ใครๆ ก็ต้องปวดหัวกันมาบ้างแล้ว ปวดหัวได้ทุกที่ทุกเวลาทุกสถานการณ์ ตั้งแต่เครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ อากาศร้อน เป็นไข้ และอื่นๆ ทุกเพศทุกวัยมีอาการปวดหัวได้หมด เพราะปวดหัวเป็นเพียงอาการ ไม่ใช่โรค คนจึงมองข้ามไปว่าทานยาหายก็จบ แต่จริงๆ แล้วอาการปวดหัวถือเป็นปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามเลยทีเดียว
ปวดหัวบ่อย กินยาแก้ปวดบ่อย เป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่?
พญ. จุฑาณัฐ ยศราวาส อายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า “เบื้องต้นการรักษาอาการปวดศีรษะนั้น เป็นการรักษาตามอาการ ได้แก่ รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือยากลุ่ม NSAIDS พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย เป็นต้น”
“แต่การรับประทานยาแก้ปวดนั้น ควรอยู่ในการแนะนำของแพทย์ หรือเภสัชกร เนื่องจากยาอาจมีผลข้างเคียง และเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ เช่น ยาพาราเซตามอลไม่ควรรับประทานเกิน 8 เม็ดต่อวัน เนื่องจากเป็นพิษต่อตับ และยากลุ่ม NSAIDs มีผลทำให้กระเพาะอาหารเป็นแผล หรือมีผลต่อไตได้”
ปวดหัว สัญญาณของโรคอันตรายอื่นๆ ?
“นอกจากนี้อาการปวดศีรษะ อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกถึงโรคที่มีสาเหตุเฉพาะ เช่น เลือดออกในสมอง เนื้องอกในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งภาวะ หรือโรคเหล่านี้มีอันตรายถึงแก่ชีวิต หรืออาจทุพพลภาพได้ หากได้รับการรักษาล่าช้า”
ปวดหัวแบบไหน ที่อันตราย ต้องไปพบแพทย์?
- ปวดศีรษะรุนแรง กะทันหันแบบไม่เคยเป็นมาก่อน
- ก้มคอแล้วอาการปวดหัวเป็นมากขึ้น
- ปวดหัวจนคอแข็ง มีไข้
- ปวดหัวมากโดยเฉพาะช่วงเช้า
- ปวดหัว ร่วมกับคลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดหัวขณะที่นั่ง หรือนอนท่าใดท่าหนึ่ง
- ไอ จาม เบ่ง แล้วปวดหัวมากขึ้น
- ปวดหัว พร้อมชัก เกร็งกระตุก
- ปวดหัวจนหมดสติ
- ปวดหัวร่วมกับอาการ แขนขาชา อ่อนแรง
- ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
- เดินเซ มองเห็นภาพไม่ชัด หรือเห็นเป็นภาพซ้อน
ซึ่งอาการเพิ่มเติมเหล่านี้อาจเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง (อ่าน สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง ที่นี่) หากพบอาการผิดปกติเพิ่มมากขึ้น ควรรีบนำส่งแพทย์ที่โรงพยาบาลใหญ่โดยเร็วที่สุด เพราะหากมีอาการมากขึ้น แล้วไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี อาจรักษาชีวิตไว้ไม่ทัน
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :นิตยสาร Health Plus & Slimming October 2015
ภาพ :iStock