4 ล้านเสี่ยงตาย ‘โรคหืด’
หลายคนเชื่อว่าโรคหัวใจคือมัจจุราชร้ายคร่าชีวิตคนไทยอย่างรวดเร็วที่สุด แต่สำหรับแพทย์หรือพยาบาลแล้วโรคหืดเป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังที่น่าหวาดกลัวไม่แพ้กัน
เพราะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเฉียบพลัน หากส่งเข้าห้องฉุกเฉินไม่ทันการณ์ ยิ่งไปกว่านั้นจำนวนผู้ป่วยโรคหืดในไทยเพิ่มสูงกว่า 4 ล้านคนแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่พบมากขึ้นทุกปี
เนื่องจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษเพิ่มขึ้น รวมถึงการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคหืด ลูกที่เกิดมาจะเป็นโรคนี้ร้อยละ 20 แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคหืดลูกจะเป็นโรคนี้ถึงร้อยละ 60
คนทั่วไปเรียกว่าโรคหอบหืด แต่แพทย์เรียกว่า “โรคหืด” (Asthma) ส่วนหอบเป็นเพียงอาการที่เกิดขึ้น
รศ.นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล ประธานชมรมโรคหืดภาคเหนือ ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์โรคหืดในประเทศไทยรุนแรงขึ้นทุกปี คนไทยป่วยเป็นโรคนี้ร้อยละ 7 หรือกว่า 4 ล้านคน ในขณะที่ทั่วโลกมีผู้ป่วยทั้งหมด 300 ล้านคน สิ่งที่น่าวิตกกังวลคือ เมืองไทยมีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลจากโรคหืดปีละ 1 แสนกว่าคน
เฉลี่ยมากกว่าในยุโรปและอเมริกาถึง 2 เท่า ทั้งที่เป็นโรคควบคุมอาการได้ หากผู้ป่วยดูแลตัวเองอย่างดี และศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับยาที่ใช้ประจำอย่างถูกต้อง ยิ่งไปกว่านั้นในเด็กเล็กหากผู้ปกครองเอาใจใส่ดูแลพามาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่เริ่มมีอาการ เด็กอาจได้รับการรักษาจนหายได้
“ผู้ป่วยโรคหืดคือคนที่มีอาการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้หลอดลมไวต่อสารที่ก่อภูมิแพ้มากกว่าคนปกติ เมื่อเจอพวกไรฝุ่น เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ฯลฯ หลอดลมจะหดตัวหรือหลอดลมตีบ ทำให้อากาศเข้าสู่ปอดน้อยลง หายใจติดขัด มีเสมหะ แน่นหน้าอก ถ้าหลอดลมอักเสบรุนแรงบ่อยๆ จะทำให้หลอดลมถูกทำลายอย่างถาวรได้ ในอดีตผู้ป่วยจะใช้ยาพ่นขยายหลอดลมหรือยาสูดฉุกเฉินเฉพาะตอนมีอาการหอบแล้วหายใจไม่ออก แต่ปัจจุบันมียาควบคุมอาการหรือยาต้านการอักเสบของหลอดลมแล้ว
