การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงนั้น จำเป็นจะต้องดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ โดยเฉพาะสุขภาพใจนั้นสำคัญกว่ากาย ดังคำกล่าวที่ว่า “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” หากจิตใจท้อแท้ ห่อเหี่ยว หมดกำลังใจแล้วล่ะก็จะทำให้ร่างกายพลอยแย่ตามไปด้วย ดังนั้น เราจึงควรมาทำความรู้จักกับ “โรคทางจิตเวช” ว่ามีโรคอะไรกันบ้าง เพื่อจะได้เข้าใจ เรียนรู้ และรับมือหากเกิดขึ้นกับเราหรือคนใกล้ตัว
รู้จัก “อาการทางจิตเวช”
“อาการทางจิตเวช” คือ อาการด้านพฤติกรรม ความคิด และอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คนไข้จะมีความคิดสับสน ซึ่งอาการดังกล่าวนี้อาจเกิดจากโรคทางกาย การใช้สารเสพติดต่างๆ หรือการกินยาบางชนิด หากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นแบบฉับพลัน เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หรือมีอาการสับสน ไม่สามารถการรับรู้สิ่งแวดล้อมได้เต็มที่ตามปกติ จำเป็นจะต้องพาคนไข้ไปตรวจอย่างละเอียดว่ามีสาเหตุมาจากโรคทางกายหรือไม่ ตรวจเช็กว่าคนไข้มีประวัติการใช้สารเสพติด ยาลดความอ้วน น้ำมันกัญชา โรคประจำตัว และอาการทางกายอื่นๆ หรือไม่ อย่างไร
ส่วนอาการทางจิตเวชที่เกิดจากโรคทางจิตเวชโดยตรงนั้น โดยส่วนมากแพทย์จะพิจารณาว่า อาการที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลให้เกิดความทุกข์อย่างมาก หรือกระทบต่อชีวิตประจำวันของคนไข้มากน้อยเพียงใด เช่น ไม่สามารถไปทำงานได้ ความสัมพันธ์ของคนรอบๆ ตัวเสียไป จึงจะสรุปได้ว่าอาการนี้เป็นโรคทางจิตเวช
โรคทางจิตเวชที่ควรรู้จัก เป็นโรคที่พบได้บ่อย และส่งผลกระทบต่อคนในวงกว้าง ในเชิงเศรษฐกิจ มีผลต่อการใช้ชีวิตของคนโดยรวมเป็นอย่างมาก
1.โรคซึมเศร้า
เป็นโรคที่คนในปัจจุบันเป็นกันมาก ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีอาการหดหู่ ท้อแท้ เบื่อหน่าย รู้สึกไม่มีคุณค่าในตนเอง สูญเสียสมาธิ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง จนทำให้ส่งผลเสียต่อตนเอง ไม่สามารถไปทำงานได้ตามปกติ ทำให้ขาดรายได้ไปจุนเจือตนเองและครอบครัว
2.ปัญหาจากการการใช้สารเสพติด โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การใช้สารเสพติดต่างๆ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนเกินขนาด จนทำให้มีปัญหาในการใช้ชีวิต ไม่มีสมาธิในการทำงาน ไม่สนใจดูแลตนเองและครอบครัว จนกระทั่งไม่สามารถไปทำงานได้ตามปกติ การใช้สารพวกนี้มากๆ ยังมีผลต่อสมองและอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายในระยะยาวอีกด้วย หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีปัญหานี้ สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการบำบัดได้
3. โรคจิตเภท
เป็นโรคที่คนไข้มีความคิดความอ่าน การรับรู้โลกของความเป็นจริงผิดไปจากเดิม เช่น มีอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน มองเห็นสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น แยกตัวออกจากสังคม ไม่ดูแลตนเอง หากไม่ได้เข้ารับการรักษา ในระยะยาวคนไข้ก็จะมีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การดำเนินโรคแย่ลง จึงควรพาคนไข้มาพบจิตแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ ที่เริ่มมีอาการ เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
4. โรคสมองเสื่อม
เป็นอีกโรคที่น่ารู้จัก เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโรคสมองเสื่อมก็เป็นโรคที่ผู้สูงอายุเป็นกันค่อนข้างมาก
โรคสมองเสื่อมนั้น เกิดจากหลายสาเหตุ มีสาเหตุที่รักษาให้หายได้ จึงควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย แต่สาเหตุส่วนมากเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด เช่น อัลไซเมอร์ โรคสมองเสื่อมที่เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดสมอง ส่งผลให้คนไข้ความจำแย่ลง มีความคิดอ่านที่ลดลง สื่อสารได้ลดลง แม้จะรักษาไม่หาย แต่มีวิธีการดูแลคนไข้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หากทั้งคนไข้และญาติมีรู้จักวิธีการดูแล ก็จะสามารถปรับตัวและรับมือกับโรคนี้ได้เหมาะสมขึ้น
5. โรควิตกกังวล
เป็นโรคที่ใครหลายคนอาจคิดว่าตนเองกำลังเป็นโรคนี้อยู่หรือไม่ เพราะความวิตกกังวลสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ถ้าเข้าข่ายการเป็นโรคนี้ คนไข้จะมีความกังวลอย่างมาก และเกินความสมเหตุผล ถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือมีความกังวลต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งจำเพาะ เช่น การเข้าสังคม สิ่งของจำเพาะ สถานการณ์จำเพาะบางอย่าง ซึ่งโรคแพนิคก็เข้าข่ายของโรคนี้ด้วยเช่นกัน
อาการของโรคแพนิค คนไข้จะมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ตกใจกลัว รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังจะเป็นอะไรไป โดยไม่มีสาเหตุทางกายอื่นๆ เกิดความวิตกกังวลว่าจะเกิดอาการแบบนี้ขึ้นอีก กังวลมากเกินไปจนไม่กล้าทำอะไร ไม่กล้าออกไปไหน กังวลจนเกินพอดี จนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
5 โรคทางจิตเวชที่คนไทยควรรู้จัก ล้วนเป็นโรคที่มีความสำคัญและมีผลต่อสุขภาพจิตของคนเราเป็นอย่างมาก หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการของโรคดังกล่าว ก็ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาทันที เพื่อเราจะได้มีสุขภาพจิตที่ดี และคุณภาพชีวิตที่ดี
ขอขอบคุณ
แหล่งข้อมูล
อ.นพ.กานต์ จำรูญโรจน์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล