ไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบบีสะพานสู่มะเร็งตับ

Views

คือ ภาวะการติดเชื้อของตับที่เกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โดยภาวะนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อตับ เช่น มะเร็งตับ ตับแข็ง และตับวาย เป็นต้น โดยการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวจะมาจากสารที่หลั่งออกมาจากร่างกายและสามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้ แต่สำหรับในประเทศไทยมักพบว่ามีการติดเชื้อโดยมีมารดาเป็นพาหะในการแพร่เชื้อไวรัสตับอักเสบบี (คลิกรับโปรแกรมตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบและคัดกรองโรคตับ)

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไวรัสตับอักเสบบี

  • การติดต่อผ่านทางของเหลวที่ออกมาจากร่างกาย เช่น สารคัดหลั่ง เลือด น้ำเชื้อ น้ำเหลือง เป็นต้น โรคนี้จะติดต่อผ่านคนสู่คนก็ต่อเมื่อของเหลวในร่างกายของผู้ติดเชื้อผ่านเข้าสู่ร่างกายของบุคคลอื่น โดยจะติดต่อผ่านทางบาดแผล รอยแผล หรือผิวหนังถลอก
  • การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
  • การใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น เข็มฉีดยา แปรงสีฟัน มีดโกน เป็นต้น
  • การติดต่อจากแม่ที่มีเชื้อไวรัสสู่ทารกในครรภ์

ชนิดของโรคไวรัสตับอักเสบบี

  • ชนิดเฉียบพลัน เมื่อได้รับเชื้อจะมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ตัวเหลือง ตาเหลือง อาการพวกนี้จะดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ และร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา ผู้ป่วยส่วนมากจึงไม่กลับไปเป็นโรคนี้อีก
  • ชนิดเรื้อรัง มักได้รับเชื้อไวรัสมาตั้งแต่เด็ก และเกิดเป็นโรคเรื้อรังและอาจส่งผลให้กลายเป็นโรคตับแข็ง และมะเร็งตับต่อไปได้

ความแตกต่างระหว่างไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี และอี

  • ไวรัสตับอักเสบเอ เป็นไวรัสที่ติดต่อกันผ่านการรับประทานอาหาร เช่น น้ำดื่ม ผัก ผลไม้ เป็นต้น โดยโรคไวรัสชนิดนี้จะสามารถหายเองได้โดยไม่เป็นพาหะ และไม่เป็นเรื้อรัง
  • ไวรัสตับอักเสบซี สาเหตุการติดเชื้อจะคล้ายกับไวรัสตับอักเสบบี แต่มีระยะฟักตัวของเชื้อน้อยกว่า ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรง และยังทำให้เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังอีกด้วย
  • ไวรัสตับอักเสบดี เป็นเชื้อไวรัสที่แฝงตัวอยู่ในเชื้อไวรัสตับอักเสบบี พบในกลุ่มผู้เสพยาเสพติดที่ฉีดสารเสพติดเข้าไปในเส้นเลือด โดยอาการจะทำให้ผู้ป่วยเกิดตับอักเสบซ้ำซ้อนขึ้นมาด้วย
  • ไวรัสตับอักเสบอี เป็นเชื้อไวรัสที่มักอยู่ในเนื้อสัตว์ เช่น หมู กวาง เป็นต้น สามารถติดต่อได้ผ่านทางการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ มักพบมากในประเทศอินเดียและกัมพูชา

แม้เชื้อไวรัสตับอักเสบจะมีหลายชนิดทั้งเอ บี ซี ดี และอี แต่เหตุที่ต้องให้ความสำคัญกับไวรัสตับอักเสบชนิดบีเพราะเป็ฺนไวรัสที่ทำให้ผู้ได้รับเชื้อมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังตับแข็ง และร้ายแรงจนอาจกลายเป็นโรคมะเร็งตับได้ในที่สุด

อาการของไวรัสตับอักเสบบี

ผู้ป่วยโรคนี้มักแสดงอาการออกมาหลังจากติดเชื้อไปแล้วประมาณ 1-3 เดือน โดยผู้ป่วยจะมีอาการ ดังนี้

  • มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีอาการอ่อนแรงและปวดตามข้อ
  • เบื่ออาหาร
  • ตาและผิวมีสีเหลือง
  • ปวดบริเวณช่องท้อง
  • ปัสสาวะมีสีเข้ม

การป้องกันไวรัสตับอักเสบบี

  • การรับวัคซีนเพื่อป้องกัน โดยเด็กจะต้องรับ 3 เข็ม คือ ตอนแรกเกิด ตอนอายุ 1-2 เดือน และ6-18 เดือน ตามลำดับ หากเป็นผู้ใหญ่ และไม่เคยรับวัคซีนควรรับวัคซีนเพื่อป้องกันด้วย
  • ไม่ควรใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้อื่น เช่น ต่างหู แปรงสีฟัน เป็นต้น
  • ต้องป้องกันทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • ป้องกันทุกครั้งหากต้องสัมผัสสารที่หลั่งออกมาจากร่างกาย เช่น ใส่ถุงมือ
  • รักษาความสะอาดของสิ่งของรอบตัว

การรักษาไวรัสตับอักเสบบี

  • ไวรัสตับอักเสบบีระยะเฉียบพลัน ผู้ป่วยสามารถหายจากโรคนี้ได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในการดูแลตนเอง เช่น อาศัยอยู่ในพื้นที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ทานยาปฏิชีวนะ และทานยาแก้ปวดกรณีปวดท้อง
  • ไวรัสตับอักเสบบีระยะเรื้อรัง ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน และลดโอกาสแพร่เชื้อใส่ผู้อื่น โดยสามารถรักษาได้ด้วยการรับยาต้านไวรัสตามคำแนะนำจากแพทย์

ภาวะแทรกซ้อน

จากที่กล่าวมาข้างต้นว่าโรคภาวะตับอักเสบบีสามารถพัฒนากลายเป็นโรคร้ายได้ ดังนี้

  • ตับแข็ง มีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 25 % โดยตับจะเกิดพังพืดขึ้นส่งผลต่อการทำงานของตับ
  • ตับวายเฉียบพลัน เป็นภาวะที่ตับหยุดการทำงาน และสามารถส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่มีการปลูกถ่ายตับ
  • มะเร็งตับ เมื่อมีการพัฒนาเป็นมะเร็งตับสามารถสังเกตอาการของผู้ป่วยได้ คือจะมีน้ำหนักลด ตาเหลืองผิวเหลือง และเบื่ออาหาร
  • ภาวะที่เกี่ยวกับเลือด เช่น ภาวะโลหิตจาง และการติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น

ขอขอบคุณ https://www.petcharavejhospital.com

Leave a Reply