4 มีนาคม 2562 ดร.,นพ. โอบจุฬ ตราชู
เราทุกคนมียีนกลายพันธุ์
แล้ว มะเร็ง กรรมพันธุ์ สัมพันธ์กันหรือเปล่า
ร่างกายของคนเราประกอบด้วยเซลล์จำนวนนับล้านล้านเซลล์ ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่แตกต่างกันไป ตามคำสั่งของรหัสพันธุกรรมภายในเซลล์ รหัสพันธุกรรมหรือที่เรียกว่า ยีน (gene) ได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่ โดยสามารถแสดงออกให้เราเห็นจากภายนอก เช่น รูปร่าง หน้าตา สีผม ลักยิ้ม หรือจากภายในเช่น การตอบสนองต่อยา การตอบสนองต่ออาหาร และความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ รวมถึงโรค มะเร็ง
ในแต่ละวัน สิ่งแวดล้อมและสารพิษรอบตัว หรือแม้กระทั่งรหัสพันธุกรรมที่ผิดปกติมาตั้งแต่เกิด สามารถกระตุ้นให้เกิดยีนกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลาโดยที่ไม่มีสัญญาณเตือน หากร่างกายไม่มีสารต้านอนุมูลอิสระที่เพียงพอมาต่อสู้ หรือระบบซ่อมแซม และกำจัดยีนที่ผิดปกติมาแก้ไข ยีนกลายพันธุ์เหล่านั้น จะเปลี่ยนเป็นยีนมะเร็งในที่สุด
ยีนที่เกี่ยวกับมะเร็งนั้นมีอยู่ด้วยกันประมาณ 500 ยีนจากยีนทั้งหมดในร่างกายกว่า 20,000 ยีน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
- ยีนก่อมะเร็ง (oncogenes) เป็นยีนที่ทำหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์จนไม่สามารถควบคุมได้
- ยีนต้านมะเร็ง (tumor suppressor genes) เป็นยีนปกติที่ช่วยซ่อมแซม DNA ที่เสียหายและชะลอการแบ่งตัวของเซลล์ หากยีนต้านมะเร็งกลายพันธุ์หรือผิดปกติ จะนำไปสู่การเป็นมะเร็งในที่สุด
ใคร?? ที่เสี่ยงเป็นทายาทมะเร็งลำไส้ใหญ่
- บุคคลทั่วไปที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิด มะเร็ง เช่น ท้องผูกบ่อย ทานผักน้อย ชอบทานอาหารประเภทปิ้งย่าง ไหม้เกรียม ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ มีความเครียดสะสมเรื้อรัง และอายุมากกว่า 50ปี
- บุคคลปกติที่มีประวัติญาติพี่น้องสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่มะเร็งปอด มะเร็งทวารหนัก และอื่นๆ จำนวนมากกว่า 2 คนขึ้นไป หรือ มีญาติสายตรงเป็นคนเดียวในช่วงอายุน้อยกว่า 50 ปี ด้วยการส่องกล้องมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยเทคนิค NBI จากญี่ปุ่น แม่นยำ 2 เท่า คลิกอ่านต่อที่นี่
- บุคคลปกติที่มีสมาชิกในครอบครัว ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค มะเร็ง กรรมพันธุ์
Precision Medicine ช่วยป้องกันและรู้ทันมะเร็งลำไส้ด้วย 2 แนวทาง
- กรณีพบว่าท่านมีสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครอบครัวที่เป็นญาติสายตรง เป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่
กรณีนี้ท่านมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติทั่วไป ควรรีบมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ ในเรื่องการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ก่อน 50 ปี เพราะโดยส่วนมากแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ ส่องกล้องที่ช่วงอายุของคนในบ้านพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลบด้วยสิบ เช่น คุณพ่อพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ที่อายุ 40 ปี ลูกๆควรเข้ามาปรึกษาแพทย์แต่เนิ่นๆที่อายุ 40-10= 30 ปี
- กรณีพบว่าท่านไม่มีสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครอบครัว เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เลย
อย่าชะล่าใจ เพราะหลายครั้งที่ ยีนมะเร็ง จากพันธุกรรมนั้นอาจจะแสดงออกหรือไม่ก็ได้ในช่วงชีวิตหนึ่ง ขึ้นกับสภาพร่างกายของแต่ละคน พ่อหรือแม่ของเราอาจมียีนมะเร็ง แต่ไม่แสดงออกมา ซึ่งท่านสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการตรวจยีนมะเร็งลำไส้ ซึ่งตรวจจากเลือด น้ำลาย หรือเซลล์กระพุ้งแก้ม โดยไม่ต้องงดน้ำหรืออาหาร และรอผลเพียงแค่ 30 วันเท่านั้น
วิธีการรักษา มะเร็งลำไส้ใหญ่
ในปัจจุบันเราสามารถให้การรักษา มะเร็งลำไส้ใหญ่ แบบเฉพาะเจาะจงได้หลายแนวทาง เช่น
- การใช้ยาชนิดเจาะจงเป้าหมาย (Targeted therapy) ในการฆ่าเซลล์มะเร็งแบบไม่ทำลายเซลล์ข้างเคียง เพื่อช่วยให้การรักษาประสบความสำเร็จและยืดอายุคนไข้ออกไป อีกทั้งยังลดความทรมานจากผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ซึ่งก่อนใช้ยาแพทย์อาจตรวจยีนเพื่อหาการตอบสนองต่อต่อยาที่จะใช้
- การรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัด(Immunotherapy in Colon Cancer) ซึ่งช่วยให้การตอบสนองของเซลล์มะเร็งต่อยาดีกว่าเดิม โดยภูมิคุ้มกันบำบัดที่เราใช้มีหลากหลาย เช่น โมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibodies) สารเลียนแบบสารภูมิต้านทานของร่างกายเราเองที่พัฒนาให้มีความจำเพาะและออกฤทธิ์ต่อมะเร็งชนิดนั้นๆ และสารยับยั้งการทำงานที่อิมมูนเช็คพอยต์ (Immune Checkpoint Inhibitors) ซึ่งมีกลไกกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราเองตรวจจับและฆ่าเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น เพิ่มโอกาสในการมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นกว่าเดิม
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.samitivejhospitals.com/