สุขภาพเด็กโรคติดเชื้ออาร์เอสวี (RSV)

ความหมาย ไวรัส RSV

Views

ไวรัส  RSV (RSV Virus) คือ เชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Respiratory Syncytial Virus เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ ทำให้ร่างกายผลิตสารคัดหลั่งจำนวนมาก เช่น เสมหะ เป็นต้น เชื้อไวรัสนี้แพร่กระจายผ่านการไอหรือจาม ผู้ป่วยมีอาการเบื้องต้นคล้ายเป็นหวัด คือ ปวดศีรษะ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล พบผู้ที่ติดเชื้อไวรัส RSV ได้ในทุกวัย แต่พบมากในเด็กและทารก ซึ่งเป็นวัยที่มักเกิดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนได้

อาการของการติดเชื้อไวรัส RSV

อาการของการติดเชื้อไวรัส RSV โดยปกติผู้ป่วยจะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4-6 วัน ผู้ใหญ่หรือเด็กโตมักพบอาการคล้ายไข้หวัด ได้แก่ คัดจมูก มีน้ำมูก มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ ไอแห้ง เจ็บคอ ไวรัส RSV พัฒนาไปสู่โรคขั้นรุนแรงได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างได้ เช่น โรคปอดบวม โรคหลอดลมฝอยอักเสบ เป็นต้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจหรือโรคปอดเรื้อรัง และรวมไปถึงอาการดังต่อไปนี้

  • มีไข้
  • ไออย่างรุนแรง
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • หายใจเร็ว หรือหายใจลำบาก ทำให้ผู้ป่วยชอบนั่งมากกว่านอน
  • บริเวณปากหรือเล็บมีสีเขียวคล้ำจากการขาดออกซิเจน

โดยปกติ อาการของการติดเชื้อไวรัส RSV ในเด็กโตและผู้ใหญ่จะดีขึ้นหลังได้รับการรักษาเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่ในเด็กเล็กและทารกหลังสัมผัสกับเชื้อไวรัสในช่วง 2-8 วัน อาจมีอาการที่รุนแรงมากกว่า โดยพบอาการได้ดังนี้

  • เบื่ออาหาร
  • หายใจเร็วกว่าปกติ
  • หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก
  • จาม ไอ มีไข้ น้ำมูกไหล
  • หงุดหงิดง่าย หรือเซื่องซึม

เด็กหรือทารกที่มีอาการดังนี้ ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

  • ประสบภาวะขาดน้ำ สังเกตได้จากตอนร้องไห้จะไม่มีน้ำตาไหลออกมา
  • ไอและมีเสมหะเป็นสีเทา สีเขียว หรือสีเหลือง
  • หายใจลำบาก หายใจเร็วกว่าปกติ หรือหอบเหนื่อย
  • มีน้ำมูกเหนียวทำให้หายใจลำบาก
  • ปลายนิ้วหรือปากเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำจากภาวะขาดออกซิเจน
  • เด็กทารกที่มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส เซื่องซึม เบื่ออาหาร หรือมีผื่นขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ

สาเหตุของการติดเชื้อไวรัส RSV

การติดเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ โดยไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก หรือสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการจับมือ ในประเทศไทยมักพบเชื้อไวรัส RSV ได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ไวรัสจะมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายได้เป็นเวลาหลายชั่วโมงโดยอาศัยอยู่ตามวัตถุต่าง ๆ และแพร่กระจายได้ง่ายผ่านการไอ หรือการจาม

กลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส RSV ที่มีอาการรุนแรงได้สูง ได้แก่ เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอดและหัวใจ ผู้ที่อาศัยอยู่ในแหล่งชุมชนแออัด หรือผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป

การวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัส RSV

การวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัส RSV โดยแพทย์จะตรวจทางกายภาพของผู้ป่วยก่อน จากนั้นจะใช้เครื่องช่วยฟัง (Stethoscope) เพื่อฟังเสียงหวีดในระบบทางเดินหายใจ เสียงการทำงานของปอด หรือเสียงผิดปกติจากส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย และแพทย์อาจใช้วิธีการดังต่อไปนี้ร่วมในการวินิจฉัย

  • วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (Pulse Oximetry) เพื่อตรวจสอบระดับออกซิเจน
  • ตรวจจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว ตรวจหาไวรัส แบคทีเรีย หรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ
  • เอกซ์เรย์หน้าอก เพื่อตรวจหาโรคปอดบวม
  • ตรวจหาเชื้อไวรัสจากสารคัดหลั่งในจมูก

