ต่อมลูกหมากโตมะเร็งต่อมลูกหมาก

การรักษาต่อมลูกหมากโต

Views

ต่อมลูกหมากโต พบในผู้ชายทุกคนเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ต่อมลูกหมากของผู้ชายทุกคนจะอยู่บริเวณรอบท่อปัสสาวะ ไม่สามารถคลำเจอจากภายนอกได้เนื่องจากอยู่ลึกเข้าไปด้านในเมื่อเราโตขึ้นต่อมนี้ก็จะโตตาม แต่ปัญหาคือเมื่อต่อมนี้โตขึ้นก็จะเข้าไปเบียดกับท่อปัสสาวะ ส่งผลให้มีอาการปัสสาวะลำบากขึ้น ปัสสาวะไม่สุด ไม่คล่อง ต้องเบ่ง รวมถึงต้องเข้าห้องน้ำบ่อยๆ บางรายอาจมีเลือดปนมาได้ ซึ่งส่วนใหญ่อาการจะเริ่มตอนอายุประมาณ 45 ขึ้นไป วิธีการรักษานั้นขึ้นอยู่กับลักษณะอาการที่เกิด รวมถึงขนาดของต่อมลูกหมาก ว่าโตมากน้อยเพียงใด ซึ่งคำว่าโตนี้แบ่งได้ 2 แบบ คือ

  • โตแบบธรรมดา เป็นเนื้อดีตามธรรมชาติ
  • โตเพราะเป็นเนื้อร้าย หรือมะเร็ง ซึ่งอันตรายและต้องรีบทำการรักษา

การรักษาต่อมลูกหมากโตแบบธรรมดา สามารถรักษาได้หลายวิธีดังนี้

1.รักษาต่อมลูกหมากโตด้วยยาวิธีการรักษาเริ่มแรกแพทย์จะให้ปรับพฤติกรรมเสียก่อน เช่น ในรายที่เป็นไม่มาก อาจให้ลดการดื่มน้ำลง ลดชา กาแฟ ถ้าอาการดีขึ้นไม่จำเป็นต้องใช้ยา แต่หากปรับพฤติกรรมแล้วอาการไม่ดีขึ้นต้องรักษาด้วยยาต่อไป สำหรับการรักษาด้วยยา แพทย์อาจจะสั่งยาบางชนิดให้ เช่น Proscar (Finasteride) ซึ่งจะช่วยลดขนาดของต่อมลูกหมากให้มีขนาดเล็กลง หรือบางครั้งอาจใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบในต่อมลูกหมากให้มีลักษณะอ่อนตัวลง (Alpha-Blockers) แต่ถ้าในรายที่มีอาการปัสสาวะลำบากมากขึ้น จนมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวัน หรือในรายที่เป็นมากๆ แต่อยู่ในระหว่างรอการผ่าตัด แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาตามความเหมาะสมแต่ละอาการของแต่ละบุคคล ได้แก่

  • ยากลุ่มปิดกั้นแอลฟา (Alpha-Blockers) เช่น ยาพราโซซิน (Prazosin) ยาด๊อกซาโซซิน (Doxazosin) ซึ่งยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อต่อมลูกหมากและกล้ามเนื้อหูรูดที่คอกระเพาะปัสสาวะ มีผลทำให้ถ่ายปัสสาวะได้คล่องขึ้น
  • ยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์แอลฟารีดักเตส (Alpha Reductase Inhibitors) เช่น ยาฟิแนสเทอไรด์ (Finasteride) มีฤทธิ์ยับยั้งไม่ให้เทสโทสเตอโรนเปลี่ยนเป็นไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone) ซึ่งเป็นตัวการกระตุ้นให้เกิดต่อมลูกหมากโต แต่เมื่อได้รับยาแล้วจะทำให้ต่อมลูกหมากเล็กลงได้ประมาณ 30%

