กรดไหลย้อนรู้ทัน-โรค

กรดไหลย้อน อีกหนึ่งโรคยอดฮิตของคนไทย รักษาอย่างไร? อันตรายไหม?

Views

อีกหนึ่งโรคยอดฮิตของคนไทย ไม่แพ้โรคเบาหวาน ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ คงต้องยกตำแหน่งให้กับโรค กรดไหลย้อน ซึ่งเป็นโรคที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ถูกต้อง ทานอาหารที่เต็มไปด้วยไขมัน ละเลยการดูแลสุขภาพเล็กๆ น้อยๆ และมีความเครียดสูง และการใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบในสภาพสังคมปัจจุบัน ซึ่งโรคดังกล่าวมักพบในกลุ่มหนุ่มสาวออฟฟิศเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เอื้อต่อการเกิดกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD)เป็นภาวะที่กรด หรือน้ำย่อย จากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร ภาวะเช่นนี้เป็นผลให้เกิดอาการที่เรียกกันว่า Heartburn นั่นคือความรู้สึกจุกแน่น ปวดแสบปวดร้อนบริเวณหน้าอกไปจนถึงลิ้นปี่ รู้สึกเปรี้ยวหรือขมในคอ โดยอาจมีอาการเวียนหัวและคลื่นไส้ร่วมด้วย และหากปล่อยให้เรื้อรังจนเกิดการอักเสบของหลอดอาหาร และมีแผลที่หลอดอาหาร หรือหลอดอาหารตีบ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารได้

สาเหตุโรค กรดไหลย้อน

  • กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณปลายหลอดอาหาร (LES) หย่อนยาน หรือปิดไม่สนิท
    ระหว่างหลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร มีกล้ามเนื้อทำหน้าที่เป็นหูรูดช่วยบังคับไม่ให้อาหารและกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร เมื่อเกิดภาวะที่ทำให้หูรูดนี้หย่อนยาน หรือปิดไม่สนิท จึงส่งผลให้กรดและอาหารที่กำลังย่อยในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนกลับเข้าสู่หลอดอาหาร
    ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหอบหืด อายุก็มีผล ในผู้สูงอายุกล้ามเนื้อหูรูดเกิดการหย่อนยาน ทำงานประสิทธิภาพลดลง หรือในเด็กอ่อน กล้ามเนื้อหูรูดยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ การทำงานจึงหย่อนยานจึงมีการขย้อนนมและอาหารออกมาได้ แต่อาการเหล่านี้จะหายไปเองเมื่อเด็กโตขึ้น เพราะกล้ามเนื้อหูรูดแข็งแรงขึ้น
  • การบีบตัวของหลอดอาหาร และกระเพาะอาหารลดน้อยลง
    ทำให้อาหารที่รับประทานลงช้า หรืออาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหาร ค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดการคั่งของอาหารและกรด เกิดแรงดันในกระเพาะอาหารดันให้หูรูดเปิด อาหาร หรือ กรดจึงไหลย้อนกลับเข้าสู่หลอดอาหาร
    โดยภาวะดังกล่าวมีสาเหตุจากอายุที่สูงขึ้น การอักเสบของกระเพาะอาหาร หรือของเส้นประสาทกระเพาะอาหาร ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาคลายเครียด ยาบรรเทาปวดกล้ามเนื้อ หรือจากสารบางอย่างที่ทำให้กล้ามเนื้อหย่อนยาน เช่น สุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การกินอาหารในแต่ละมื้อในปริมาณสูง (กินอิ่มมากเกินไป) การกินแล้วนอนเลย รวมถึงการทานอาหารประเภทไขมันสูงและช็อกโกแลต จะทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวลดลง
articles-post6-2

อาการโรคกรดไหลย้อน

  • อาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก ซึ่งจะเป็นมากหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก การนอนหงาย 
  • มีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก ผู้ป่วยมักมีอาการเรอและมีน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก
  • ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียนหลังรับประทานอาหาร
  • เจ็บหน้าอก จุกคล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณคอ ต้องพยายามกระแอมออกบ่อยๆ
  • หืดหอบ ไอแห้งๆ เสียงแหบ เจ็บคอ อาการเหล่านี้เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณกล่องเสียง ทำให้เกิดกล่องเสียงอักเสบ
  • ในเด็กเล็ก อาการที่ควรนึกถึงโรคนี้ ได้แก่ อาเจียนบ่อยหลังดูดนม โลหิตจาง น้ำหนักและการเจริญเติบโตไม่สมวัย ไอเรื้อรัง หืดหอบในเวลากลางคืน ปอดอักเสบเรื้อรัง ในเด็กบางรายอาจมีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับ

การปฏิบัติตัว เมื่อรู้ตัวว่าเป็นกรดไหลย้อน

ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่มาก เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน-อยู่เสียใหม่เพราะเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคโดยตรง

  • ระวังน้ำหนักตัวไม่ให้มาก หรืออ้วนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อกโกแลต
  • หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและการสูบบุหรี่ เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่จะไปกระตุ้นให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น รวมไปถึงจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์อาจทำให้หูรูดหลอดอาหารปิดไม่สนิท
  • ควรกินอาหารในปริมาณที่พอดีในแต่ละมื้อ หรือแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ แต่บ่อยครั้งมากขึ้นแทน การกินอาหารจนอิ่มเกินไป ไม่ควรกินอาหารรสจัดทุกมื้อ กินอาหารให้ตรงเวลา
  • ไม่ควรเข้านอน ออกกำลังกาย หรือยกของหนักหลังกินอิ่มทันที
  • ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูปหรือรัดเข็มขัดแน่นจนเกินไป
  • ควรรับประทานอาหารปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง
  • ปรับหรือหนุนหัวให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้ว หรือหากใช้เตียงไฟฟ้า ให้ปรับท่าศีรษะสูง-เท้าต่ำในการนอน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • พยายามหลีกเลี่ยงความเครียด เพราะอาจไปกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารให้มากขึ้น

ขอขอบคุณhttps://phartrillion.com/gerd/

รูปภาพจากhttps://www.pobpad.com/

Leave a Reply