แต่ต้องมาพบแพทย์ดูอาการก่อน หมอจะสั่งยาควบคุมให้ 3-6 เดือน เป็นยาสูดที่คนไข้ต้องใช้ต่อเนื่องทุกวัน แม้จะไม่มีอาการก็ตาม ถ้ารักษาจนครบคอร์สจะช่วยให้กลับมามีชีวิตได้เกือบเหมือนคนปกติ แต่อาจมีอาการหอบได้อีกถ้าไปเจอสารกระตุ้นภูมิแพ้อย่างแรง แต่เทียบกับคนที่ไม่ใช้ยาควบคุมแล้ว จะทำงานหรือนอนหลับและออกกำลังกายได้มีประสิทธิภาพมากกว่า ที่สำคัญคืออัตราการเข้าห้องฉุกเฉินมีน้อยกว่า”
รศ.นพ.เฉลิม อธิบายว่า ปัจจุบันยาโรคหืดมี 2 ประเภท คือ ยาควบคุมอาการไม่ให้เกิดอาการหอบกำเริบ กับยาบรรเทาอาการช่วยขณะมีอาการหอบ ตอนนี้ผู้ป่วยไทยใช้ยาควบคุมเพียงร้อยละ 6.7
ขณะที่ต่างประเทศใช้สูงถึงร้อยละ 30-40 ทำให้ผู้ป่วยไทยเข้าห้องฉุกเฉินเฉลี่ยปีละเกือบหมื่นราย จากสถิติปี 2538 มีผู้ป่วยโรคหืดเข้าห้องฉุกเฉิน 7 หมื่นคน ปี 2543 มี 9 หมื่นคน
และในปี 2545 เพิ่มเป็น 1 แสนกว่าคนแล้ว ที่สำคัญคือ กลุ่มที่มาโรงพยาบาลไม่ทันจนเสียชีวิตมีสูงถึงปีละ 1,000 กว่าราย เฉลี่ยตายวันละ 3 คน ทั้งที่ในต่างประเทศไม่ค่อยมีผู้ป่วยโรคหืดเสียชีวิตเท่าไรนัก
ทั้งนี้ สาเหตุเกิดจากเข้าใจว่า หายใจไม่ออกก็ใช้ยาพ่นฉุกเฉินขยายหลอดลม สักพักอาการก็หายแล้ว แต่ไม่รู้ว่ายาพ่นฉุกเฉินหากใช้บ่อยจะทำให้ร่างกายเกิดอาการดื้อยา เมื่อเกิดอาการขึ้นอย่างรุนแรง พ่นยาซ้ำหลายครั้งก็ไม่ได้ผลเหมือนเดิม ทำให้เสียชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย จึงอยากชักชวนผู้ป่วยหืดให้มารักษาอย่างถูกวิธี โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะอยู่ในโครงการ 30 บาท
ด้าน รศ.พญ.มุฑิตา ตระกูลทิวากร หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงผลการศึกษาของ ISAAC ในปี 2550 ที่สำรวจโรคหืดในเด็กทั่วโลกเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างปี 2538 กับ 2542 พบว่า ภายใน 5 ปี เด็กอายุ 6-7 ขวบในกรุงเทพฯ
เป็นโรคหืดเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 11 เป็นร้อยละ 15 ส่วนที่เชียงใหม่เพิ่มจากร้อยละ 5.5 เป็น 7.8 ปัญหาที่พบบ่อย 3 ข้อ คือ 1.ผู้ปกครองไม่รู้ว่าลูกเป็นโรคหืด คิดว่าเป็นแค่โรคภูมิแพ้ เพราะอาการคล้ายกัน 2.ไปรักษากับผู้ที่ไม่ได้เชี่ยวชาญโรคหืดโดยตรง เช่น เมื่อเด็กมีอาการไอจากโรคหืดจะให้ยารักษาไม่ถูกต้อง เช่น ให้ยาแก้ไอ หรือยาแก้ไข้ 3.ครูที่โรงเรียนขาดความรู้เรื่องโรคหืด จึงไม่รู้ว่านักเรียนมีอาการผิดปกติกว่าเด็กคนอื่นอย่างไร
ดังนั้น จึงอยากแนะนำผู้ปกครอง หากพบลูกหลานของตัวเองเป็นโรคหืดตั้งแต่ยังเด็ก แล้วพามารักษาอย่างถูกต้องและปฏิบัติตัวที่ดี ถ้าอาการไม่รุนแรงมากนักอาจรักษาจนหายขาดได้ หรือควบคุมได้จนแทบไม่มีอาการเลย แต่ถ้าปล่อยไว้นานๆ หลอดลมจะเสียมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นโรคหืดถาวร
