เมื่อก่อน คำว่า เบาหวาน กับ ลูก เป็น อะไรที่ ไม่เคยคิดว่า จะมาสัมพันธ์กันได้ ไม่เคยคิดว่าจะมาสนใจอะไรมากมายเกี่ยวกับโรคนี้ รู้แต่ว่า คนอายุมากๆ เค้าเป็นกันเพราะ กินของหวานๆ กินแป้งเยอะ แล้วไม่ออกกำลังกาย พอรู้ว่าลูกเป็นขึ้นมา ในใจยังไม่เชื่อหมอ ว่า ลูกเราป่วยหนัก ต้องอยู่ ไอซียู แม่เกิดอาการอึ้ง น้ำตาร่วง พรู แต่ ยังแอบ เถียง (ในใจ ) ว่า เป็นไปได้ยังไง ลูกเราแค่ ไม่มีแรงเหนื่อย หอบ แค่นั้นเอง
ลูก เริ่มอาการดีขึ้น ทุกๆวัน ก็เฝ้าดู พยาบาล เจาะนิ้ว เช็คระดับน้ำตาลในเลือด เช็ค คีโตน ฉีดอินซูลิน ไป ยังปลอบลูกว่า เดี๋ยวก็หาย ถอดสายน้ำเกลือ ออกก็ ได้กลับบ้านแล้วลูก แต่พอคุณหมอ ก็มานั่งอธิบายต่อ ว่าเบาหวานแบบที่ 1ยังไม่มีทางรักษาให้หายขาดลูกคุณต้อง เจาะเลือด ฉีดอินซูลิน ไปตลอดชีวิต ณ วินาทีนั้น เหมือนฟ้าถล่ม น้ำตาร่วงเป็นคลื่นซูนามิ เราจะบอกลูกยังไง ว่า ลูกต้อง ฉีดยาและ เจาะเลือดเช็ค น้ำตาลไปตลอดชีวิต ทุกครั้งเวลาที่ลูกหกล้มเจ็บเข่า แม่เคย เป่าโอม เพี้ยง แล้วลูกหายเจ็บ อ้อมกอดของแม่ ที่เคยทำให้ลูกรู้สึกดีขึ้นยามที่ลูกไม่สบาย พลังวิเศษต่างๆของแม่มันคงจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป ทำยังไงดีล่ะ ลูก ยังเล็กอยู่ ยังไม่เก้าขวบเลย ลูกจะเข้าใจไหมเนี่ย… ยอมรับค่ะว่า เวลานั้น สมองตื้อ น้ำหนักลด น้ำตาร่วง อยู่ เป็นเดือน ลูกเอง ก็เศร้า ทำไมต้องเป็น หนู หนูไม่อยากเป็นเบาหวาน ทำไมเพื่อนหนูไม่เป็น จนมาอยู่วันนึง ลูกพูดว่า แม่ ถ้าหนูตายแล้วหนูจะเกิดมาเป็นลูกแม่ อีกไหม เท่านั้นแหละ แม่และลูกกอดกันร้องไห้ แม่เลยบอกลูกว่า แม่ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วเวลาคนตายไปแล้ว เค้าจะเกิดใหม่ไหม แต่ คนที่ ยังไม่ตาย เค้า จะ เสียใจมาก เพราะเราจะไม่ได้มีวันได้เห็นกันอีก แม่รู้ว่าลูกเสียใจ แม่เองก็เสียใจ ที่ลูกเป็นเบาหวาน แต่ เราทำอะไร ไม่ได้ตอนนี้ เราต้องรอนักวิทยาศาสตร์ ค้นหาวิธีรักษา แม่ว่า คงอีกไม่นาน แล้วแหละ ตั้งแต่นี้ต่อไปนี้ เราต้องเข้มแข็ง เราจะเรียนรู้ การใช้ชีวิตของเรา ทำยังไง ไม่ให้เบาหวานมาเป็นตัวกำหนด หรือ มาควบคุม ชีวิตเรา เราจะเป็นคน จัดการเบาหวานเอง ไม่ว่าลูกต้องทำอะไร แม่จะทำทุกอย่างเหมือนลูก ยกเว้น เจาะเลือด และฉีดยา ครอบครัวเรา จะต้องใช้ชีวิต อย่างมีคุณภาพ มีร่างกายที่ แข็งแรง มีจิตใจที่ เบิกบาน