การสวนปัสสาวะ หมายถึง การสอดใส่สายสวน ผ่านทางท่อปัสสาวะเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ เพื่อระบายปัสสาวะออกสู่ภายนอก ทำให้กระเพาะปัสสาวะว่าง
ทำไมต้องสวนปัสสาวะ?
- เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะยืดมากเกินไปซึ่งจะสูญเสียแรงบีบตัว
- ลดจำนวนปัสสาวะที่เหลือค้าง เพื่อป้องกันการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
- ปัสสาวะไม่ล้นซึม
- มีสุขภาพกายและใจดีขึ้น เมื่อไม่ต้องมีสายสวนคาอยู่ตลอดเวลา
อุปกรณ์มีอะไรบ้าง?
- สายสวนปัสสาวะ
- น้ำยาฆ่าเชื้อ สำหรับแช่สายสวนและทำความสะอาดรูเปิดท่อปัสสาวะ
- สำลีก้อน สำหรับชุบน้ำยาทำความสะอาดรูเปิดท่อปัสสาวะ
- สารหล่อลื่นสายสวนปัสสาวะ
- สบู่ล้างมือ ผ้าเช็ดมือ หรือกระดาษชำระ
- ภาชนะสำหรับใส่สำลีชุบน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น ชามกลมหรือชามรูปไต
- ภาชนะตวงปัสสาวะ
วิธีการสวนปัสสาวะทำอย่างไร?
สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ การล้างมือให้สะอาดและทำความสะอาดอวัยวะเพศก่อนการสวนปัสสาวะทุกครั้ง1. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่แล้วเช็ดมือให้แห้ง เพื่อลดการติดเชื้อ2. เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม โดย
- นำสายสวนปัสสาวะที่แช่น้ำยาฆ่าเชื้อไว้แล้ว ล้างด้วยน้ำต้มสุกเย็นแล้ว โดยให้ผ่านรูด้านในสายสวนด้วย
- เทน้ำยาฆ่าเชื้อลงบนสำลีในชามกลม พอให้สำลีเปียกชุ่ม
- บีบสารหล่อลื่นลงในชามกลม
3. จัดท่าให้เหมาะสม เพื่อให้สามารถมองเห็นรูเปิดของท่อปัสสาวะได้ชัดเจน
กรณีผู้ป่วยสวนปัสสาวะด้วยตนเอง ท่านั่ง
- ให้นั่งบนชักโครกหรือเก้าอี้ หรือพิงผนัง โดยใช้หมอนรองก้นและหลังไว้
กรณีผู้ป่วยสวนปัสสาวะด้วยตนเอง ท่ายืน
- ให้ยืนในที่ที่สะดวก อาจเป็นในห้องน้ำหรือห้องนอน
กรณี มีผู้อื่นสวนปัสสาวะให้
- จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย ถอดกางเกงออก แล้วคลุมผ้าปิดส่วนบนของร่างกายจนถึงหัวเหน่า เปิดเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศภายนอก
- ผู้สวนปัสสาวะให้ถ้าถนัดมือขวา ควรเข้าข้างขวาของผู้ป่วย ถ้าถนัดมือซ้าย ควรเข้าข้างซ้ายของผู้ป่วย เพื่อความสะดวกในการใส่สายสวนปัสสาวะ
4. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่แล้วเช็ดมือให้แห้งอีกครั้ง
5. หยิบสายสวนปัสสาวะ ทาปลายสายด้วยสารหล่อลื่นยาวประมาณ 6-7 นิ้ว แล้ววางสายไว้ในชามกลมใบที่ใส่สารหล่อลื่น
6. ยกชามกลมใบที่ใส่สายสวนปัสสาวะมาวางไว้บริเวณใกล้ตัวผู้ป่วย
7. ทำความสะอาดอวัยวะเพศ โดย
- ใช้มือข้างที่ไม่ถนัด จับองคชาตตั้งขึ้น ทำมุม 60-90 องศากับขาหนีบ แล้วใช้มืออีกข้างหยิบสำลีชุบน้ำยาฆ่าเชื้อ เช็ดบริเวณรูเปิดของท่อปัสสาวะ โดยเช็ดวนออกมาด้านนอก แล้วเช็ดจากปลายองคชาตลงมาที่ฐานองคชาต 3-4 ครั้งจนรอบองคชาต การเช็ดแต่ละครั้งให้ใช้สำลีก้อนใหม่ทุกครั้ง แล้วไม่เช็ดย้อนกลับไปมา และยังจับค้างไว้ก่อน
8. ใช้มือข้างที่ถนัดจับสายสวนปัสสาวะ จากนั้นค่อยๆสอดสายสวนปัสสาวะเข้าไปในรูเปิดของท่อปัสสาวะ ลึกประมาณ 6-8 นิ้ว หรือเกือบสุดสายสวน จนมีปัสสาวะไหล จากนั้นให้ค่อยๆดันสายเข้าไปอีกประมาณ 1นิ้ว