ข้อเสีย คือ ยาเหล่านี้ต้องรับประทานตลอดหลายปีเพื่อคุมอาการ ถ้าลองรับประทานยาทุกขนานแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น การรักษาในขั้นตอนต่อมาคือ การผ่าตัด ซึ่งมีหลายวิธีเช่นกัน โดยแต่ละวิธีก็จะมีข้อดี ข้อเสียต่างกันไป

2.การรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง (Transurethral resection of the prostate: TURP)โดยการเข้าไปตัดเอาชิ้นเนื้อส่วนที่เกินออกมาจากต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดที่แพทย์นิยมใช้กันเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะรายที่มีอาการหนักหรือมีภาวะแทรกซ้อน แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะสอดท่อที่มีกล้องขนาดเล็กผ่านเข้าทางท่อปัสสาวะ ซึ่งตรงปลายท่อจะมีเครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กใช้สำหรับตัดเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากส่วนที่กดทับท่อปัสสาวะไว้ อย่างไรก็ตามวิธีนี้สามารถทำได้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางระบบทางเดินปัสสาวะ หรือศัลยแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น ระหว่างการผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการวางยาเฉพาะส่วนล่างจึงไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ หลังการรักษาประมาณ 3-4 วันแรกผู้ป่วยต้องใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อให้กระเพาะปัสสาวะได้พัก และรอให้ปัสสาวะใสเสียก่อนจึงเอาสายสวนออก โดยผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์
3.ผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยเลเซอร์พีวีพี (Photoselective Vaporization of the Prostate:LASER PVP) เป็นนวัตกรรมการผ่าตัดต่อมลูกหมากโตที่ใช้หลักการรุกล้ำน้อยที่สุด หลักการคือ สอดท่อที่มีกล้องขนาดเล็กผ่านทางท่อปัสสาวะเหมือนการผ่าตัดส่องกล้อง แต่เปลี่ยนจากใช้ที่ขูดเป็นแสงเลเซอร์แทนเพื่อเข้าไปละลายต่อมลูกหมาก วิธีนี้ข้อดีคือไม่เสียเลือด เหมาะกับผู้สูงอายุมากๆ หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจร่วมด้วย นับเป็นวิธีการที่นิ่มนวล ได้ผล ปลอดภัย เจ็บปวดน้อย นอนโรงพยาบาลน้อย พักฟื้นสั้นผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะได้รับการวางยาเพื่อบล็อกหลังโดยวิสัญญีแพทย์ ขบวนการรักษาจะมีการป้องกันการติดเชื้อ พร้อมจัดเตรียมในท่านอน ทั้งนี้วิธี PVP จะใช้สายนำแสงที่ออกแบบมาโดยเฉพาะผ่านกล้องส่องกระเพาะปัสสาวะโดยจะแสดงภาพออกมายังจอวีดีโอ เพื่อแพทย์จะได้ทำการกำหนดตำแหน่งในการสลายต่อมลูกหมากโต ด้วยแสงเลเซอร์ KTP ที่มีพลังความร้อนที่ 120-180 วัตต์ ซึ่งจะปล่อยออกมาทางด้านข้าง โดยที่ปลายของสายนำแสงนั้น หากสังเกตจะเห็นฟองอากาศขนาดเล็ก (Bubbles) ในบริเวณของเนื้อเยื่อที่กีดขวางทางเดินปัสสาวะจะถูกฉายด้วยเลเซอร์ ทำให้ระเหิดละลายหายไปทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นเนื้อเยื่อนุ่มๆ สีเหลืองขาว โดยไม่ต้องเสียเลือด ขณะเดียวกันยังช่วยเปิดช่องทางออกของท่อปัสสาวะได้ดีขึ้น หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการใส่สายสวนปัสสาวะค้างไว้ 1 คืน แล้วถอดสายสวนปัสสาวะในวันรุ่งขึ้น พร้อมให้ทดลองปัสสาวะเอง ซึ่งอาการปัสสาวะขัดควรจะดี และคล่องขึ้น

ขอขอบคุณข้อมูล : paolohospital

Leave a Reply