แผลในกระเพาะอาหาร หรือโรคกระเพาะอาหาร โรคปวดท้องทรมานของหลายคน และมักเป็นๆหายๆ แต่จริงๆ แล้วหลายครั้งโรคนี้รักษาให้หายขาดได้ สำหรับผู้มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาความเสี่ยง หรือโรคที่อาจซ่อนอยู่เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี
สาเหตุของแผลในกระเพาะอาหาร
สาเหตุคือ กรดและน้ำย่อย ที่หลั่งออกมาทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร ส่วนปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ ยาแอสไพริน ยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ การสูบบุหรี่ ความเครียด อาหารเผ็ด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์
ปัจจุบันพบว่า เชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร – Helicobacter pylori หรือเอช ไพโลไร – H. pylori เป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะ ทำให้แผลหายช้า
หรือทำให้แผลที่หายแล้วเกิดเป็นซ้ำได้อีก รวมทั้งยังเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารอีก 3-5 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ติดเชื้อดังกล่าว
ตำแหน่งที่พบแผลได้บ่อยคือ กระเพาะอาหาร – Gastric Ulcer : GU มักพบที่กระเพาะอาหารส่วนปลาย พบมากในคนอายุ 40-70 ปี และแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น – Duodenal Ulcer : DU พบได้บ่อยในทุกอายุตั้งแต่ 20-70 ปี
อาการของแผลในกระเพาะอาหารมีอะไรบ้าง ?
- พบบ่อยที่สุดคือ ปวดท้อง หรือจุกแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือท้องช่วงบน มักเป็นเวลาท้องว่างหรือเวลาหิว หรือปวดแน่นท้องกลางดึกหลังจากหลับไปแล้ว
- อาการปวดจะเป็นมากขึ้นหลังทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
- อาการปวดมักเป็นๆ หายๆ เช่น ปวดอยู่ 1-2 สัปดาห์ และหายไปหลายเดือนจึงกลับมาปวดอีก
- บางรายไม่ปวดท้อง แต่จะมีอาการอืดแน่นท้อง หรือรู้สึกไม่สบายในท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือกลางท้องรอบสะดือ ท้องอืดหลังกินอาหาร มีลมมาก ท้องร้องโครกคราก
- อาจมีคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยหลังอาหาร หรือช่วงเช้ามืด
- อาจมีน้ำหนักลด ซีดลง
ภาวะแทรกซ้อนของแผลในกระเพาะอาหารมีอะไรบ้าง ?
ภาวะแทรกซ้อนพบได้ประมาณร้อยละ 25-30 ได้แก่
- เลือดออกในกระเพาะอาหาร พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำเหลว หรือหน้ามืด หรือมาด้วยภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก เกิดจากเสียเลือดจากแผลเปปติกทีละน้อยอย่างเรื้อรัง
- กระเพาะอาหารทะลุ มีอาการปวดท้องช่วงบนเฉียบพลันรุนแรง หน้าท้องแข็งตึง กดเจ็บมาก
- กระเพาะอาหารอุดตัน ผู้ป่วยจะอิ่มเร็ว อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
การวินิจฉัยแผลในกระเพาะอาหารทำได้อย่างไร ?
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการใช้ยาแก้ปวด การตรวจร่างกาย และทำการทดสอบต่างๆ ได้แก่
- การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน – Esophago-Gastro-Duodenoscopy : EGDDuodenoscopy : EGD และตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจหาการติดเชื้อ H. pylori
- ทดสอบการติดเชื้อ H. pylori นอกไปจากการส่องกล้อง ทำได้หลายแบบ เช่น ทางลมหายใจ ทางอุจจาระ หรือทางเลือด
ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้อย่างไร ?
- หลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการติดเชื้อเอช ไพโลไร ซึ่งติดต่อผ่านการบริโภคอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ ป้องกันโดยการกินอาหารที่สะอาดปรุงสุก ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือให้สะอาด
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด เพราะมีผลให้เยื่อบุกระเพาะอ่อนแอ ทำให้แผลหายช้า และเกิดแผลกลับเป็นซ้ำได้บ่อยมาก
- งดการใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ – NSAID
- ผ่อนคลายความเครียดและวิตกกังวล พักผ่อนให้เพียงพอ
- กินยาลดกรด หรือยารักษาแผลกระเพาะอาหารติดต่อกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ รวมทั้งให้ยากำจัดเชื้อ เอช ไพโลไรด้วย
- ถ้ามีอาการของภาวะแทรกซ้อน ปวดท้องรุนแรง หรือเบื่ออาหารน้ำหนักลดลงมาก ควรรีบไปพบแพทย์
ควรกินอาหารชนิดไหนในผู้ป่วยแผลในกระเพาะอาหาร ?
- กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย กินอาหารจำนวนน้อยๆ แต่กินบ่อยมื้อ ไม่ควรกินจนอิ่มมากในแต่ละมื้อ
- ดื่มนมได้ถ้าดื่มแล้วท้องไม่อืด
- หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของดอง เพราะทำให้ระคายเคืองแผลมากและปวดมากขึ้น
- อาหารทอด หรือไขมันสูงเพราะย่อยยากจะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารขยายตัวมากทำให้ปวดมากขึ้น
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ ช็อกโกแลต และงดน้ำอัดลมเพราะมีแก๊สมากกระเพาะขยายตัวทำให้ปวดมากขึ้นและกระตุ้นให้หลั่งกรดเพิ่มขึ้นด้วย
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มร้อนหรือเย็นจัด
ควรรับประทานอาหารชนิดใดเมื่อมีอาการปวดแน่นท้อง ?
- ในรายที่ปวดรุนแรง อาจต้องกินเป็นอาหารเหลวทุกชั่วโมง เช่น น้ำข้าว น้ำซุป น้ำเต้าหู้
- เมื่อดีขึ้น เริ่มกินโจ๊กได้
- เมื่อทุเลามากขึ้น จึงเปลี่ยนเป็นข้าวต้มและข้าวสวยได้ตามลำดับ
- ถ้ามีอาการแน่นท้องมาก ควรกินวันละ 6 มื้อ โดยแบ่งปริมาณมาจากมื้ออาหารปกติครึ่งหนึ่ง คือมื้อเช้าแบ่งเป็นเช้าและสาย มื้อกลางวันแบ่งเป็นกลางวันและบ่าย และมื้อเย็นแบ่งเป็นเย็นและค่ำ รวมเป็น 6 มื้อ (แต่ละมื้อให้กินปริมาณอาหารน้อยลง แต่กินให้บ่อยขึ้น)
แผลในกระเพาะอาหารจะกลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่ ?
โรคแผลในกระเพาะอาหารจะไม่กลายเป็นมะเร็ง นอกจากจะเป็นแผลชนิดที่เกิดจากมะเร็งของกระเพาะอาหารเองตั้งแต่เริ่มแรกโดยตรง
เนื่องจากอาการเริ่มแรกของโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารและแผลในกระเพาะอาหารจะคล้ายกันมาก ไม่สามารถแยกจากกันได้โดยการซักประวัติหรือตรวจร่างกาย
จึงจำเป็นต้องได้รับการส่องกล้องกระเพาะอาหาร เพื่อช่วยในการวินิจฉัย
อาการที่บ่งชี้ว่าอาจมีโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก ซีดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ถ่ายอุจจาระดำหรืออาเจียนเป็นเลือด อาเจียนมาก และเป็นติดต่อกันเป็นวันในคนสูงอายุ หรืออายุมากกว่า 45 ปี ที่เริ่มมีอาการครั้งแรกของโรคกระเพาะอาหาร หรือผู้ที่มีอาการมานานแล้วมีการเปลี่ยนแปลงของอาการ เช่น ปวดท้องรุนแรงขึ้น ในภาวะต่างๆ เหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์
แผลในกระเพาะอาหารจะหายขาดหรือไม่ ?
- หายได้ แต่กลับเป็นใหม่ได้ ถ้าไม่ระวังเรื่องการปฏิบัติตัวและการใช้ยาบางอย่าง
- สำหรับผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหารที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อ H. pylori วิธีบรรเทาอาการของโรคคือ ปฏิบัติตัวตามหลักการที่ได้กล่าวไว้แล้ว บางรายอาจต้องใช้ยาติดต่อเป็นระยะเวลาหลายเดือนเพื่อควบคุมไม่ให้มีอาการ
- สำหรับผู้ที่มีการติดเชื้อ H. pylori ร่วมด้วย พบว่าหลังจากที่กำจัดเชื้อได้แล้ว มีโอกาสหายขาดได้ ยกเว้นจะรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายใหม่ หรือมีเหตุอื่นที่ทำให้เกิดแผลอีก
แผลในกระเพาะอาหาร เมื่อรักษาแผลหายแล้วยังมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก หากมีอาการควรไปพบแพทย์ อาจต้องทำการส่องกล้องทางเดินอาหารเพื่อหาสาเหตุและวางแผนการรักษาต่อไป และควรตรวจเช็คร่างกายประจำปี เพื่อหาความผิดปกติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อีก
ขอขอบคุณข้อมูล:khonkaenram.com