“ปอดติดเชื้อ” โรคยอดฮิตในผู้สูงอายุ ควรป้องกันแต่เนิ่นๆ
บ่อยครั้งที่เราได้ยินข่าว หรืออาจมีคนรู้จักล้มป่วยหรือเสียชีวิตจาก ‘โรคปอดติดเชื้อ’ เชื่อว่าหลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่า “โรคปอดติดเชื้อ” คืออะไร ร้ายแรงแค่ไหน และจะมีวิธีรับมืออย่างไรบ้าง
โรคปอดอักเสบ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากการติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 4 ในผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป เนื่อง จากความเปลี่ยนแปลงจากความชรา และระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งการมีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน, โรคหัวใจวายเรื้อรัง หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีผลทำให้เกิดโรคปอดอักเสบได้ง่ายและหายช้า กลไกการเกิดโรคปอดอักเสบมักเกิดจากโรคติดเชื้อที่สำคัญ ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มาก่อน บางรายอาจเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรง เช่น ภาวะการติดเชื้อในกระแสโลหิต เยื่อหุ้มสมองอักเสบในผู้สูงอายุ ทำให้เสียชีวิตลงได้
จากการศึกษาในผู้สูงอายุ พบว่าการให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ร่วมกับวัคซีนนิวโมคอคคัส มีประสิทธิผลในการลดการเกิดปอดอักเสบและการติดเชื้อรุนแรงได้ ส่วนโรคงูสวัด เป็น 1 ใน 3 โรคติดเชื้อที่สำคัญ อุบัติการณ์ตลอดช่วงชีวิตของการเกิดโรคงูสวัด มีประมาณร้อยละ 20-30 ในประชาชนทั่วไป และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ในผู้ที่มีอายุถึง 85 ปี โรคงูสวัดทำให้มีการอักเสบของเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดแสบร้อน และมีผื่นขึ้นตามแนวเส้นประสาท ซึ่งสามารถหายเองใน 2 สัปดาห์ แต่หากเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง การแพร่ กระจายและความรุนแรงของโรคจะมีมากขึ้น ซึ่งอาจปวดได้อีกหลายเดือนถึงเป็นปี วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ลดอุบัติการณ์ของโรคได้ร้อยละ 51.3 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่อายุระหว่าง 60-70 ปี
รศ.ดร.นพ.เมธี ชยะกุลคีรี สาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จะมาไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคนี้ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวและทุกคนสามารถล้มป่วยได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติ
สาเหตุของโรคปอดติดเชื้อ เกิดจากเชื้อโรคได้หลายอย่าง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
- เชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อกลุ่มสเตรปโตคอคคัส ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปอดติดเชื้อ
- เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
- เชื้อรา โดยทั่วไปคนปกติจะไม่เกิดอาการปอดติดเชื้อจากเชื้อรา ยกเว้นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่นคนไข้ที่ได้รับยากดภูมิ ผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด และผู้ที่ติดเชื้อ HIP เป็นต้น
Advertisement
อาการของโรค จะเป็นอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ มีอาการดังนี้
- หอบเหนื่อย เนื่องจากปอดไม่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซได้ดี
- ไอ มีเสมหะ เนื่องจากมีการอักเสบของถุงลม และหลอดลมในปอด
- เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเวลาที่หายใจเข้าลึก ๆ
สำหรับกลุ่มผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการซึม ช็อก ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเสียชีวิตได้ถ้าได้รับการรักษาไม่ทัน
วิธีการรักษาและการป้องกัน
หลัก ๆ คือ การให้ยาต้านจุลชีพ โดยขึ้นอยู่กับว่าปอดติดเชื้ออะไร จึงเลือกให้ยารักษาตามเหมาะสม ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะมีความเสี่ยงจากการได้รับยารักษาไม่ตรงเชื้อ ทำให้เกิดการดื้อยาและการแพ้ยาได้ สำหรับการดูแลป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรงปอดติดเชื้อสามารถทำได้ ดังนี้
- หมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และการออกกำลังกาย
- หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีคนแออัด โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของโรค
- สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ หากต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ
- รับวัคซีนป้องกันโรคปอดติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
โรคปอดติดเชื้ออาจฟังเป็นเรื่องไกลตัว แต่หากไม่หมั่นดูแลสุขภาพโดยการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ หลับพักผ่อนให้เพียงพอ หรือละเลยหลักสุขอนามัยก็อาจทำล้มป่วยได้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังไว้ให้ดี
ที่มา: ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ขอขอบคุณhttps://goodlifeupdate.com/