แม่จ๋ารู้ไหม คนท้องเป็นไวรัสตับอักเสบบี อันตรายส่งต่อจากแม่ท้องสู่ทารกในครรภ์ ลูกเสี่ยงโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง พัฒนาเป็นโรคตับแข็ง หรือมะเร็งตับในอนาคต
ท้อง เป็นไวรัสตับอักเสบบี
จากการสำรวจความชุกของโรคไวรัสตับอักเสบบีในคนไทย พบว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากมารดาประมาณ 3,800 คนต่อปี ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงเดินหน้ากำจัดการถ่ายทอดโรคไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก เริ่มให้บริการในเดือนพฤษภาคม 2561 นี้ ปีแรกนี้จะดำเนินการในพื้นที่ 12 จังหวัดนำร่องกระจายทุกภูมิภาค ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดำเนินการ พร้อมตั้งเป้าลดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ให้น้อยกว่าร้อยละ 0.1 ภายในปี 2568
ไวรัสตับอักเสบบีในหญิงตั้งครรภ์
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการป้องกันและดูแลรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ และการกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก ว่า โรคไวรัสตับอักเสบบี คือสาเหตุสำคัญของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ เป็นปัญหาสาธารณสุขทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยเชื้อไวรัสตับอักเสบบีสามารถถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก และจะมีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นเมื่อมารดาที่ติดเชื้อมีปริมาณไวรัสตับอักเสบบีในเลือดสูง หากทารกติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากมารดา จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังมากถึงร้อยละ 90 และสามารถพัฒนาเป็นโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับในอนาคต
กำจัดโรคไวรัสตับอักเสบบี
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ขอความร่วมมือให้ทุกประเทศร่วมกันกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบบี โดยมีเป้าหมายให้ความชุกของการป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบบีในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ต่ำกว่าร้อยละ 0.1 ภายในปี 2573 คาดว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำด้านการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก ในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงตั้งเป้าไว้ว่าจะกำจัดการถ่ายทอดโรคไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก ให้บรรลุได้ภายในปี 2568
วิธีกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก
ภายใต้การดำเนินงานตามแผนการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก และกำหนดมาตรการที่สำคัญ ได้แก่
1. เร่งรัดการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีในหญิงตั้งครรภ์ทุกราย
2. ส่งเสริมให้ทารกแรกเกิดจากมารดาที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้รับ Hepatitis B Immunoglobulin (HBIG) อย่างน้อยร้อยละ 95
3. ส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อและมีปริมาณไวรัสตับอักเสบบีสูง ได้รับยาต้านไวรัสอย่างน้อยร้อยละ 95
4. คงระดับความครอบคลุมการได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ให้ได้มากกว่าร้อยละ 90
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ในเด็กแรกเกิด
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีการป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบบี โดยใช้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ในเด็กแรกเกิด จนมีความครอบคลุมการได้รับวัคซีนสูงกว่าร้อยละ 99 แต่ยังพบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มากกว่าร้อยละ 0.1 ชี้ว่าการป้องกันการถ่ายทอดโรคไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก ยังจำเป็นต้องมีมาตรการเสริม นอกเหนือจากการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ได้แก่ การใช้ยาต้านไวรัส Tenofovir disproxil fumarate (TDF) แก่มารดา เป็นวิธีการที่เป็นที่ยอมรับ โดยในประเทศไทยมีการวิจัยโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศฝรั่งเศส (IRD) ซึ่งนักวิจัยทั้งชาวไทย อเมริกัน และยุโรป ร่วมกันศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้ยาต้านไวรัสดังกล่าว
ผลการวิจัยพบว่าในกลุ่มที่มารดาได้รับยาต้านไวรัสดังกล่าวเพิ่มเติมจากมาตรการอื่นๆ ไม่มีทารกติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากมารดาเลย เทียบกับกลุ่มที่มารดาได้รับยาหลอกที่พบการติดเชื้อจากมารดาร้อยละ 2 ในขณะที่การศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้ได้รายงานอัตราการถ่ายทอดเชื้อที่สูงกว่านี้
คนท้องเป็นไวรัสตับอักเสบบี
ปี 2561 นี้ กรมควบคุมโรค ได้จัดทำโครงการกำจัดการถ่ายทอดโรคไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก ซึ่งนับเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการดำเนินงานในลักษณะดังกล่าว โดยเริ่มให้บริการในเดือนพฤษภาคม 2561 นี้ และในปีแรกนี้จะดำเนินการในพื้นที่ 12 จังหวัดนำร่อง เพื่อนำร่องระบบการดำเนินงานกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก ได้แก่
• เชียงใหม่
• พิษณุโลก
• นครสวรรค์
• นนทบุรี
• ราชบุรี
• ฉะเชิงเทรา
• ขอนแก่น
• อุดรธานี
• สุรินทร์
• อุบลราชธานี
• นครศรีธรรมราช
• สงขลา
ทั้งนี้ ในการดำเนินงานกำจัดการถ่ายทอดโรคไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูกครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของมารดาและทารก อันเป็นกำลังหลักที่สำคัญของประเทศชาติต่อไปในอนาคต หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ประสานงานโรคตับอักเสบจากไวรัส โทร. 0-2590-3196 หรือที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ขอขอบคุณข้อมูล:thairath.co.th