นิ้วล็อก “ภัยเงียบ ยุคสังคมเมือง”
นิ้วล็อก เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทั่วไปที่ต้องใช้มือจับสิ่งของ หรืออุปกรณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่องบ่อยๆ โรคนี้ไม่มีอันตรายร้ายแรงใดๆ เพียงแต่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด และใช้มือไม่ถนัด แต่สามารถป้องกันและรักษาหายได้ วิธีและแนวทางรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและดุลยพินิจของแพทย์ อย่างไรก็ตาม ควรปรับพฤติกรรมการใช้นิ้วมือให้เหมาะสม ทั้งหลีกเลี่ยงการใช้นิ้วเกี่ยวของหนักๆ หรือลดระยะเวลาการเล่นสมาร์ตโฟนลง ก่อนเกิดอาการนิ้วล็อกหรือก่อนที่อาการของโรคจะดำเนินไปมากขึ้นกว่าเดิม
ระยะแรกมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือกำมือไม่ถนัดโดยเฉพาะตอนเช้าหลังตื่นนอนพอใช้มือไปสักพักหนึ่งก็จะกำมือได้ดีขึ้น บางคนจะสังเกตว่าเวลางอแล้วเหยียดนิ้วมือจะได้ยินเสียงดังกึกต่อมาจะมีอาการนิ้วล็อกคือเวลางอนิ้วมือแล้วเหยียดขึ้นเองไม่ได้มักเกิดกับมือข้างถนัดที่ใช้งานนิ้วที่เป็นบ่อยได้แก่นิ้วหัวแม่มือนิ้วกลางและนิ้วนางอาจเป็นเพียงนิ้วเดียวหรือเป็นพร้อมกันหลายนิ้วก็ได้และอาจเป็นที่มือข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้อาการมักจะเป็นมากตอนเช้า
อาการนิ้วล็อกเกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นที่ใช้ในการงอข้อนิ้วมือ ซึ่งอยู่ตรงบริเวณโคนนิ้วมือทำให้เส้นเอ็นหนาตัวขึ้นและติดขัดในการเคลื่อนไหวขณะเหยียดนิ้วมือเมื่ออักเสบรุนแรงมากขึ้นจะเกิดปุ่มตรงเส้นเอ็นเวลางอนิ้วมือปุ่มจะอยู่นอกปลอกหุ้ม แต่ไม่สามารถเคลื่อนเข้าปลอกหุ้มเวลาเหยียดนิ้วมือกลับไปทำให้เกิดอาการนิ้วล็อกอยู่ในท่างอต้องออกแรงช่วยในการเหยียดจึงจะสามารถฝืนให้ปุ่มเคลื่อนที่ผ่านปลอกหุ้มเข้าไปได้
หากมีอาการเจ็บตรงโคนนิ้วมือเวลางอนิ้วมือแล้วเหยียดนิ้วมีเสียงดังกึกหรือเวลางอนิ้วมือแล้วเหยียดขึ้นเองไม่ได้ควรจะไปพบแพทย์เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัดเมื่อพบว่าเป็นโรคนิ้วล็อกผู้ป่วยควรได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างจริงจังและควรปฏิบัติดังนี้
-ไม่ขยับนิ้วหรือดีดนิ้วที่เป็นนิ้วล็อกเล่นอาจทำให้เส้นเอ็นอักเสบมากขึ้นได้
-ถ้ามีอาการข้อผิดกำไม่ถนัดตอนเช้าควรแช่น้ำอุ่นจัดๆ และบริหารโดยการขยับมือกำแบเบาๆ ในน้ำจะทำให้นิ้วมือเคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น
-เมื่อต้องกำหรือจับสิ่งของแน่นๆ เช่น ไม้กอล์ฟ ตะหลิวผัดกับข้าว ควรใช้ผ้าหรือฟองน้ำพันรอบๆ หรือใช้ถุงมือจับจะช่วยลดแรงกดหรือเสียดสีลง
การรักษาอาการนิ้วล็อก
-แพทย์จะให้การรักษาตามความรุนแรงของโรค ในระยะแรกอาจให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์เพื่อบรรเทาปวดและลดการอักเสบ
-การทำกายภาพ-บำบัด
-ฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปที่เส้นเอ็นที่อักเสบ
ซึ่งจะได้ผลดีเมื่อให้การรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการใหม่ๆ ถ้าไม่ได้ผลอาจต้องรักษาด้วยการใช้เครื่องมือสะกิดส่วนของพังผืดที่หนาตัวออกไป (โดยการฉีดยาชาเฉพาะที่ไม่ต้องเข้าห้องผ่าตัดจะมีแผลเป็นรูเล็กๆตรงตำแหน่งที่เจาะ) ถ้ายังไม่ได้ผลอาจต้องทำการผ่าตัดแก้ไขต่อไป
บทความโดย : ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://theworldmedicalcenter.com/th/