- เมื่อมีปัสสาวะไหล ให้ปล่อยองคชาตลดต่ำลง แล้ววางปลายสายสวนอีกด้านลงในภาชนะที่รองปัสสาวะ
- ใช้มือที่จับองคชาต เลื่อนมาจับสายสวนปัสสาวะไว้ให้อยู่กับที่
จำไว้ว่า มือที่จับองคชาตแล้ว ไม่สะอาดอีกต่อไป ห้าม! นำมาจับสายสวน จนกว่าจะถึงขั้นตอนที่ให้เลื่อนมือมาจับสายสวนปัสสาวะได้
- เมื่อปัสสาวะหยุดไหล ค่อยๆดึงสายสวนปัสสาวะออก ขณะดึงออกถ้ามีปัสสาวะไหลออกมา ให้จับสายสวนปัสสาวะคาไว้ที่เดิม รอจนกระทั่งไม่มีปัสสาวะแล้ว จึงดึงสายสวนออกมาวางไว้ในชามกลม โดยก่อนดึงสายสวนออกจนสุด ให้จับองคชาตตั้งขึ้นทำมุม 60-90 องศากับขาหนีบ
ข้อพึงระวัง.. ถ้าพบว่ามีแรงต้านที่ไม่ใช่เกิดจากแรงดันสายสวนปัสสาวะ ควรบอกให้ผู้ป่วยหายใจเข้า-ออก ลึกๆยาวๆ แล้วหมุนสายสวนปัสสาวะอย่างเบามือขณะสอด
9. ล้างอุปกรณ์และสายสวนปัสสาวะด้วยสบู่ โดยให้น้ำผ่านรูด้านในสายสวนด้วย เช็ดให้แห้งแล้วแช่ไว้ในหลอดที่ใส่น้ำยาฆ่าเชื้อไว้แล้ว
10. สังเกตสี กลิ่น ความใสของปัสสาวะและจดบันทึกจำนวนปัสสาวะไว้รายงานแพทย์เมื่อกลับมาตรวจในครั้งต่อไป อาการที่ควรมาก่อนนัด
- สังเกตสีและปริมาณของปัสสาวะ ถ้าปัสสาวะมีสี่ขุนเป็นหนอง มีตะกอน มีเลือดปน หรือปริมาณปัสสาวะออกน้อยกว่าปกติ
- เมื่อรู้สึกมีไข้ ตัวร้อน
- มีอาการปวด บวม แดง ร้อน หรือมีหนองบริเวณอวัยวะเพศ
ข้อควรจำ
อย่าลืม! ทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดก่อนสวนปัสสาวะทุกครั้ง
- ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ โดยฟอกที่ฝ่ามือ หลังมือ ซอกนิ้ว ปลายนิ้วและเล็บให้ทั่ว
- น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น เซฟลอนเข้มข้น (savlon) 1 ส่วน ผสมน้ำต้มสุกเย็นแล้ว 100 ส่วน และน้ำยาที่ผสมแล้วนี้ มีอายุการใช้งาน 1 สัปดาห์ แต่น้ำยาฆ่าเชื้อที่อยู่ในหลอดบรรจุสายสวนปัสสาวะ มีอายุใช้งาน 1 วัน
- วิธีการแช่สายสวนปัสสาวะในหลอดบรรจุ ให้จุ่มสายสวนปัสสาวะลงไปในหลอดจนเกือบสุด จากนั้นให้ปิดจุก….. ถ้าปิดจุกก่อนนำไปใส่ในหลอด จะทำให้น้ำยาฆ่าเชื้อไม่เช้าไปภายในสาย
- ภาชนะที่ใช้สำหรับใส่น้ำยาฆ่าเชื้อและสารหล่อลื่น อาจเป็นสแตนเลส พลาสติก หรือสังกะสี ฯลฯ
- ขณะจับสายสวนปัสสาวะ ระวัง! สายสัมผัสกับสิ่งอื่นๆ
- ควรสวนปัสสาวะทุก 4-6 ชั่วโมง โดยอาจปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม เช่น ถ้าจำนวนปัสสาวะที่สวนได้น้อยกว่า 200 มิลลิลิตร อาจเลื่อนเวลาออกไป
ห้าม! หยุดสวนปัสสาวะเอง เด็ดขาด
แบบบันทึกการสวนปัสสาวะ (IC form)
ชื่อ …………..………………………………………………………………….. อายุ ………….. ปี HN……………………………………
หมายเหตุ
- เมื่อถ่ายปัสสาวะได้เองในแต่ละครั้ง โปรดตวงและบันทึกปริมาณในช่อง 2 ให้ตรงกับช่วงเวลาในช่อง 1
- เมื่อสวนปัสสาวะตามกำหนด ให้ตวงและบันทึกจำนวนที่สวนได้ลงในช่อง 3
- ถ้าท่านมีปัสสาวะเล็ดราด ให้กาเครื่องหมาย / ลงในช่อง 4
- ถ้าถ่ายปัสสาวะเองหรือมีปัสสาวะเล็ดในช่วงนั้นมากกว่า 1 ครั้ง ให้กาเครื่องหมายเพิ่มทุกครั้ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์