โรคเก๊าท์ หนึ่งในโรคกระดูกและข้อที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เกิดจากการกินโปรตีนบางชนิดมากเกินไป ซึ่งโปรตีนดังกล่าวจะย่อยสลายเป็นกรดยูริคไปตกตะกอนในข้อ ทำให้ข้อหรือเนื้อเยื่อรอบๆ ข้ออักเสบเฉียบพลันการเกิดโรคเก๊าท์ผู้ป่วยมักมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานพอสมควร โดยเฉลี่ยมากกว่า 20 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะถ้าระดับกรดยูริกยิ่งสูง อุบัติการณ์การเกิดโรคจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เกิดอาการได้เร็วยิ่งขึ้น ในเพศชายพบโรคนี้ได้บ่อยกว่าเพศหญิงประมาณ 10 เท่า แต่วัยหลังหมดประจำเดือน เพศหญิงจะพบโรคสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเพศชาย

อาการ
การอักเสบ ของข้อครั้งแรกมักพบในเพศชายอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป โดยเฉลี่ย 40-60 ปี แต่ในเพศหญิงมักพบหลังวัยหมดประจำเดือนแล้ว ข้ออักเสบในระยะแรกมักเป็นเพียง 1-2 ข้อ จะมีการอักเสบรุนแรงเป็นเฉียบพลัน จากระยะเริ่มปวดจนอักเสบเต็มที่ภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนมากจะเกิดขึ้นทีละ 1 ข้อ ข้อที่พบบ่อย ได้แก่ โคนนิ้วโป้งเท้า ข้อเท้า ข้อกลางเท้า ข้อเข่า ข้อนิ้วมือ ข้อกลางมือ ข้อมือ ข้อศอก ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ถูกต้อง จำนวนข้อที่อักเสบจะเพิ่มขึ้น เริ่มพบที่ข้อมือ ข้อนิ้วมือ และข้อศอก การอักเสบรุนแรงขึ้น เป็นถี่ขึ้นและนานขึ้น จนกลายเป็นการอักเสบเรื้อรังไม่มีช่วงหายสนิท

อาหารที่ควรกิน
- ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเก๊าท์ สามารถกินอาหารที่มี สารพิวรีนต่ำได้ไม่จำกัด ได้แก่ นม ไข่ ธัญพืช ต่าง ๆ ผักสดต่าง ๆ ผลไม้
- อาหารที่มีสารพิวรีนปานกลาง กินได้น้อย (หากกินรวมกันต้องไม่เกิน 100 กรัมต่อวัน ) ได้แก่ เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัวที่ไม่ติดมัน ปลากระพงแดง ปลาหมึก ปู ถั่วลิสง ข้าวโอ๊ต พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วลันเตา สะตอ ดอกกะหล่ำ ผักโขม
อาหารที่ไม่ควรกิน
- เนื้อสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่เครื่องในสัตว์ต่างๆ หัวใจ ตับอ่อน ไต มันสมองปลา เช่น ปลาดุก ปลาอินทรีย์ ปลาไส้ตัน ปลาซาร์ดีน ไข่ปลา กุ้ง หอย กะปิ
- ผัก เช่น เห็ด กระถิน ชะอม ขี้เหล็ก หน่อไม้
- ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วแดง ถั่วแระ ถัวเขียว ถั่วเหลือง
- เบียร์ ขนมปังผสมยีสต์ น้ำต้มกระดูก
โรคที่พบร่วมกับโรคเก๊าท์
- โรคอ้วน
- โรคเบาหวาน
- ไขมันในเลือดสูง โรคไขมันในเลือดสูงโดยเฉพาะระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ พบว่าสูงร้อยละ 80 ของคนไข้โรคเก๊าท์ทั้งหมด
- ความดันโลหิตสูง
- โรคหลอดเลือดแข็งผิดปกติ
- ผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารตะกั่ว
- โรคไตวายเรื้อรัง คนไข้เป็นโรคไตที่สภาวะการทำงานของไตลดลงมาก ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ระดับกรด ยูริกสูงขึ้น เนื่องจากความสามารถในการขับถ่ายกรดยูริกออกทางปัสสาวะลดลง ผู้ป่วยที่เป็นโรคเก๊าท์อยู่แล้ว และไตเสื่อมลงไปอีกยิ่งทำให้ระดับกรดยูริกสูงขึ้น ผู้ป่วยโรคเก๊าท์จะเสียชีวิตจากภาวะไตวายประมาณร้อยละ 10
- โรคเลือดชนิด Sickle Cell Anemia, MyeloproliferativeDisease
- ผู้ป่วยโรคเลือดบางชนิด เช่นโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือได้รับเคมีบำบัดจะทำให้เซลล์ถูกทำลายอย่างรวดเร็ว จนทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงมากๆ ก่อให้เกิดโรคเก๊าท์ ข้ออักเสบ นิ่วที่ไต หรือแม้แต่ตัวกรดยูริกเองไปอุดตันตามท่อเล็กๆ ในเนื้อไต ทำให้เกิดไตวายได้

ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดข้ออักเสบ หรือทำให้ข้ออักเสบหายช้า
การได้รับยาบางชนิด เช่น ยาลดกรดยูริก ยาขับปัสสาวะ หรือยาแอสไพริน เป็นต้น จึงไม่ควรเริ่มยา หรือปรับเปลี่ยนยาดังกล่าวขณะที่มีข้ออักเสบ เพราะจะทำให้มีอาการมากขึ้น หรือหายช้า นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมได้แก่ การบาดเจ็บที่ข้อ การบีบนวดข้อ การดื่มแอลกอฮอล์ การผ่าตัด เสียเลือด เสียน้ำ และการติดเชื้อ
การรักษา
- ให้ยาแก้อักเสบในระยะเฉียบพลัน
- กรณีกรดยูริกสูงมาก เมื่อรักษาอาการอักเสบเฉียบพลันจนทุเลาลงแล้ว จึงให้ยาลดกรดยูริก
- งดเว้นอาหารที่มีกรดยูริกสูง และให้รับประทานอาหารที่มีกรดยูริกต่ำ
ขอขอบคุณข้อมูล:โรงพยาบางเปาโล