เรียนรู้ สิ่งใหม่ๆ ไปด้วยกัน อธิบายและสอนให้ลูก เรียนรู้เกียวกับการใช้ชีวิตกับเบาหวาน ให้เหมาะสม ตามวัยของเค้า พ่อ แม่ ลูก จะ ฟันฝ่า อุปสรรค และมี ความสุข ไปด้วยกัน ไม่ว่า จะเป็นเรื่อง เศร้าใจ หรือ ดีใจ แม่ และ พ่อ จะ รอ ดู ลูก วันที่ ลูก ประสพความสำเร็จ ด้วยรอยยิ้ม และ อ้อมกอด อย่างที่เคยเป็น พ่อ และ แม่ จะไม่ปล่อยให้ลูก ต้อง ต่อสู้ ความยากลำบากโดยลำพัง และ แม่ จะ สนับสนุนและ สอนให้ลูก ดุแลตัวเอง เมื่อลูกเติบใหญ่ ลูกต้องเข้มแข็ง และ ไม่ สนใจ ต่อ คำพูด หรือ ทัศนะคติ ของคนที่ไม่เข้าใจโรคเบาหวาน
สิ่งที่พ่อ แม่ และ ผู้ดูแล ควรจะเตรียมตัว และปรับตัว เมื่อ รู้ว่าลูกเป็นเบาหวาน คือ การเรียนรู้ และการศึกษาหาความรู้ เพิ่มเติม เพื่อเอามาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป
1. พ่อแม่ ควรจะต้องตั้งสติ ให้ได้ เก็บอารมณ์ เศร้า โศก เสียใจ ไว้ทำลับหลังลูก แสดงให้ลูกเห็น ว่า เราสถาบันครอบครัว ต้องเข้มแข็ง เราต้องทำงานเป็นทีม ลูก กินอาหาร แบบ ไหน เรา กินแบบนั้น พาลูกไป ออกกำลังกาย ตามถนัด ถ้า ไม่เคย ออกกำลังกาย ควรเริ่ม ด้วยการเดิน การวิ่ง หรือการขี่จักรยาน เสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวไปด้วย
2. ทำความเข้าใจและเรียนรู้ เกี่ยวกับ โรคเบาหวาน แบบที่ 1 ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร การที่เป็น โรคนี้ ไม่ใช่ ความผิดของใคร มันเกิดขึ้นเอง ร่างกายเราผลิตอินซูลินเองไม่ได้ และยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อีกทั้ง ยังไม่มีการรักษาให้หายขาด แต่ เรายังโชคดี ที่ มียา อินซูลิน มาทดแทนในขณะที่ร่างกายเรา ไม่สามารถ ผลิต อินซูลินได้เอง อธิบายให้ลูกฟัง ให้ลูก เข้าใจ ให้ลูกอยู่กับความเป็นจริง ว่า ถึงแม้นว่า ยังรักษาไม่ได้ แต่ เรา สามารถ จัดการได้ ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรา อยู่ที่ใจเรา สร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกเป็นคน แกร่ง ไม่ย้อท้อ
3. เมื่อเราเป็นเบาหวาน เราควร ทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารด้วย ว่า ร่างกายคนเราต้องการ คาร์โบรไฮเดรท เพื่อให้ แปลงเป็น กลูโคส หรือ น้ำตาลในเลือด และ อินซูลิน เป็น ตัวแปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงาน ลูกจะได้เข้าใจว่า ทำไม เราต้องฉีดอินซูลิน และทำไมเรา ต้องเช็คระดับน้ำตาลในเลือด เราต้องทำแบบนี้ เพื่อที่ เราจะจัดการ ระดับน้ำตาลในเลือดของเราให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เราจะได้ไม่ป่วย
