อาการ “นอนติดเตียง” สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีสุขภาพร่างกายอยู่ในภาวะเสื่อมโทรม จนต้องนอนอยู่บนเตียงอย่างเดียวตลอดเวลาไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ บางรายอาจจะพอขยับร่างกายบางส่วนได้บ้างเคลื่อนไหวได้ หรือบางรายอาจไม่รู้สึกตัวเลย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยมีอาการนอนติดเตียง มักเกิดจากโรค อุบัติเหตุ รวมถึงจากการผ่าตัดใหญ่ สิ่งที่ตามมาจากภาวะการนอนติดเตียง คือผลข้างเคียงที่นำพาไปสู่การเสียชีวิต เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินปัสสาวะ เกิดแผลกดทับ การขาดอาหารอย่างรุนแรง เป็นต้น ดังนั้น การดูแลผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง จึงจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้อง
เป้าหมายการดูแล ฟื้นฟูผู้ป่วยติดเตียง
ขั้นตอนการดูแลหลักๆ ในกรณีผู้ป่วยนอนติดเตียงมี 3 ข้อ โดยให้ความสำคัญในส่วนของผู้ดูแล เพื่อปฏิบัติตัวกับผู้ป่วยได้ถูกต้อง
1.เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีที่สุด ไม่มีแผลกดทับ ลดการติดเชื้อ ลดอาการข้อติด ไม่ขาดสารอาหาร มีความสะอาด การขับถ่ายถูกหลักอนามัย
2.ลดภาระการนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล เพราะการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในแต่ละครั้ง มีเรื่องค่าใช้จ่ายรวมถึงมีอุปสรรคในการเคลื่อนย้าย
3.ลดภาระของผู้ดูแลให้น้อยที่สุด คือพยายามให้ผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุร่วมมือกับผู้ดูแลในการขยับ หรือยกส่วนต่างๆ ของตัวผู้สูงอายุเอง
ปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวัง เมื่อผู้สูงอายุนอนติดเตียง
1.แผลกดทับจากการนอนนิ่งๆ เป็นเวลานาน
สาเหตุการเกิดแผลกดทับ คือการที่ผู้ป่วยนอนนานๆ บริเวณที่เป็นปุ่มกระดูกต่างๆ เหล่านี้จะขาดเลือดมาเลี้ยงที่ผิวหนัง จึงทำให้เซลล์บางตัวตายจนเป็นแผลไปเรื่อยๆ สามารถเกิดขึ้นได้หลายจุด เช่น ท้ายทอย สะบัก ศอก สะโพก กระดูกก้นกบ ส้นเท้า เป็นต้น ในระยะแรกอาจเกิดอาการลอกแค่ที่ผิว แต่พอนานวันเข้าก็อาจจะลอกไปจนถึงชั้นกล้ามเนื้อ หรืออาจจะถึงชั้นกระดูก และเมื่อร่างกายปราศจากผิวหนังซึ่งทำหน้าที่ปกคลุมเเล้ว โอกาสเกิดการติดเชื้อจึงมีมากขึ้น และอาจรุนแรงถึงชีวิตได้
การป้องกัน และหลีกเลี่ยงการเกิดแผลกดทับ ผู้ป่วยนอนติดเตียงที่ไม่สามารถพลิกตัวเองได้เองจึงเป็นหน้าที่ของผู้ดูแล ควรพลิกตัวผู้ป่วยทุกๆ 2 ชั่วโมง พร้อมเปลี่ยนท่าในการนอนใหม่ เช่น นอนหงาย นอนตะแคงสลับกันไป หลีกเลี่ยงความยับย่นของเสื้อผ้า โดยประเมินจากสภาพผิวหนัง และการทำความสะอาดผิวหนัง ไม่ควรให้เปียกชื้น ควรมีอุปกรณ์เสริมเพื่อลดแรงกดทับ เช่น ฟองน้ำ ที่นอนลม หมอนผ้านุ่มๆ เจลรองปุ่มกระดูก
2.ภาวะกลืนลำบาก