“พ่อแม่ต้องสังเกตลูกๆ อย่างละเอียด ถ้ามีอาการไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก เป็นหวัดบ่อย หายใจมีเสียงดังวี้ดๆ เหนื่อยง่าย แสดงว่าอาจเป็นอาการโรคหืดให้รีบพาไปหาแพทย์เชี่ยวชาญ เพื่อวิเคราะห์หาโรคให้ถูกต้อง เด็กบางคนอาจเป็นแค่ภูมิแพ้
แต่บางคนเป็นโรคหืด ส่วนใหญ่เด็กที่เป็นโรคหืดจะเป็นโรคภูมิแพ้รวมอยู่ด้วย บางคนคิดว่าลูกตัวเองเป็นแค่ภูมิแพ้ ไม่รู้ว่าเป็นหืด ทำให้เด็กได้รับการรักษาไม่ถูกต้องแต่แรก เพราะถ้าเด็กได้รับยาสม่ำเสมอเพียง 3-6 เดือน อาการหอบหืดก็อาจหายขาดไปเลย ไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่อาการจะดีขึ้นมาก แต่ไม่หายขาดอย่างเด็ก”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ที่ผ่านมา รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ได้จัดสัมมนาวิชาการ “วัดนัดพบผู้ป่วยโรคหืดภาคเหนือสัญจร ครั้งที่ 2” ผู้ป่วยโรคหืดเกือบ 50 คน ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง
“ถิรายุ เชื้อเมืองพาน” วัย 13 ปี เล่าถึงความทรมานจากโรคหืดให้ฟังว่า ตอนเด็กจะนอนกรนเสียงดังมาก บางวันก็ตาบวมแดง น้ำมูกไหล ตอนนอนเริ่มหายใจติดขัด แต่แม่ไม่รู้ว่าเป็นอะไรจนกระทั่งเริ่มหายใจไม่ออกในบางคืน แม่พาไปหาหมอตรวจหาสารภูมิแพ้ เลยรู้ว่าแพ้ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนแมว และเป็นโรคหืด หมอให้ยาพ่นฉุกเฉินพกติดตัวไว้ แต่ก็ไม่เป็นอะไรมาก กระทั่งเมื่อ 3 เดือนก่อน เดินขึ้นบันไดโรงเรียนแล้วหายใจไม่ออก พ่นยาฉุกเฉิน 2 ครั้งอาการยังไม่ดีขึ้น เลยรีบไปห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล โชคดีที่ไม่เป็นอะไร
ขณะที่ “แสงนวล พิศาลธนพันธุ์” หัวหน้าพยาบาลโรคระบบทางเดินหายใจ เตือนว่า ผู้ป่วยโรคหืดที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เพราะมาโรงพยาบาลไม่ทัน หรือเชื่อมั่นในยาฉุกเฉินมากเกินไป กว่าจะถึงห้องฉุกเฉินหลอดลมก็ตีบมากจนช่วยไม่ได้แล้ว วิธีสังเกตคือ เมื่อหายใจตื้อๆ ไม่เต็มอิ่ม นั่งพักก็ไม่หาย เริ่มไอมากๆ แน่นหน้าอก ให้รีบพ่นยาฉุกเฉินครั้งที่ 1
เมื่อผ่านไป 5 นาที ถ้ายังไม่ดีขึ้นให้พ่นยาครั้งที่ 2 ถ้ายังไม่ดีขึ้นอีกก็ให้พ่นยาครั้งที่ 3 แล้วรีบมาโรงพยาบาล หรือถ้ามีการพ่นยาครั้งที่ 4 แล้วให้เรียกรถพยาบาลฉุกเฉินทันที โดยส่วนตัวเชื่อว่าถ้าผู้ป่วยโรคหืดดูแลรักษาตัวเองอย่างดี จำนวนผู้เสียชีวิตกะทันหันในโรงพยาบาลจะลดลงกว่านี้อีกมาก
ขอขอบคุณข้อมูล:apunnee.wordpress.com