4. เราควรเข้าใจด้วยว่าถ้าร่างกายเราไม่มีอินซูลิน ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก จะเกิดอะไรขึ้น กับร่างกายของเรา
4.1.ไตของเราจะยอมรับระดับน้ำตาลในเลือดที่อยู่ในเกรฑ์ปรกติเท่านั้นที่เหลือจะถูกขับออกมากับปัสสวะ นั่นคือสาเหตุว่าทำไมถึงปัสสววะบ่อย เมื่อเสียน้ำมาก เราก็กระหายน้ำมากขึ้น
4.2.เมื่อร่างกายไม่มีอิซูลิน ร่างกายก็ไม่สามารถเอาพลังงานมาใช้ได้ ทำให้เราเหนื่อย ไม่มีแรง
4.3.เซลส์ในร่างกายไม่มีน้ำตาลกลูโคสมาเปลี่ยนเป็น พลังงาน ก็จะเอาไขมันที่สะสมในร่างกาย มาใช้แทน ทำให้น้ำหนักเราลดลง เมื่อไขมันสะสมในร่างกายถูกใช้ไปเป็นพลังงาน ร่างกายจะผลิตสารคีโตน ซึ่งเป็นสารที่ชี้ให้เห็นว่า เราเอาไขมันสะสมในร่างกายมาใช้
4.4.เมื่อร่างกายเรามีสารคีโตนสะสม จะเกิดอาการปวดท้อง และเป็นตะคริวที่ขา เมื่อสะสมมากๆเข้า จะเกิดอาการ อาเจียร และทำให้ร่างกายเกิดอาการขาดน้ำอย่างหนัก
4.5.ร่างกาย พยายามที่ขจัดสารคีโตนออกจากร่างกายโดยทางลมหายใจ ซึ่งเป็นกลิ่นหอม อ่อนๆ บางคนบอกว่ากลิ่นเหมือนยาล้างเล็บ
4.6.ในที่สุดหากระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์สูงมากและมีสารค๊โตนสะสมอยู่มาก ร่างกายเรา ก็จะปิดตัวเองลง คือหมดสติ และอาจจะถึงขั้นเสียชีวิต
5. ในขณะที่เรารู้ว่า เบาหวาน T1D รักษาไม่ได้ แต่เราสามารถ ควบคุมน้ำตาลในเลือดของเราได้ด้วยการ สร้างความสมดุลย์ ระหว่าง การใช้ อินซูลิน การเลือก อาหารที่ทาน การออกกำลังกาย และที่สำคัญ คือ การค้นคว้าศึกษา หาความรู้ ว่าทำอย่างไร เราถึงจะสร้างความสมดุลย์ ตรงนี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ระยะเวลาการออกฤทธ์ ของชนิดอินซูลินที่ใช้ ชนิดของอาหารที่ทานว่า มีคาร์โบไฮเดรต เท่าไหร่ อาหารแบบไหน ที่ มี ดัชนีค่าน้ำตาล สูง หรือ ต่ำ และ การเตรียมร่างกายในการออกกำลังกาย ว่า ควรจะทาน อาหารแบบไหน จำนวนเท่าไหร่ หรือ ใช้ อินซูลินเท่าไหร่ เวลาไหน เพื่อไม่ให้เกิด อาการน้ำตาลตก ระหว่าง หรือ หลัง การเล่นกีฬา มีนักกีฬาโอลิมปิคและ นักกีฬาอาชีพ หลายคนที่เป็น T1D ถ้าเรามีความรู้ ความเข้าใจ ในสิ่งที่เราทำ เราก็จะสามารถจัดการได้ไม่ลำบาก