การรักษาการติดเชื้อไวรัส RSV

การรักษาการติดเชื้อไวรัส RSV ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการ และประคับประคองให้อาการหายใจดีขึ้น แต่ในกรณีที่อาการรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาล ในเบื้องต้น ดูแลและรักษาอาการที่บ้าน ดังนี้

  • เพิ่มความชื้นในอากาศ เพื่อระบบทางเดินหายใจที่ดีขึ้น ไม่ควรให้ค่าความชื้นในอากาศมากเกินร้อยละ 50 เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราในอากาศ
  • นั่งหรือนอนในตำแหน่งที่หายใจได้สะดวก เช่น นั่งตัวตรง ไม่ห่อตัว ใช้หมอนที่ไม่นุ่มหรือแข็งเกินไป
  • ดื่มน้ำมาก ๆ เพราะน้ำจะช่วยทำให้สารคัดหลัง เช่น เสมหะ หรือน้ำมูก ไม่เหนียวจนเกินไป และไม่ไปขัดขวางการทำงานของระบบทางเดินหายใจ
  • ใช้ยาหยอดจมูก เพื่อช่วยลดอาการบวมของจมูก อาจล้างจมูกด้วยน้ำเกลือและดูดน้ำมูกเพื่อทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น
  • รับประทานยาในกลุ่มอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เพื่อลดไข้

ในกรณีที่พบอาการรุนแรงหรือในผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์อาจใช้วิธีการรักษารูปแบบอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

  • รับประทานยาปฏิชีวนะในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย เช่น อาการปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรีย
  • ใช้ยาพ่นขยายหลอดลม เพื่อบรรเทาอาการหายใจมีเสียงหวีด และดูดเสมหะเมื่อมีเสมหะข้นเหนียวจำนวนมาก เพื่อทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น
  • แพทย์อาจใช้ยาเอพิเนฟริน (Epinephrine) เพื่อขยายหลอดลมและลดอาการบวมของทางเดินหายใจ
  • แพทย์อาจให้ออกซิเจน หรือใส่อุปกรณ์ช่วยหายใจหากพบว่ามีภาวะออกซิเจนต่ำหรือระบบหายใจล้มเหลว

ภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อไวรัส RSV

ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไวรัส RSV ในผู้ป่วยที่เป็นทารกคลอดก่อนกำหนด เด็กเล็ก ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอดและหัวใจซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า ส่งผลดังนี้

  • โรคปอดบวมหรือโรคหลอดลมฝอยอักเสบ ไวรัสจะเคลื่อนตัวจากระบบทางเดินหายใจช่วงบน ได้แก่ จมูก คอ ปาก ลงไปที่ระบบทางเดินหายใจช่วงล่าง จนทำให้เกิดการอักเสบที่ปอดหรือทางเดินหายใจ พบอาการที่รุนแรงได้ในทารก เด็ก ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอดหรือหัวใจเรื้อรัง
  • การติดเชื้อในหูชั้นกลาง เกิดจากเชื้อเข้าไปในพื้นที่บริเวณหลังแก้วหู ทำให้เกิดหูน้ำหนวก พบมากในผู้ป่วยที่เป็นทารกและเด็ก
  • โรคหอบหืด เชื้ออาจส่งผลระยะยาวทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืดได้ในอนาคต
  • เกิดการติดเชื้อซ้ำ เมื่อมีการติดเชื้อแล้วครั้งหนึ่ง จะกลับมาติดเชื้ออีกครั้งได้เสมอ แต่อาการอาจไม่รุนแรงเท่าการติดเชื้อในครั้งแรก มักพบในรูปแบบของอาการหวัด แต่อาจพบอาการรุนแรงได้ในผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอดและหัวใจ

การป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV

การป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ทุกคนในครอบครัวถช่วยกันปฏิบัติตน เพื่อป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อได้ ดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาด ล้างมือบ่อย ๆ เช่น ก่อนมื้ออาหาร หลังเข้าห้องน้ำ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงให้เด็กที่คลอดก่อนกำหนดและทารกในช่วงอายุ 1-2 เดือนแรกสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อ เช่น ผู้ที่เป็นไข้หรือเป็นหวัด
  • ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ โดยเฉพาะทิชชูที่ใช้แล้ว ควรทิ้งลงถังขยะที่ปิดมิดชิด
  • ไม่ควรใช้แก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น ควรใช้แก้วน้ำของตัวเอง และหลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำที่ผู้ป่วยใช้แล้ว
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ทารกที่สูดดมควันบุหรี่เข้าไปมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV และพบอาการที่รุนแรงได้มากกว่า
  • ทำความสะอาดของเล่นเด็กเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังพบว่าเด็กที่ป่วยมาเล่นของเล่นนั้น ๆ

ขอขอบคุณ https://www.pobpad.com

Leave a Reply