โรคนี้แปลกตรงที่ยังไม่มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทย เลยไม่รู้จะบอกชื่อเป็นภาษาไทยได้อย่างไร แต่หลายคนก็เคยได้ยินโรคนี้กันมาบ้างแล้ว เพราะราชินีนักร้องลูกทุ่งคนดัง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ก็เสียชีวิตด้วยโรคนี้
โรคเอสแอลอี (SLE) ย่อมาจากชื่อเต็มในภาษาอังกฤษว่า systemiclupus erythematosus หรือเรียกง่าย ๆ ว่าโรคลูปัส เป็นโรคที่มีอาการเกิดขึ้นกับหลายระบบหรือหลายอวัยวะในร่างกาย ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงไป โดยแทนที่จะทำหน้าที่ต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมหรือโรคจากภายนอกร่างกาย กลับมาต่อต้าน หรือทำลายเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ก่อให้เกิดการอักเสบได้เกือบทุกอวัยวะของร่างกาย
อวัยวะที่เกิดการอักเสบได้บ่อยได้แก่ ผิวหนัง ข้อ ไต ระบบเลือด ระบบประสาท เป็นต้น การอักเสบนี้จะเป็นต่อเนื่องจนเป็น โรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง
อะไรเป็นสาเหตุ
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ แต่มีหลักฐานที่บ่งบอกว่าปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้มีส่วนร่วมในการทำให้เกิดโรคได้ คือกรรมพันธุ์ฮอร์โมนเพศหญิง ภาวะติดเชื้อโรคบางชนิด เช่น เชื้อไวรัสบางอย่าง
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมที่อาจทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคแล้ว หรือผู้ที่มีโอกาสเป็นโรคนี้ มีโอกาสกำเริบขึ้น เช่น แสงแดด หรือแสงอัลตราไวโอเลต การตั้งครรภ์ ยาหรือสารเคมีบางชนิด การออกกำลังกายหรือทำงานหนัก ภาวะเครียดทางจิตใจ
ใครมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้บ้าง
ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงอายุระหว่าง 20-45 ปี ที่พบมากสุดอยู่ในช่วงอายุประมาณ 30 ปี แต่ก็พบได้ในทุกช่วงอายุ ยังพบว่าผู้หญิงเป็นโรคเอสแอลอีมากกว่าผู้ชายถึง ๙ เท่า
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเอสแอลอีจะมีอาการอย่างไร
โรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการเกิดขึ้นกับหลายอวัยวะหรือหลายระบบของร่างกาย บางรายอาการเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน บางรายมีการแสดงออกเพียงอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งทีละระบบ เช่น มีปวดบวมตามข้อ มีผื่นขึ้นที่หน้า มีขาบวม หน้าบวมจากไตอักเสบ หรือมีอาการทางระบบประสาท เป็นต้น บางรายมีอาการค่อยเป็นค่อยไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
อาการที่เกิดขึ้นกับอวัยวะต่าง ๆ ที่สำคัญคือ
อาการทางผิวหนัง ผู้ป่วยมักมีผื่นแดงขึ้นที่บริเวณใบหน้า บริเวณสันจมูก และโหนกแก้ม 2 ข้าง เป็นรูปคล้ายผีเสื้อ หรือมีผื่นแดงคันบริเวณนอกร่มผ้าที่ถูกแสงแดด หรือมีผื่นขึ้นเป็นวง เป็นแผลเป็นตามใบหน้า หนังศีรษะ หรือบริเวณใบหู มีแผลในปาก โดยเฉพาะบริเวณเพดานปาก นอกจากนี้ยังมีผมร่วงมากขึ้น
อาการทางข้อและกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดข้อ มักเป็นที่ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อไหล่ ข้อเข่า หรือข้อเท้า บางครั้งมีบวมแดงร้อนร่วมด้วย
อาการทางไต ผู้ป่วยมักมีอาการบวมบริเวณเท้า 2 ข้าง ขา หน้า หนังตา เนื่องจากมีอาการอักเสบที่ไต รายที่มีอาการรุนแรงจะมีความดันเลือดสูงขึ้น ปัสสาวะออกน้อยลง ไปจนถึงขั้นไตวายได้ในระยะเวลาอันสั้น
อาการทางระบบเลือด ผู้ป่วยอาจมีเลือดจาง มีเม็ดเลือดขาวหรือเกล็ดเลือดลดลง ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย มีภาวะติดเชื้อง่าย หรือมีจุดเลือดออกตามตัวได้
อาการทางระบบประสาท ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการชัก หรือมีอาการพูดเพ้อเจ้อไม่รู้เรื่อง หรือคล้ายคนโรคจิตจำญาติพี่น้องไม่ได้ เนื่องจากมีการอักเสบของสมองหรือหลอดเลือดในสมอง
นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการทั่วไป เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศรีษะ จิตใจหดหู่ ร่วมได้
ให้พึงสังเกตว่าอาการของโรคมักจะแสดงความรุนแรงมากหรือน้อยภายในระยะเวลา 1-2 ปีแรก จากที่เริ่มมีอาการ หลังจากนั้นมักจะเบาลงเรื่อย ๆ แต่อาจมีอาการกำเริบรุนแรงได้เป็นครั้งๆ
เมื่อไรควรสงสัยว่าเป็นโรคนี้
1. มีไข้ต่ำๆ ไม่ทราบสาเหตุเป็นเวลานาน
2. มีอาการปวดตามข้อ