6. ทำไมถึงบอกว่าการเรียนรู้สำคัญ เราเป็นคนที่ต้องที่ต้องอยู่กับเบาหวานทุกวัน เราได้รับการเรียนรู้จาก คุณหมอ จากพยาบาล จากนักโภชนาการ ซึ่งได้ให้ความรู้ คำแนะนำ โดยกว้างๆ แต่ อย่าลืมว่า แต่ละคน มีความไวต่อ ยาอินซูลินที่ไม่เท่ากัน การย่อยอาหาร หรือ ดูดซึมสารอาหารของร่างกาย ที่แตกต่างกัน กิจกรรม ของแต่ละคน ก็ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ บางคนกินยังไงก็ไม่อ้วน บางคนแค่หายใจ ก็อ้วนแล้ว บางคนชอบทำโน้นทำนี่ ตลอดเวลา บางคนนั่งอยู่หน้าจอทีวีทั้งวัน กิจกรรมเหล่านี้แหละ ที่เป็นตัวแปร ของการควบคุมน้ำตาล เราต้องเรียนรู้สิ่งพวกนี้ แล้วเวลามีปัญหาควบคุมน้ำตาลไม่ได้ เราจะได้ต่อยอดขอความรู้ กับคุณหมอ พยาบาล หรือนักโภชนาการ เพื่อแก้ปัญหาน้ำตาลสูง สิ่งที่สำคัญคือ เรามีหน้าที่ที่ทำให้ตัวเรา แข็งแรง ควบคุมน้ำตาลให้ได้ ดูแลร่างกายไม่ให้ป่วย ไม่ใช่ หน้าที่ของคุณหมอ ท่านมีหน้าที่ ให้ความรู้ในการดูแลตัวเอง ท่านมีหน้าที่รักษาเรา เมื่อยามที่เราป่วย เพราะฉะนั้น เราต้องมีความรู้และความเข้าใจ ในสิ่งที่เราทำ
7. อาหารสำหรับเด็กที่เป็นเบาหวาน : ที่จริงแล้วควรจะเป็นอาหารที่เหมือนกับเด็กทั่วไปอยู่วัยเดียวกัน คืออาหารที่มีประโยนช์ ต่อร่างกาย ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต มีพัฒนาการส่วนสูงและน้ำหนักตามวัย ปริมาณสารอาหารที่เด็กควรทานหรือได้รับ ขึ้นกับ อายุ น้ำหนักตัว กิจกรรม และการคำนวณการใช้อินซูลินที่เหมาะสม ยกตัวอย่าง อาหารหนึ่งมื้อ ควรจะ มีผัก 50% คาร์โบไฮเดรท ดี เช่น ข้าวกล้อง แป้งโฮลวีท ข้าวโพด 25% โปรตีน 15% และ ผลไม้ 10% และดื่มน้ำเปล่าให้มาก
8. สิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับอาหารคือ การเรียนรู้ การนับ จำนวน คาร์โบไฮเดรท ในปริมาณอาหารที่จะทาน หรือเรียกกันสั้นๆว่า นับ คาร์บ และการอ่านข้อมูลโภชนาการ ใหม่ๆ อาจจะยังงงๆ อึ้งๆ พอทำๆไปทุกวันทุกมื้อ แล้ว รับรองว่า เป็นมืออาชีพ แน่นอน
แนวทางในการเป็นมืออาชีพในการนับคาร์บ
8.1 เรียนรู้การอ่านข้อมูลโภชนาการ ยกตัวอย่างเช่น เอาเฉพาะ จำนวนกรัมของ คาร์โบไฮเดรท ต่อหนึ่งหน่วย บริโภค โดยไม่ต้องเอา จำนวนกรัมของน้ำตาลมารวม เพราะ มันได้ถูกรวมอยู่ใน จำนวนกรัม ของคาร์โบไฮเดรท อยู่แล้ว และดูให้ดีๆว่า หนึ่ง บรรจุภัณฑ์ มีกี่หน่วยบริโภค
