งูสวัด (Shingles)
คือโรคติดเชื้อไวรัส มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใส (Chickenpox) หากเชื้อชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายผู้ที่ไม่เคยได้รับเชื้อก็จะทำให้เป็นโรคอีสุกอีใส และเมื่อหายเป็นปกติแล้ว เชื้อดังกล่าวจะหลบอยู่บริเวณปมประสาทของร่างกาย และจู่โจมร่างกายเมื่อร่างกายอ่อนแอจนเกิดเป็นงูสวัด
งูสวัดเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มักจะเกิดกับผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้หากได้รับการรักษาทันท่วงที ยิ่งพบแพทย์ไว ก็จะยิ่งลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน หากปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้เช่นกัน
อาการของงูสวัด
สัญญาณของอาการงูสวัดมักจะเริ่มต้นขึ้นจากบริเวณเล็ก ๆ ของร่างกายฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ก่อนจะเริ่มลุกลามไปยังบริเวณอื่นในฝั่งร่างกายเดียวกัน ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหัวและมีไข้ จากนั้นจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนัง บางรายอาจมีอาการชาด้วย เมื่อใช้มือสัมผัสแล้วจะรู้สึกเจ็บ ซึ่งในช่วงนี้จะเป็นช่วงระยะฟักตัว จากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ บริเวณที่ปวดจะมีผื่นสีแดงขึ้น ก่อนจะกลายเป็นตุ่มน้ำในเวลารวดเร็ว โดยตุ่มน้ำอาจเกิดขึ้นในลักษณะเป็นกลุ่ม และเรียงเป็นเส้นยาวไปตามแนวของเส้นประสาท บริเวณที่พบผื่นงูสวัดได้มากที่สุดคือบริเวณอกและเอวข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งมีโอกาสน้อยมากหรือแทบไม่มีโอกาสเลยที่จะเกิดงูสวัดขึ้นทั้ง 2 ข้างของร่างกายในคนปกติ บางครั้งอาจมีผื่นขึ้นที่บริเวณใบหน้า คอ หรือในดวงตาได้อีกด้วย จากนั้นตุ่มน้ำจะแตกและตกสะเก็ด โดยจะใช้เวลาประมาณ 2-6 สัปดาห์กว่าจะหายเป็นปกติ หลังจากที่อาการทางผิวหนังหายไปแล้ว ทว่าผู้ป่วยบางคนอาจไม่มีอาการให้เห็นทางผิวหนัง แต่อาจมีผลกระทบต่อระบบหัวใจ ปอด และไตอันเนื่องมาจากการถูกจู่โจมจากเชื้อไวรัสไปยังเส้นประสาท ซึ่งในกรณีนี้เป็นไปได้น้อยมาก
สาเหตุของงูสวัด
งูสวัดมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus: VZV) ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกับเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส โรคอีสุกอีใสสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่งูสวัดนั้นจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนเท่านั้น โดยเมื่อเชื้อดังกล่าวจู่โจมร่างกายจนเป็นโรคอีสุกอีใสแล้วก็จะไปหลบตามปมประสาท และกลายเป็นงูสวัดในภายหลัง ขณะที่กลุ่มเสี่ยงโรคงูสวัดโดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาทางด้านระบบภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่ใช้การรักษาด้วยยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ผู้ที่อยู่ในช่วงการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีวิทยาหรือเคมีบำบัด เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอกว่าคนปกติจึงทำให้เสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป
การวินิจฉัยงูสวัด
ผู้ป่วยสามารถวินิจฉัยอาการได้ด้วยตนเองในระยะที่เริ่มมีผื่นขึ้น โดยจะเกิดกับผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาแล้วเท่านั้น หากมีผื่นขึ้นอย่างผิดปกติที่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ร่วมกับอาการปวด แสบร้อนบริเวณผื่นที่ขึ้น อาจมีอาการคัน และมีไข้ร่วมด้วย ก็สามารถสันนิษฐานได้เบื้องต้นว่าอาจเป็นงูสวัด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอีกครั้ง ทั้งนี้แพทย์จะทำการซักถามประวัติว่าเคยป่วยด้วยโรคอีสุกอีใสหรือไม่ และจะตรวจดูว่ามีผื่นและตุ่มน้ำเกิดที่บริเวณใดของร่างกาย จากนั้นแพทย์อาจมีการสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยนำเนื้อเยื่อหรือน้ำของเหลวในตุ่มน้ำไปตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยอีกครั้งและทำการรักษาต่อไป
การรักษางูสวัด
โรคงูสวัดอาจเป็นซ้ำได้ การรักษาจะรักษาตามอาการร่วมกับใช้ยาต้านไวรัสเพื่อเร่งกระบวนการการหายของโรคและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยาลดอาการปวด เช่น ยากลุ่มลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาต้านเศร้า และยาทาบางชนิด เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดที่รุนแรงของงูสวัด หลังจากอาการทางผิวหนังหายเป็นปกติแล้วยังมีอาการปวดต่อเนื่องซึ่งเป็นอาการที่พบได้หลังจากเป็นงูสวัด แพทย์อาจจะจ่ายยารักษาอาการปวดที่ปลายประสาทร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของงูสวัด
เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถจู่โจมตามเส้นประสาทตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกาย ภาวะแทรกซ้อนจึงเกิดได้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียการมองเห็นอันเนื่องจากเกิดแผลในกระจกตา การติดเชื้อที่ผิวหนัง อาการปวดที่ปลายประสาท หรือปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทและเส้นประสาท เช่น รัมเซย์ ฮันท์ ซินโดรม (Ramsay Hunt Syndrome) บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือไข้สมองอักเสบ ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้อันตรายถึงชีวิต แต่ก็เกิดขึ้นได้น้อยในผู้ป่วยโรคงูสวัด ทั้งนี้การได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
การป้องกันงูสวัด
เราสามารถป้องกันโรคงูสวัดได้โดยการป้องกันไม่ให้ร่างกายรับเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ตั้งแต่แรก วิธีการป้องกันแบบง่าย ๆ คือ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอจนเปิดโอกาสให้เชื้อไวรัสดังกล่าวจู่โจมร่างกาย ทั้งนี้ หากยังไม่เคยป่วยด้วยโรคอีสุกอีใสมาก่อนก็ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อ หรือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ก็เป็นการป้องกันอีกทางหนึ่ง
ข้อมูลจาก: www.pobpad.com
ขอขอบคุณhttp://www.saintlouis.or.th/