สาเหตุของภาวะกลืนลําบากที่พบได้บ่อย คือความผิดปกติทางช่องปาก และคอหอยในผู้สูงอายุ คือโรคหลอดเลือดสมอง และภาวะสมองเสื่อม ซึ่งภาวะกลืนลำบาก มีความเสี่ยงต่อการลำลักในขณะรับประทานอาหาร อาจทำให้ปอดเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อ เพราะเศษอาหารหลุดเข้าไปที่หลอดลม และที่แย่ไปกว่านั้น คือเศษอาหารชิ้นใหญ่อาจเข้าไปอุดหลอดลมได้ ดังนั้น ผู้ดูแลควรปรับเตียง 45-90 องศา จับลุก นั่งบนเตียง โดยใช้หมอนช่วยดันหลังให้ทรงตัว นอกจากนี้ ควรปรับอาหารให้เหมาะสม
การปรับอาหาร (Dietary modification) เป็นวิธีการรักษาที่มีความสําคัญ อาจเริ่มจากการให้อาหารข้น แต่ในปริมาณน้อยก่อน เช่น โจ๊กปั่น เพื่อดูว่าผู้ป่วยที่นอนติดเตียงสามารถกลืนได้หรือไม่ รวมถึงไม่รีบป้อนอาหาร ควรก้มคอกลืนอาหารที่ป้อน ห้ามแหงนคอไปข้างหลัง และหยุดป้อน หากมีอาการสำลักทันที
3.ความสะอาด
การชำระล้างร่างกาย และการขับถ่าย เป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ดูแลไม่ควรละเลย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีการใส่สายสวนปัสสาวะเข้าไปภายในร่างกาย เพราะเป็นการเพิ่มโอกาสการติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้น ผู้ดูแลควรเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะให้ผู้ป่วยเป็นประจำทุก 2 – 4 สัปดาห์ และทำความสะอาดสายด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ ทุกครั้ง หากพบว่าปัสสาวะของผู้ป่วยมีสีขุ่น ข้น หรือปัสสาวะไม่ออก ควรรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที หมั่นดูแลความสะอาดในการขับถ่าย เพื่อป้องกันการรับเชื้อต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย รวมทั้งการดูแลช่องปาก และฟัน
การดูแลสุขภาพช่องปาก (oral hygiene) มีส่วนสําคัญสําหรับการรักษาภาวะอาการกลืนลําบากซึ่งมักถูกมองข้าม การดูแลสุขภาพช่องปากจะช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียในช่องปาก ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดปอดอักเสบจากการสําลัก ทําได้โดยพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อลดอาการปากแห้ง ผู้ที่บ้วนปากไม่ได้ควรเช็ดทําความสะอาดช่องปากและลิ้นหลังอาหารทุกมื้อ ดูแลเอาอาหารที่ค้างภายในช่องปากออกให้หมด รวมถึงเฝ้าระวังการเกิดเชื้อราในช่องปาก เป็นต้น
สภาพแวดล้อมของห้องนอน ควรจัดให้เหมาะสมกับการใช้งาน สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ทำความสะอาดให้อากาศถ่ายเทอยู่เสมอ
4.ภาวะสุขภาพจิต
ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดเตียง นอกจากจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพจากความเสื่อมถอยของร่างกายแล้ว ปัญหาด้านสภาพจิตใจก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ดูแลจำเป็นต้องเอาใจใส่ เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีภาวะของโรคแตกต่างกัน แต่สิ่งที่คล้ายกัน คือความเบื่อหน่าย และความทุกข์ที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ดูแลสามารถหากิจกรรมต่างๆ มาทำร่วมกับผู้ป่วย เพื่อผ่อนคลาย และลดความเศร้าลง ทำให้มีสุขภาพจิตที่ดีได้ หรือผู้ดูแลควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยอย่าง
เหมาะสม และความปลอดภัย
ขอขอบคุณ:paolohospital.com