3. มีผื่นขึ้นบริเวณใบหน้า หรือมีผื่นคันบริเวณที่ถูกแสงแดด
4. มีผมร่วงมากผิดปกติ
5. มีอาการบวมตามขา หน้าหรือหนังตา
การรักษาโรคนี้ทำอย่างไร
การรักษาโรคเอสแอลอีจะต้องอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรคของผู้ป่วย การปฎิบัติตัวอย่างถูกต้องของผู้ป่วย และการดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ผู้ทำการรักษา
การเลือกวิธีการรักษาโรคนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย ถ้าผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง การใช้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือแอสไพริน หรือยาลดการอักเสบก็ควบคุมอาการได้
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงขึ้นอาจต้องใช้ยาประเภทสตีรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกันในขนาดต่างๆตามความเหมาะสม ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับความรุนแรงและระบบอวัยวะที่มีการอักเสบ
ผู้ป่วยโรคนี้ควรจะปฎิบัติตัวอย่างไร
การปฎิบัติตัวที่ถูกต้องเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการรักษาโรคเอสแอลอีให้ได้ผล การปฎิบัติตัวที่ถูกต้องทำได้ดังนี้
1. พยายามหลีกเลี่ยงแสงแดดตั้งแต่ช่วง 10.00 – 16.00 น. ถ้าจำเป็นให้กางร่ม ใส่หมวก สวมเสื้อแขนยาว ใช้ยาทากันแดด
2. พักผ่อนให้เพียงพอ
3. หลีกเลี่ยงความตึงเครียด พยายามฝึกจิตใจให้ปล่อยวาง ทำใจยอมรับกับโรคและปัญหาอื่น ๆ
4. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
5. ไม่กินอาหารที่ไม่สุกหรือไม่สะอาด
6. กินอาหารที่มีแคลเซียมสูง
7. ไม่กินยาเองโดยไม่จำเป็นเพราะยาบางตัวอาจทำให้โรคกำเริบได้
8. ป้องกันการตั้งครรภ์ขณะโรคยังไม่สงบ และหลีกเลี่ยงการคุมกำเนิดโดยวิธีใส่ห่วง เพราะมีโอกาสติดเชื้อสูงกว่าคนปกติ
9. เมื่อโรคอยู่ในระยะสงบสามารถตั้งครรภ์ได้ โดยได้รับการตรวจจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
10. หลีกเลี่ยงจากสถานที่แออัดและไม่เข้าใกล้ผู้ที่กำลังเป็นโรคติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด เพราะมีโอกาสติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้ง่าย
11. ถ้ามีลักษณะที่บ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อ เช่น ไข้สูง หนาวสั่น มีฝีตุ่มหนองตามผิวหนัง ไอเสมหะเหลืองเขียว ปัสสาวะแสบขัด ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที
12. หากกินยากดภูมิคุ้มกันอยู่ให้หยุดยานี้ชั่วคราวในระหว่างที่มีการติดเชื้อ
13. มาตรวจตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ
14. ถ้ามีอาการผิดปกติที่เป็นอาการของโรคกำเริบให้มาพบแพทย์ก่อนนัด เช่น มีอาการไข้เป็น ๆ หาย ๆ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด บวม ผมร่วง ผื่นใหม่ ๆ ปวดข้อ เป็นต้น
15. ถ้ามีการทำฟัน หรือถอนฟัน ให้กินยาปฎิชีวนะก่อนและหลังทำฟัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยต้องปรึกษาแพทย์สม่ำเสมอ
ผู้ป่วยโรคเอสแอลอีจะเสียชีวิตก็ต่อเมื่อ
1. จากตัวโรคเอง ผู้ป่วยมีอาการอักเสบรุนแรงของอวัยวะสำคัญ เช่น ไต สมอง หลอดเลือด โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที
2. จากภาวะติดเชื้อ เนื่องจากโรคนี้ทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติอยู่แล้ว ยาที่ผู้ป่วยได้รับทั้งยาสตีรอยด์ และยากดภูมิคุ้มกันยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วไป
3. จากยาหรือวิธีการรักษาที่ไม่ถูกต้อง หรือขนาดยาที่ไม่เหมาะสม
อ่านมาตั้งแต่ต้นจะเห็นว่า โรคเอสแอลอีเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่มีอาการและอาการแสดงได้หลากหลายมีความรุนแรงได้ตั้งแต่น้อยจนถึงมาก การรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มมีอาการจะทำให้ผู้ป่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคหรือเกิดความพิการน้อยลง
การปฎิบัติตัวของผู้ป่วยอย่างถูกต้องเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ ถึงแม้โรคนี้จะไม่หายขาด แต่ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะทำให้โรคเข้าสู่ระยะสงบได้ ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้เหมือนปกติทั่วไป
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 274เดือน/ปี: กุมภาพันธ์ 2545คอลัมน์: โรคน่ารู้นักเขียนรับเชิญ: รศ.นพ.กิตติ โตเต็มโชคชัยการ
ขอขอบคุณhttps://www.doctor.or.th/