โรคกรดไหลย้อน (Gestroesophangeal Reflux Disease : GERD) เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกรดในกระเพาะอาหาร ส่วนน้อยอาจเป็นด่างจากลำไส้เล็ก โดยอาจมีหรือไม่มีหลอดอาหารอักเสบก็ได้
(โรงพยาบาลมิตรภาพสามัคคี จะเปิดให้บริการคลินิกโรคทางเดินอาหารตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2561 เป็นต้นไป เวลาเปิดบริการ เสาร์ 09.00 – 12.00 น. และอาทิตย์ 17.00 – 20.00 น. รักษาโรคปวดท้อง, กรดไหลย้อน, ท้องเสีย, ท้องผูก, ลำไส้แปรปรวน, ส่องกล้องทางเดินอาหาร, ตับอักเสบ, ตับแข็ง, ไขมันเกาะตับ)
สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน เช่น
– หลอดอาหารส่วนปลายคลายตัวโดยที่ยังไม่มีการกลืนอาหาร ซึ่งสาเหตุนี้ถือเป็นภาระสำคัญของโรคนี้
– ความดันจากหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายลดลงต่ำกว่าในคนปกติ หรือเกิดการเลื่อนของกระเพาะอาหารเข้าไปในหลอดอาหาร ทำให้เพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารมากขึ้น
– เกิดจากความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร หรือหลอดอาหาร
– อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิด หรือเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม
ไม่ใช่แค่วัยทำงาน….ก็มีความเสี่ยงกับโรคนี้
โรคนี้พบได้ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ กำลังตั้งครรภ์ เป็นโรคผิวหนังแข็ง (scleroderma) โรคเบาหวาน เป็นต้น
นอกจากนี้การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตสูงบางชนิด ยาแก้โรคซึมเศร้าก็เป็นสาเหตุที่เสริมปัจจัยสี่ยงได้เช่นกัน ส่วนใน”เด็ก” สามารถพบได้ตั้งแต่วัยทารกจนถึงเด็กโต ซึ่งอาการที่พบบ่อย ได้แก่ อาเจียนบ่อยหลังจากดูดนม โลหิตจาง น้ำหนักและการเจริญเติบโตไม่สมวัย ไอเรื้อรัง หอบหืด ปอดอักเสบเรื้อรัง ในเด็กบางรายอาจมีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับได้
แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน
อาการสำคัญ คือ แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่แล้วลามขึ้นมาที่หน้าอกหรือคอ ซึ่งจะเป็นมากขึ้นภายหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก หรือการนอนหงาย นอกจากนี้ ยังมีอาการเรอเปรี้ยว นั่นเพราะมีกรดซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก โดยคนไข้อาจมีทั้ง 2 อาการหรืออาการใดอาการหนึ่งก็ได้
จะวินิจฉัยโรคนี้ได้อย่างไร
โดยปกติ แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ ได้จากอาการดังที่กล่าวมา โดยผู้ป่วยที่มีอาการทั้งแสบยอดอก และ/หรือ เรอเปรี้ยว (ทั้งนี้ไม่ควรมีอาการที่บ่งบอกว่าน่าจะเป็นโรคอื่น อาทิ น้ำหนักลด อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ ถ่ายเป็นเลือด หรือมีไข้) แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยได้เลยว่าผู้ป่วยมีภาวะกรดไหลย้อนและให้การรักษาเบื้องต้นได้ โดยจะติดตามดูอาการของผู้ป่วย ในบางรายอาจมี ความจำเป็นต้องได้รับการตรวจค้นพิเศษเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร การกลืนแป้ง การตรวจวัดการบีบตัวของหลอดอาหาร และการตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร ซึ่งพบว่าได้ผลแม่นยำและดีที่สุดในปัจจุบัน
เมื่อรักษาแล้วจะหายขาดหรือมีโอกาสกลับมาเป็นอีกหรือไม่
โดยทั่วไป หลังกินยาลดการหลั่งกรดเป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ ผู้ป่วยประมาณครึ่งหนึ่งจะมีโอกาสกลับมีอาการซ้ำอีก ดังนั้นการรักษาในกลุ่มนี้แพทย์ก็จะให้ยาในกลุ่มเดิม โดยอาจจะให้ยาเป็นระยะ ๆ 6-8 สัปดาห์อีก หรือให้ยาตามอาการ ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ในรายที่เป็นเรื้อรังแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจพิจารณาการรักษาด้วยการส่องกล้อง หรือการผ่าตัด
* สำหรับยาในกลุ่มที่มีผลต่อการลดจำนวนการคลายตัวของหูรูดนั้น ยังมีอยู่จำนวนไม่มาก และผลของการรักษายังสู้ยาลดกรดไม่ได้ อีกทั้งยังมีผลข้างเคียงอยู่พอสมควร
จะปฏิบัติตัวอย่างไรถ้าเป็นโรคนี้
โดยทั่วไปเป้าหมายของการรักษา แพทย์จะมุ่งเน้นให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น รักษาอาการอักเสบของแผลในหลอดอาหารและป้องกันผลแทรกซ้อน การรักษาประกอบไปด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต การให้ยา การส่องกล้อง รักษาและการผ่าตัดโดยวิธีที่ง่ายที่สุด คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งสามารถทำได้ดังต่อไปนี้
– หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา
– หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อกโกแลต
– ระวังไม่ให้น้ำหนักตัวมากหรืออ้วนเกินไป
– ระวังอาหารมื้อเย็น ไม่รับประทานในปริมาณมากและไม่ควรนอนทันที เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
– ควรรับประทานอาหารปริมาณน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง
– ไม่ใส่เสื้อรัดรูปเกินไป
– ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
– นอนตะแคงซ้ายและนอนหนุนหัวเตียงให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้ว
จะเห็นได้ว่าโรคกรดไหลย้อน นับเป็นปัญหาของโรคทางเดินอาหารที่พบบ่อยขึ้นในปัจจุบัน แม้ว่าความรุนแรงของโรคนี้จะไม่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่ก็จะมีผลกระทบทั้งทางกายและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทั้งในเรื่องของการทำงาน งานอดิเรก การใช้ชีวิตประจำวัน การปฏิบัติตัว เพื่อหลีกเลี่ยงให้ห่างไกลจากโรคนี้ เช่น การประพฤติปฏิบัติ การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ก็จะสามารถทำให้ห่างไกลจากภาวะโรคนี้ และให้ห่างไกลจากภาวะโรคนี้ และหากคุณมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็ควรรีบไปรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป ที่สำคัญ ควรหลีกเลี่ยงสาเหตุและปัจจัยเสริมอื่น ๆ ก็จะทำให้ห่างไกลจากภาวะโรคกรดไหลย้อนได้ครับ.
บทความโดย: รศ.นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์ สาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์: คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ขอขอบคุณข้อมูล:mittraparphosp.com