ตับเป็นอวัยวะภายในบริเวณช่องท้อง ทำหน้าที่ในการกรองเลือดก่อนที่จะไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ ซึ่งหากมีอาการเรื้อรังจะนำไปสู่โรคตับแข็งและมะเร็งตับ อันเป็นสาเหตุให้คนทั่วโลกเสียชีวิตถึงกว่า 780,000 คนต่อปี โรคนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นโรคติดเชื้อที่ร้ายแรงและต้องเฝ้าระวัง
ไวรัสตับอักเสบมี 5 ชนิดด้วยกัน ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ดี และ อี โดยไวรัสที่เป็นปัญหาในบ้านเรา ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบบีและซี ไวรัสตับอักเสบบีนั้นติดต่อผ่านทางการสัมผัสสารคัดหลั่งจากร่างกายของผู้ป่วยโรคนี้ (เลือด น้ำลาย อสุจิ และน้ำหล่อลื่นจากอวัยวะเพศ) เช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบซีและดี ส่วนไวรัสตับอักเสบเอและอีนั้นจะติดต่อผ่านการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีวัคซีนที่ช่วยป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดบีและดีได้แล้ว
ตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ปล่อยทิ้งไว้อาจลุกลามถึงขั้นกลายเป็นตับแข็ง และมะเร็งตับ
อัตราการเกิดโรคไวรัสตับอักเสบบี
สถิติจากองค์กรอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรังประมาณ 300 ล้านคน และอย่างน้อย 1 ล้านคนจะกลายเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด โดยคาดว่าแหล่งที่มีความชุกของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมากที่สุดคือบริเวณเอเชียตะวันออก และแอฟริกาใต้ซาฮารา ซึ่งอาจมีประชากรผู้ใหญ่ประมาณ 5-10% ที่เป็นผู้ติดเชื้อ
ส่วนในประเทศไทยคาดว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีประมาณร้อยละ 5 ของประชากร หรือประมาณ 3 ล้านคน นอกจากนั้นยังพบว่าการติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดขึ้นตั้งแต่ในวัยเด็ก
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
ไวรัสตับอักเสบบี ทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับไวรัสชนิดอื่น และสามารถติดต่อได้ทางเลือด น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่น และสารคัดหลั่งต่างๆ ของร่างกาย โดยวิธีการแพร่เชื้อที่เกิดขึ้นได้ เช่น
- การแพร่เชื้อจากมารดาไปสู่ทารกตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์
- การใช้เข็มร่วมกับผู้ป่วยโรคนี้ หรือการใช้อุปกรณ์ฉีดยาที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
- โดนเข็มที่ปนเปื้อนเชื้อตำ
- การได้รับเลือดหรือสารคัดหลั่งต่างๆ ผ่านทางการถ่ายเลือดหรือทางแผลเปิด
- การใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้ติดเชื้อ เช่น แปรงสีฟัน หรือใบมีดโกน เนื่องจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบีสามารถมีชีวิตอยู่นอกร่างกายผู้ป่วย ตามข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้ได้เป็นเวลานานหลายสัปดาห์
- การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ป้องกัน
เชื้อไวรัสตับอักเสบบีไม่สามารถแพร่ผ่านอาหารและน้ำดื่ม (เว้นแต่ว่าอาหารนั้นจะผ่านการเคี้ยวมาก่อน เช่น มารดาเคี้ยวอาหารก่อนป้อนให้แก่ทารก) และไม่สามารถติดต่อผ่านช่องทางต่างๆ ต่อไปนี้
- การใช้ช้อนส้อมร่วมกัน
- การให้นมบุตร
- การกอด จูบ หรือจับมือ
- การจามหรือไอใส่
อาการของโรคไวรัสตับอักเสบบี
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีส่วนใหญ่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก โดยพบว่าช่วง 10-15 ปี แรกจะมีปริมาณไวรัสสูงมาก แต่มักไม่มีอาการใดๆ เพราะเม็ดเลือดขาวยังไม่ทราบว่ามีไวรัสอยู่ในร่างกาย จนเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เม็ดเลือดขาวจะเริ่มตรวจพบและทําลายเซลล์ตับที่มีไวรัสอยู่ ทำให้เกิดอาการของภาวะตับอักเสบเฉียบพลันได้ คือ มีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ เจ็บใต้ชายโครงขวา มีไข้ต่ำ ตาเหลือง ตัวเหลือง และปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการระยะเฉียบพลันนี้มีโอกาสหายเป็นปกติสูงถึง 90-95%
ส่วนผู้ที่มีอาการตับอักเสบแบบเรื้อรังมักจะไม่แสดงอาการใดๆ ไม่เหมือนอาการระยะเฉียบพลัน และอาจมีผลการตรวจร่างกายปกติ จึงต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น ซึ่งหากเซลล์ตับของผู้ป่วยถูกทำลายมากเข้า ก็จะนำไปสู่โรคตับแข็ง ทำให้มีพังผืดในตับ และเกิดโรคมะเร็งตับตามมาได้ เหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้เสียชีวิตนั่นเองแพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ปล่อยทิ้งไว้อาจลุกลามถึงขั้นกลายเป็นตับแข็ง และมะเร็งตับ
บุคคลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
- ผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือติดเชื้อเอชไอวีมาก่อน
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
- บุคลากรทางการเเพทย์ซึ่งต้องทำงานสัมผัสกับเลือดหรือบาดแผลของผู้ติดเชื้อไวัรัสตับอักเสบบีโดยตรง
- ผู้ที่เดินทางไปยังประเทศที่มีความชุกของโรคสูง
- ผู้ป่วยที่ฟอกไตทางหลอดเลือดดำ
- ผู้ป่วยเบาหวาน