8.2 แรกๆ พยายามทำอาหารทานเอง ที่บ้านให้ลูกมีส่วนร่วมในการเตรียมอาหารบ้าง สอนเรื่องการนับคาร์บไปในตัว ใช้ เครื่องชั่ง น้ำหนัก ถ้วยตวงและเครื่องคิดเลข ให้เป็นนิสัย ให้รู้ว่า อาหารประเภทนี้ จำนวนเท่านี้ มีคาร์บอยู่เท่าไหร่ ในหนึ่งมื้ออาหาร นานๆไป เราก็ไม่ต้องมานั่ง ชั่งตวงวัด อีก เพราะเราคุ้นกับปริมาณอาหารในจานที่เราใช้อยู่ทุกวัน อย่าลืม ว่า เมื่อลูกโตขึ้น ปริมณอาหารมากขึ้น อาจจะต้องมา ชั่ง ตวงวัดใหม่ แล้วจำกันอีกที
8.3 สร้างฐานข้อมูลอาหาร หรือ จดบันทึก อาหารที่ ลูกๆ ชอบ เช่น ของโปรดมื้อเช้า มื้อเที่ยง มื้อเย็น มีอะไรบ้าง จำนวน คาร์บเท่าไหร่
8.4 ออกไปทานนอกบ้าน ทำยังไงดี จะรู้ได้ไง ว่าอาหารที่จะทาน มีคาร์บเท่าไหร่ ย้อนกลับไปดู ว่า เหตุผลที่ให้ใช้ เครื่องชั่ง หรือ ถ้วยตวงที่บ้าน คือ เราจะคุ้นกับจำนวนอาหารที่เราเห็น เช่น ข้าวหนึ่งถ้วยตวง เท่ากับ หนึ่ง กำปั้น เรา หรือ เราแบมือแล้วงอนิ้วข้อที่สองเข้ามา ก็จะเป็นปริมาณ ข้าวครึ่งถ้วยตวง หรือ อาหารประเภทเส้น จำนวนครึ่งถ้วย
8.5 ใช้เทคโนโลยี่ให้เป็นประโยชน์ เราอยู่ในยุค ไทยแลนด์ 4.0 ของลุงตู่ เราไม่ควรจะตกเทรนด์ เดี๋ยวลุงตู่เคือง เอาว่าไปอยู่ไหนมา เราโชคดีที่เดี๋ยวนี้มีข้อมูลมากมายให้ ค้นหา ใน อินเตอร์เน็ท หรือ แอพพลิเคชั่น ต่างๆ ภาษาไทยก็มี ภาษาอังกฤษ ก็มี หรือ ตาม เว็บไซท์ ของร้านอาหาร ฟาสฟูดส์ ต่างๆ เช่น พิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ หรือ ไอศครีม ที่เป็นบริษัท อินเตอร์ ก็มีให้ แต่เป็นภาษาอังกฤษ สิ่งที่ต้องระวังในการค้นหา จำนวน คาร์บ อย่างนึง คือ จำนวนอาหารในน้ำหนักที่เท่ากัน ปรุงสุกแล้ว กับยังไม่ปรุง จะมีจำนวนคาร์บ ที่ต่างกัน เช่น เส้นพาสต้าที่ยังไม่ต้ม 100 กรัม มี คาร์บประมาณ 70 กรัม ส่วน เส้นพาสต้าที่ต้มสุกแล้ว 100กรัม คาร์บประมาณ 31 กรัม เป็นต้น อีกทั้งใน แอพลิเคชั่น ยังมีเกมส์ที่ให้ความรู้กับเด็กๆ เกี่ยวกับเบาหวาน เช่น Carb Counting with Lenny, Diapets
9. เรียนรู้ เรื่อง การจัดการ ค่าน้ำตาลที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ มาตรฐาน Hypoglycaemia น้ำตาลตก Hypoและ Hyperglycemia น้ำตาลสูง Hypo พึงระลึกเสมอว่า ค่าน้ำตาลต่ำกว่ามาตรฐาน เป็นอันตรายที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน อย่าชะล่าใจ โดยเด็ดขาด