“โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง” (Ltmphoma) เป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นที่ต่อมน้ำเหลืองหรือเนื้อเยื่อที่มาจากระบบน้ำเหลือง ซึ่งระบบน้ำเหลืองนั้นเป็นเป็นระบบภูมิคุ้มกันหนึ่งของร่างกาย มีหน้าที่นำสารและเซลล์เม็ดเลือดขาวไปทั่วร่างกาย และเมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวเหล่านี้เกิดความผิดปกติขึ้น จึงทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั่นเอง
ประเภทของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1.มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma : NHL) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ B-cell lymphoma และ T-cell lymphoma
2. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin Lymphoma : NHL) ซึ่งพบได้น้อยกว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอด
อาการแสดงมีได้หลากหลาย แต่โดยส่วนใหญ่คนไข้จะมาด้วยการมีก้อนต่อมน้ำเหลืองโตขึ้น ซึ่งตำแหน่งที่พบบ่อยคือ คอ ไหปลาร้า รักแร้ ขาหนีบ หรือบางคนก็มาด้วยอาการมีไข้ไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เหงื่อออกเวลากลางคืน เป็นต้น
การวินิจฉัยโรค
หากมีความผิดปกติเกิดเช่น คลำพบก้อนตามร่างกาย หรือมีอาการดังที่กล่าวไปข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที โดยต้องเล่าอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ครบ และถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ก็ควรกลับไปพบแพทย์ซ้ำ เพื่อหาทางวินิจฉัยที่รวดเร็ว คนไข้ควรสังเกตอาการตัวเอง เช่น ปวดท้องแน่นท้อง เป็นไข้ไม่ทราบสาเหตุ ก็ต้องไปตรวจหาสาเหตุให้เจอ
การรักษา
การรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งที่ตรวจพบ โดยแบ่งออกเป็นการให้เคมีบำบัดเป็นหลัก และอาจมีการใช้รังสีรักษาและการผ่าตัดในบางกรณี ซึ่งสูตรของยาเคมีที่ใช้ขึ้นกับชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ทั้งนี้ การรักษานั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมะเร็งที่พบด้วย บางตำแหน่ง การรักษาคือการให้ยาเคมีบำบัด ร่วมกับการฉายรังสี หรือการผ่าตัด แต่หลักๆ คือ การให้ยาเคมีบำบัด
การดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
1. ต้องระวังเรื่องการติดเชื้อ เพราะได้รับยาเคมี จะทำให้ภูมิต้านทานร่างกายต่ำลง จึงต้องระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อมากเป็นพิเศษ โดยจะต้องใส่ใจดูแลตั้งแต่สภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัยให้สะอาด มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก นอกจากนี้หากมีคนในบ้านเจ็บป่วย ก็ต้องแยกกันอยู่ และหมั่นล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ
2. กินอาหารที่ดี มีประโยชน์ มีสารอาหารครบ 5 หมู่ เป็นอาหารที่ปรุงสุก และสะอาด หลีกเลี่ยงการกินผักหรือผลไม้สด งดกินอาหารหมักดองต่างๆ และเลือกกินโปรตีนที่มีคุณภาพ เช่น ไก่ ปลา หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน และอาหารรสจัด
3. ออกกำลังกายที่สามารถทำได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที
4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
5. หมั่นติดตามการรักษาโรคอย่างต่อเนื่อง มาพบแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
6. หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ขอขอบคุณ
แหล่งข้อมูล
อ.พญ.พิจิกา จันทราธรรมชาติ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล