รู้ทัน-โรคไวรัสตับอักเสบ

ไวรัสตับอักเสบ “ดี” : D1

Views

ไวรัสตับอักเสบดี (viral hepatitis)

เป็นเชื้อไวรัสที่ชอบอยู่ในเซลล์ตับ ทำให้เกิดตับอักเสบแบบเฉียบพลัน (acute hepatitis) หรือหากมีการอักเสบเกิดขึ้นเป็นเวลานานกว่า 6 เดือนขึ้นไปเรียกว่าตับอักเสบแบบเรื้อรัง (chronic hepatitis) ซึ่งในกรณีแบบเรื้อรังอาจทำให้เป็นตับแข็งและมะเร็งตับได้ ในปัจจุบันมีไวรัสตับอักเสบอยู่ 5 ชนิดด้วยกัน คือ ไวรัสเอ, บี, ซี, ดี และ อี จำได้ง่ายเพราะเรียงตามอักษรภาษาอังกฤษ วันนี้จะมาเล่าเรื่องไวรัสตับอักเสบดีโดยเฉพาะนะคะ

ไวรัสตับอักเสบดีหรือไวรัสตับอักเสบเดลต้า (Hepatitis delta virus, HDV)

เป็นเชื้อไวรัสขนิดอาร์เอ็นเอ (RNA virus) ที่มีขนาดเล็กที่สุดที่มีการติดเชื้อในสัตว์ ไวรัสตับอักเสบดีเป็นไวรัสที่ไม่สมบูรณ์เพราะไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยโปรตีนของไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) ในการเข้าสู่เซลล์ตับ ดังนั้นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีจึงเกิดเฉพาะในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเท่านั้น

การติดต่อ

ไวรัสตับอักเสบดีติดต่อได้โดยทางเลือดและผลิตภัณฑ์ของเลือดเช่นเดียวกับไวรัสตับอักเสบบี ดังนั้นจึงพบได้บ่อยในผู้ที่มีประวัติการใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น ทั่วโลกพบว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีประมาณ 15-20 ล้านคน จากการศึกษาในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2545 พบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีเฉพาะในผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีที่มีประวัติการใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเท่านั้นแต่ไม่พบในผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ โดยมีอัตราการติดเชื้อในผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดประมาณร้อยละ 20
การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง ในกรณีที่ติดเชื้อแบบเรื้อรังร่วมกับไวรัสตับอักเสบบีจะมีโอกาสเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้เร็วกว่าคนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอย่างเดียว เช่นอาจเป็นตับแข็งในเวลาเพียง 2-6 ปีหลังติดเชื้อและมีโอกาสมะเร็งตับเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอย่างเดียว

การรักษา

ยาที่ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบดีในปัจจุบันคือยาฉีดเพคอินเตอร์เฟอรอน (pegylated interferon) ซึ่งเป็นยาเดียวกันกับที่ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบบี โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนังสัปดาห์ละครั้งเป็นเวลา 48 สัปดาห์ อย่างไรผลการรักษายังไม่ค่อยดีเพราะมีโอกาสหายขาดค่อนข้างน้อย ดังนั้นผู้ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบีและมีประวัติในอดีตว่าเคยใช้ยาเสพติดชนิดฉีดมาก่อน ควรตรวจว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีร่วมด้วยหรือไม่ การตรวจทำได้ง่ายโดยการตรวจเลือดหาแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัส (anti-HDV) ถ้าให้ผลเป็นบวกแสดงว่าเคยมีการติดเชื้อมาก่อน จากนั้นควรตรวจเลือดเพื่อหาสารพันธุกรรมที่จำเพาะของไวรัสตับอักเสบดี (HDV RNA) เพิ่มเติมเป็นลำดับต่อไปเพื่อยืนยันว่ายังมีเชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายหรือไม่

ขอบคุณข้อมูลจาก https://liverchula.org/

Leave a Reply