น้ำตาลสูงเป็นอันตรายระยะยาว การรักษาระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ ปรกติ เป็นเรื่องไม่ง่ายนัก แต่ก็ไม่ยากจนเกินความสามารถ หากเราเข้าใจ และรู้ ปัจจัย ต่างๆที่มาเกียวข้อง โดยเฉพาะ การนับคาร์บ และ ประเภท ของ คาร์โบไฮเดรท หรือ ดัชนีค่าน้ำตาล GI เพราะสิ่งนี้ คือการช่วยชีวิตลูกของคุณ เช่น ถ้าลูกน้ำตาลตก ควรจะให้ น้ำตาล 2-3 ช้อนชา (คาร์บ 15กรัม) หลังจากนั้น 15 นาที เช็คระดับน้ำตาลอีกที หากน้ำตาลขึ้นมาแล้ว ให้ทาน อาหารที่มี ดัชนีน้ำตาล ที่ ไม่สูงมากเช่น ขนมปังแผ่น (คาร์บ 15 กรัม) เพื่อป้องกันการตกซ้ำ ไม่น่าเชื่อเลยนะคะว่า น้ำตาลแค่ไม่กี่ช้อนชา สามารถ ช่วยชีวิตเราได้ ในขณะเดียวกัน น้ำตาลมากเกินไปก็สามารถทำร้ายชีวิตเราได้เหมือนกัน
10.ปลอดภัยไว้ก่อน ฝึกให้เป็นนิสัย ว่า เวลาไปไหน ต้องมีกระเป๋า Hypo Kit ไปด้วยตลอด สำคัญมาก เวลาเดินทางไปไหน เอาทุกอย่าง ไปเผื่อ ให้เหลือดีกว่าขาด ไม่ว่าจะเป็น แผ่น ตรวจเลือด อินซูลิน เข็ม ถ่านสำรอง เครื่องตรวจ อาหาร แก้ น้ำตาลตก หากขึ้นเครื่องบิน อย่า เอาโหลดเข้าใต้ท้องเครื่องบิน กอดไว้กับตัว ขอจดหมายรับรองจากโรงพยาบาล เผื่อ ฉุกเฉิน ต้องไปหาซื้ออินซูลินใหม่ข้างหน้า พยายามหาข้อมูลล่วงหน้า ว่าจะหา อะไรได้ที่ไหนยังไง หรือ พยายามหากลุ่มครอบครัวที่มีลูกเป็นเบาหวานใน โซเชียล เน็ทเวิค เผื่อ ขอคำแนะนำ หรือ ความช่วยเหลือ เมื่อเราอยู่ต่างถิ่น และที่สำคัญ อีกอย่าง คือ Medical Alert เช่น บัตรประจำตัวผู้ป่วยเบาหวาน
11.เตรียมตัวลูกไปโรงเรียน ก่อนที่จะส่งลูก กลับไปโรงเรียน ให้พูดคุยกับครูประจำชั้น และครูใหญ่ อธิบายให้ครูเข้าใจ สิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับลูกเรา ในการใช้ชีวิตกับเบาหวาน ไม่ว่าจะเป็น สิทธิพิเศษ ในการกิน เมื่อ น้ำตาล ตก การเจาะนิ้ว เช็คเลือด การฉีดอินซูลิน หรือ แม้นกระทั่ง การที่ลูกต้องดื่มน้ำ บ่อยขึ้น และ เข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น ในห้องเรียน และ สิ่งที่ควรจะทำคือ แผนภูมิ แจ้งบอก อาการน้ำตาล ตก ของลูกว่า จะมี อาการอะไรบ้าง เช่น มือสั่น เหงื่อออก อารมณ์เปลี่ยน เหม่อลอย พูดออกเสียงไม่ชัดเช่นเคย สอนให้ครูรู้จักใช้ เครื่องเจาะวัดน้ำตาล แล้ว ถ้า พบว่า น้ำตาล ตก ต้องทำยังไง แจ้ง เบอร์ โทรศัพท์ ของผู้ปกครอง ในแผนภูมิ หากเป็นไปได้ ขอความร่วมมือจากผู้บริหารโรงเรียน ขอประชุมคุณครูที่เกียวข้อง แจ้งให้ทราบ ว่า ลูกเราแข็งแรง ปรกติดี มี สติปัญญา เรียน ตามปรกติ และจะไม่ป่วย หาก คุณครู ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับ การจัดการเบาหวาน และ คอยสังเกตอาการ น้ำตาล ตก ให้ และ แก้ไขได้ทัน การเตรียม อาหาร แก้น้ำตาล ตก เอาไว้ที่ห้องเรียน เพื่อฉุกเฉิน ในกรณีที่ ใช้ของในกระเป๋าหมดแล้ว
12.เตรียมรับกับอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงและความไม่มั่นใจของลูก เมื่อต้องกลับไปโรงเรียน หรือเวลา ออกไปข้างนอก การที่ต้องตอบคำถาม เพื่อนๆว่าทำไม เธอต้อง เจาะนิ้ว เช็คเลือด ต้องฉีดยา ก่อนกินข้าว หรือ การที่ต้องรับกับ ปฏิกิริยา ที่ว่า ขยักแขยง กลัวเลือด กลัวเข็ม จาก เพื่อนๆ สายตา ที่อยากรู้ อยากเห็น เวลาเพื่อนมามุงดูเหมือนเป็นตัวประหลาด หรือ แม้กระทั่งคำพูดจากผู้ใหญ่ ที่พูดด้วยอารมณ์ สงสาร ว่า ทำไมหนอ ตัวเล็กนิดเดียว มาเป็นเบาหวาน ซะแล้ว เวรกรรมจริงๆ สิ่งเหล่านี้ มันยากที่เด็กๆจะรับได้ แต่ เราห้ามไม่ให้มันเกิดได้ เพราะ เราไม่ได้เก็บลูกเราไว้อยุ่แต่ในบ้าน ไม่ให้เจอใคร แต่สิ่งที่เรา ควรทำคือ สร้างความเข้าใจ และ ความมั่นใจให้ลูกเรา ในการใช้ชีวิตกับ เบาหวาน เรามีความจำเป็นต้องเจาะนิ้วเช็คเลือด ต้องฉีดยา มันมีความสำคัญต่อชีวิตเรา ให้ความรู้ เค้า หากมีใครมามุงดู มาทำท่าทางไม่ดีใส่ ลูกเราได้ อธิบายให้เค้าฟังได้ว่า เค้าต้องทำเพื่อให้เค้ามีร่างกายที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย และ เค้า ก็มีความกล้าหาญ และเข้มแข็ง ในการทำสิ่งที่ยากๆ แบบนี้ เพื่อรักษา ชีวิต ดังนั้น เพื่อนๆ และคุณครู โปรด เข้าใจด้วยว่า ลูกเราต้องการ เป็นเด็กที่ไม่ต้องฉีดยา เจาะ เลือด ทุกวัน แต่ต้องทำ ลูกเรา ไม่ต้องการ ความสงสาร แต่ต้องการ ความเข้าใจ และ ความช่วยเหลือ ในกรณีที่น้ำตาลตก แล้ว ทำเองไม่ได้ เท่านั้น
13.ถึงแม้นว่าลูกเป็นเบาหวาน แต่ลุก ก็ยังเป็นเด็ก พึงระลึกไว้เสมอว่า การที่ลูกเป็นเบาหวาน มันไม่ควรที่จะให้ลูกสูญเสีย ความเป็นเด็ก เพราะ ความกังวล ของพ่อ แม่ ห้าม กิน โน้น ห้ามกินนี่ เดี๋ยวน้ำตาลสูง ห้าม เล่น โน้น ห้ามเล่นนี้ เดี๋ยว น้ำตาล ตก โอ้แม่เจ้า อะไรกันนักหนา หนูต้อง เจาะเลือด ฉีดยา ทั้งวันยังมาห้ามหนูอีก วันเกิดเพื่อนก็ห้ามกินเค็ก ไอติม ก็ ห้าม