โรคปอดโรคปอดอักเสบ

“ปอดอักเสบ” สาเหตุ อาการ และอันตรายต่อสุขภาพที่ควรรู้

Views

จากสถานการณ์โรคระบาดที่สร้างความกังวลให้กับประชาชน เกี่ยวกับเรื่อง ปอดอักเสบ นั้น การไม่ตื่นตระหนกและรับฟังข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือแพทย์ที่มีประสบการณ์ ก็จะช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์และโรคที่เกิดขึ้นได้ เพื่อเป็นการระมัดระวังและป้องกันอีกทางหนึ่ง

โรคปอดอักเสบ ทำให้กระบวนการแลกเปลี่ยนออกซิเจนทำงานได้ไม่ดี ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจอึดอัด หายใจลำบาก มีระดับความรุนแรงตั้งแต่รุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมากถึงขั้นเสียชีวิต เพราะฉะนั้นหากมีอาการผิดปกติควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและรักษาตามขั้นตอน จะช่วยบรรเทาอาการให้หายได้ในเร็ววัน

สาเหตุของโรคปอดอักเสบ

ศ.เกียรติคุณ นพ.สว่าง แสงหิรัญวัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์โรคปอดและระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคปอดอักเสบหรือโรคปอดบวม เป็นการอักเสบของเนื้อปอดและหลอดลม โดยเกิดขึ้นได้จาก 3 สาเหตุหลักคือ

  1. การติดเชื้อ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้อนิวโมค็อกคัส (Pneumococcus) เชื้อไวรัส ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ เชื้อไวรัสซาร์ส (SARS Virus) อื่น ๆ ได้แก่ เชื้อรา พยาธิ ฯลฯ
  2. การแพ้ภูมิตัวเอง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี (SLE) หรือภูมิต้านทานต่ำ ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกแฝด เด็กขาดสารอาหาร ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์นาน ๆ หรือ ในบางกรณีอาจเกิดจากโรคแทรกซ้อนของไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทอนซิลอักเสบ หัด อีสุกอีใส ไอกรน เป็นต้น
  3. อื่น ๆ ได้แก่ สำลักเศษอาหารเข้าไปในปอด หายใจเอาควัน ฝุ่น เข้าไปในร่างกายในปริมาณมาก 


อาการของโรคปอดอักเสบ

อาการของโรคปอดอักเสบที่ควรสังเกตคือ

  • ไอ
  • มีเสมหะ
  • มีไข้สูง
  • อาจตัวร้อนตลอดเวลา
  • หนาวสั่นมาก
  • หายใจลำบาก
  • หายใจหอบเร็ว
  • อาจเจ็บแปลบหน้าอกเวลาหายใจเข้า
  • อาจไอแรงร้าวไปที่หัวไหล่หรือสีข้าง


การวินิจฉัยโรคปอดอักเสบ

แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยจะใช้เครื่องตรวจฟังเสียงปอด หลังจากนั้นหากต้องทำการตรวจพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเอกซเรย์ปอด ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ ตรวจเสมหะ RP33 (Respiratory Pathogen Panel 33) เป็นต้น ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยเป็นสำคัญ


การรักษาโรคปอดอักเสบ

แพทย์จะทำการพิจารณารักษาตามอาการและสาเหตุเป็นหลัก หากเป็นปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ แพทย์จะให้รับประทานยาฆ่าเชื้อตามชนิดของเชื้อที่พบและนัดติดตามอาการเป็นระยะ หากอาการไม่ดีขึ้นจำเป็นจะต้องตรวจหาสาเหตุอื่นเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้หากเป็นผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ อายุมากกว่า 65 ปี มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เหนื่อยหอบรุนแรง เจ็บหน้าอก และรับประทานอาหารลำบาก อาจต้องอยู่โรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์


วิธีการป้องกันโรคปอดอักเสบ

การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอช่วยให้ห่างไกลจากโรคปอดอักเสบ นอกจากนี้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบคืออีกหนึ่งทางเลือกของการป้องกัน แต่จำเป็นจะต้องพบแพทย์เพื่อตรวจพิจารณาก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ ที่สำคัญ โรคปอดอักเสบเป็นโรคที่ไม่ควรละเลย เพราะการตรวจพบในระยะแรกเริ่มของโรคและทำการรักษาอย่างถูกต้อง ไม่เพียงช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น แต่ยังทำให้หายขาดได้โดยเร็ว

ขอขอบคุณhttps://www.sanook.com

ข้อมูล :ศ.เกียรติคุณ นพ.สว่าง แสงหิรัญวัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์โรคปอดและระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลกรุงเทพ

ภาพ :iStock

Leave a Reply