที่มีจำนวนผลต่อหวีเยอะ ๆ

กล้วยน้ำว้า เก็บให้เป็น ยืดอายุให้กินได้นาน ๆ

          จากที่เคยซื้อกล้วยน้ำว้ามาวางทิ้งไว้ แล้วผ่านไปสัก 1-2 วัน กล้วยน้ำว้าหวีนั้นก็สุกงอม เราลองมาเปลี่ยนวิธีเก็บกล้วยน้ำว้ากันใหม่ดีกว่า โดยทำตามนี้เลย

          * เลือกซื้อกล้วยน้ำว้าห่าม ๆ มีสีเขียวมากกว่าสีเหลือง

          * ฉีกกล้วยน้ำว้าออกจากหวีทีละลูก จนหมดหวี

          * วางกล้วยที่ฉีกไว้ในอุณภูมิห้อง รอจนกล้วยเริ่มเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ

          * ห่อกล้วยน้ำว้าด้วยกระดาษ (แผ่นละ 2-3 ลูก)

          * นำกล้วยที่ห่อกระดาษแล้วใส่ลงในถุงพลาสติก มัดปากถุงให้เรียบร้อย

          * เก็บกล้วยที่แพ็กไว้ในตู้เย็น ช่องธรรมดา

          * เมื่อต้องการกินกล้วยก็หยิบออกมาจากถุง เท่าจำนวนที่ต้องการกิน

 การเด็ดกล้วยออกจากหวีจะช่วยหยุดการทำงานของสารที่ทำให้กล้วยสุก และการห่อกล้วยด้วยกระดาษก็เพื่อให้กระดาษช่วยดูดซับน้ำจากผลกล้วย ชะลอการสุกของกล้วยได้ ทำให้เรามีกล้วยที่สุกกำลังดีกินได้นานกว่าที่เคย

กล้วยน้ำว้า

กล้วยน้ำว้า กินให้ถูกด้าน ได้ประโยชน์มากกว่า

          วิธีกินกล้วยน้ำว้าที่ถูกต้อง ควรเลือกกล้วยน้ำว้าที่มีสีเหลืองอ่อน ๆ ปนเขียวได้เล็กน้อย ซึ่งจะเป็นช่วงที่กล้วยน้ำว้ากำลังเหมาะสมกับการรับประทาน เพราะกล้วยที่ห่ามเกินไปจะทำให้ท้องอืดจากสารแทนนินในกล้วย ส่วนกล้วยที่สุกเกินไปจะมีปริมาณน้ำตาลมากกว่าปกติ 2 เท่า ดังนั้นเราจึงควรเลือกกินกล้วยน้ำว้าที่ไม่ห่ามไป และไม่งอมจัด โดยสามารถสังเกตได้จากรอยดำบนเปลือกกล้วย หากกล้วยเริ่มดำ ก็นำกล้วยไปทำอาหารอย่างอื่นแทนการกินเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพดีกว่า

          นอกจากนี้วิธีกินกล้วยที่ถูกต้อง ควรปอกเปลือกกินจากบนลงล่าง ไม่ใช่จากปลายผลขึ้นบน คือกินจากจุดลงมานั่นเอง เพราะส่วนจุกของกล้วยน้ำว้าจะมีรสฝาดหน่อย ๆ แต่พอกินไปจนถึงโคนผลจะรู้สึกหวาน ทำให้กินกล้วยได้หมดผล แต่หากกินจากโคนลงมาที่จุก จะได้รสหวานของกล้วยน้ำว้าในช่วงคำแรก ๆ จากนั้นรสชาติกล้วยจะเริ่มฝาด ทำให้กินกล้วยไม่หมดผล สูญเสียโอกาสในการได้รับวิตามินและสารอาหารต่าง ๆ จากกล้วยน้ำว้าไป

เมนูกล้วยน้ำว้า ทำอะไรกินได้บ้าง

กล้วยน้ำว้า

– 14 เมนูกล้วยน้ำว้า เติมความหวานเบา ๆ อาหารคาวก็อร่อย

          – กล้วยฉาบเคลือบน้ำตาล เมนูกล้วยหอมอร่อยเคี้ยวเพลินใครก็ทำได้

          – กล้วยต้ม 3 สูตรเคี้ยวนุ่มหนึบพร้อมเทคนิคต้มให้อร่อยไม่ฝาด

          – 8 วิธีทำของกินเล่นเมนูกล้วย สูตรขนมอร่อยหลากสไตล์หยิบกินเพลิน

กล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ที่หาซื้อได้ง่าย มีให้กินทุกฤดูกาล ราคาก็ไม่แพง แถมยังเก็บไว้กินได้หลายวัน ดังนั้นคนที่ไม่ค่อยได้กินผัก ผลไม้เท่าไร อย่างน้อยมีกล้วยน้ำว้าสักหวีติดบ้านไว้ แล้วหยิบกินบ่อย ๆ ก็จะช่วยให้ได้รับวิตามินจากผลไม้ทุกวัน

ขอบคุณข้อมูลจาก
ช่อง one 31กองโภชนาการ กรมอนามัยโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯสสส.เฟซบุ๊กศูนย์ความรู้เทคโนโลยีโรคซึมเศร้าไทย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขamarinbabyandkidsสำโรงการแพทย์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก:kapook.com

Leave a Reply