อย่าบีบคั้นกันจนเกินไปนัก สิ่งที่ควรทำคือ สร้างนิสัยการกินใหม่ทั้งครอบครัว เลือกกินอาหารที่ มีประโยชน์ มากขึ้น เลี่ยงของหวาน หรือ อาหารที่มี คาร์โบไฮเดรท และไขมันสูง เมื่อถึงวันพิเศษ เช่นไปงานวันเกิดเพื่อน เค็ก ก็ กินได้ แต่กินอย่าง ฉลาด และ เลือก ปริมาณ พอเหมาะ แล้วฉีดอินซูลินให้เหมาะสม สร้างความรู้ ความเข้าใจให้ลูก ถึง ผลกระทบที่จะได้รับ
14.ท้ายสุดนี้ อยากจะบอกว่าผู้เขียนคิดว่า การ เป็น เบาหวาน มีข้อดีเหมือนกัน คือ เบาหวาน สอนให้ พ่อ แม่ละลูก เข้มแข็ง และ กล้าหาญ อดทน เบาหวานสอนให้พ่อ แม่ใฝ่หาความรู้เพิ่มเติม เพื่อมาดูแลลูกและสอนลูกให้ใช้ชีวิต อย่างมีความสุขในสิ่งที่ตัวเองเป็น และสอนให้ลูกรู้ว่า ไม่มีอะไรมากำหนดชีวิตเรา ได้ ยกเว้นตัวเรา เอง เราเป็นคนควบคุม เบาหวาน ไม่ใช่ให้ เบาหวานมาควบคุมเรา
เราได้เรียนรู้ ในสิ่งที่มีประโยชน์ ต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ไม่ว่า จะเป็นอาหาร การกิน การออกกำลังกาย การป้องกัน โรคที่อาจจะเกิดขึ้น เบาหวาน สอนให้เรา ไม่ย้อท้อ ต่อ อุปสรรค สอนให้เรารู้จัก การเดินสายกลาง ความพอดี ในการดำรงชีวิต การวางแผนล่วงหน้า เบาหวานทำให้ ความมั่นคงของสถาบันครอบครัวเรา แกร่งขึ้น ตามไปด้วย เพราะ เรา สู้เบาหวาน ไปพร้อมๆกับลูก ลูก กินอาหาร แบบไหน กิน เรากินแบบนั้น ลูกออกกำลังกาย เรา ก็ออกด้วย ไม่ว่าจะ ว่ายน้ำ จอกกิ้ง ตีแบด วันไหนลูกไปแข่งกีฬา พ่อ แม่ ก็ติดขอบสนาม เมื่อลูกได้เหรียญ ได้ถ้วยรางวัลมา แม่ก็ยินดีไปกับลูก วันไหนไม่ได้ ก็สอนลูกว่าไม่เป็นไร เราต้องรู้จักแพ้ รู้จัก ชนะ เรา อยากเก่ง อยากชนะ ต้องฝึกให้มากขึ้น
จะเห็นได้ว่าไม่ยากเลยในการเลี้ยงลูกที่เป็นเบาหวาน เหมือนกับการเลี้ยงลูกโดยทั่วๆไป จะมีที่อยากเน้นคือ พ่อแม่ลูก ควรรักการใฝ่หาความรู้ใหม่ๆเพื่อมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัว เราเท่านั้น เอง อย่าลืมว่าเราอยู่ในยุคทีโลกก้าวไป เราต้องก้าวให้ทัน
Disclaimer : บทความนี้ไม่ถือว่าการให้คำแนะนำทางด้านการแพทย์ และเป็นบทความที่เขียนขึ้นจากความเข้าใจและประสพการณ์ของผู้เขียนเท่านั้น อาจจะมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และไม่อนุญาตให้นำไปอ้างอิงในการใดๆทั้งสิ้น
บทความจาก: สายชล แลททิเมอร์
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.dmthai.org/