การรักษาไวรัสตับอักเสบบี
อาการจากโรคไวรัสตับอักเสบแบบเฉียบพลันสามารถทุเลาลงไปได้เองเมื่อพักผ่อนอย่างเพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน แต่มีผู้ป่วยบางรายเชื่อว่าการดื่มน้ำหวานมากๆ จะช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น ซึ่งวิธีนี้ไม่ถูกต้อง และแพทย์ไม่แนะนำ เพราะน้ำตาลจากน้ำหวานนั้นจะกลายเป็นไขมันในตับ ส่งผลให้ตับโตและจุกแน่นกว่าปกติ
ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการไวรัสตับอักเสบแบบเรื้อรัง ซึ่งมักไม่แสดงอาการ แต่อาจตรวจพบจากการตรวจร่างกาย แพทย์จะให้การรักษาโดยฉีดยาอินเตอร์เฟอรอน (Interferon) ให้ผู้ป่วย โดยต้องฉีดเป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 4-6 เดือนจึงจะเห็นผล ผู้ป่วยประมาณ 30-40% มีอาการอักเสบของตับและปริมาณไวรัสลดลงจากการใช้วิธีนี้ อย่างไรก็ตาม ตัวยาที่ใช้มีราคาค่อนข้างสูงและมีผลข้างเคียงมาก การใช้ยาจึงควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารเท่านั้น
นอกจากยาฉีดอินเตอร์เฟอรอนแล้ว ยาอีกชนิดหนึ่งที่แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ก็คือยาลามิวูดีน ซึ่งเป็นยาแบบรับประทาน มีประสิทธิภาพพอสมควรและมีผลข้างเคียงน้อยกว่า แต่หากใช้ไปนานๆ อาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ โดยมีโอกาสเกิดเชื้อดื้อยาได้ถึง 20% ตั้งแต่ในปีแรกที่ใช้ และจะมีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้นยานี้จะใช้ไม่ได้ผลในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับปกติ หรือเป็นกลุ่มพาหะ
ทั้งนี้ การดูแลสุภาพร่างกายให้แข็งแรงก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยต่อสู้กับโรค โดยผู้ป่วยโรคนี้ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากต้องการรับประทานยาคุมกำเนิดสามารถรับประทานได้ตามปกติ และหากต้องการมีบุตร คุณก็สามารถตั้งครรภ์ได้
อาหารที่ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีควรกิน และไม่ควรกิน
การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและถูกหลักโภชนาการเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายต่อตับ อาหารที่ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีควรรับประทานมีดังนี้
- ผักและผลไม้ปริมาณมากและหลากหลายชนิด
- ธัญพืชเต็มเมล็ดที่ไม่ผ่านขัดสี เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ควินัว ข้าวกล้อง
- โปรตีนไร้มัน เช่น ปลา ไก่ไร้หนัง ไข่ขาว ถั่ว
- อาหารจากนมไขมันต่ำหรือนมขาดมันเนย
- ไขมันดีจากถั่วชนิดต่างๆ อะโวคาโด และน้ำมันมะกอก
- อาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เช่น เนย ซาวครีม อาหารจากนมไขมันสูง เนื้อสัตว์ติดมัน และอาหารจำพวกทอดทั้งหลาย
- อาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมในปริมาณมาก
- อาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม เค็ก คุกกี้
- แอลกอฮอล์
นอกจากนี้คุณควรดื่มน้ำให้มาก ถ้าจะให้ดีควรดื่มน้ำเปล่า หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างกาแฟ ชา หรือน้ำอัดลม
เราจะป้องกันไวรัสตับอักเสบบีได้อย่างไร
1. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง
ได้แก่ การเจาะหรือสักลายผิวหนังที่ไม่ผ่านมาตรฐาน การใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น การใช้ของมีคมร่วมกับบุคคลอื่น เช่น มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ การเปลี่ยนคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้สามารถติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้ทั้งสิ้น
2. หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
เพื่อประเมินว่ามีความจําเป็นต้องรับประทานยาต้านไวรัสตับอักเสบบีหรือไม่ เนื่องจากไวรัสตับอักเสบบีสามารถติดต่อผ่านแม่สู่ลูกในครรภ์ได้
3. ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
ปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันจากการติดเชื้อทั้งไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบดี เนื่องจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีจะป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีด้วยเสมอ นอกจากนี้ยังมีวัคซีนสำหรับเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ แต่ไม่มีสำหรับไวรัสตับอักเสบซี และอี
วัคซีนไวรัสตับอักเสบบีเริ่มมีใช้มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2523 และปัจจุบันยังมีวัคซีนรวมที่ป้องกันได้ทั้งไวรัสตับอักเสบเอ และตับอักเสบบี แต่วัคซีนนี้ต้องฉีดรวมทั้งหมด 3 ครั้ง ในระยะเวลา 6 เดือน กรมควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่าหลังจากฉีดวัคซีนจนครบทั้ง 3 ครั้ง จะสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 90% ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีนั้นสามารถฉีดได้โดยไม่มีอันตราย และมีโอกาสเกิดอาการแพ้เพียงประมาณ 1 คน ใน 1.1 ล้านคนเท่านั้น
บทความที่เกี่ยวข้อง
รู้จักวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี
ขอขอบคุณข้อมูล:honestdocs.co